อาการตั้งครรภ์ อาจสังเกตได้จากประจำเดือนขาด อารมณ์แปรปรวน และปัสสาวะบ่อยครั้งโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน ดังนั้น หากมีอาการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หรือสงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์ อาจซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจด้วยตนเอง หรือเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจ
[embed-health-tool-due-date]
อาการตั้งครรภ์ สังเกตได้อย่างไร
อาการตั้งครรภ์ อาจสังเกตได้จากสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้
- ประจำเดือนขาด เป็นสัญญาณเตือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยอาจมีอาการประจำเดือนขาด บางคนอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยที่เกิดจากการฝังตัวของมดลูก หรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก อย่างไรก็ตาม การที่ประจำเดือนขาดอาจไม่ได้หมายความว่าตั้งครรภ์เสมอไป เพราะอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น น้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือลดลงอย่างผิดปกติ ความเหนื่อยล้า ความเครียด การใช้ยาคุมกำเนิด การออกกำลังกายหนักเกินไป
- เต้านมคัด เต้านมขยาย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์อาจส่งผลให้รู้สึกคัดเต้า หน้าอกขยายใหญ่ หัวนมเปลี่ยนสี และรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส
- แพ้ท้อง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลโดยส่วนใหญ่อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นลม เหม็นอาหารบางอย่างแม้แต่อาหารที่ชื่นชอบ บางคนอาจรู้สึกอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ อาการเหล่านี้อาจบรรเทาลงในช่วงสัปดาห์ที่ 13-14 ของการตั้งครรภ์
- เหนื่อยล้า อาจเกิดจากการเพิ่มระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ทำให้ร่างกายผลิตเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก จึงส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย และอยากพักผ่อนตลอดทั้งวัน
- อารมณ์แปรปรวน เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น จึงอาจส่งผลให้คุณแม่มีอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวได้ง่าย เช่น จากหัวเราะก็อาจเปลี่ยนเป็นร้องไห้ภายในเวลาไม่กี่นาที
- ปวดท้องส่วนล่าง อาจเกิดขึ้นภายใน 6-12 สัปดาห์หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกแล้วมดลูกเริ่มขยายตัว ทำให้มีอาการปวดท้อง
- ตกขาว ผู้หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการตกขาวมากขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ยกเว้นกรณีตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีสีอื่นนอกเหนือจากสีขาว หรือเกิดขึ้นพร้อมกับอาการแสบช่องคลอด คันช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ช่องคลอด ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างทันท่วงที
- ปัสสาวะบ่อย การปัสสาวะบ่อยตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน อาจเป็นสัญญาณเตือนของการตั้งครรภ์ เนื่องจากมดลูกขยายตัวกดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- ท้องผูก การตั้งครรภ์อาจทำให้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลงจนนำไปสู่อาการท้องผูก
การตรวจครรภ์ มีวิธีใดบ้าง
หากมีอาการตั้งครรภ์ แล้วต้องการตรวจครรภ์ สามารถตรวจได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ซึ่งมีในรูปแบบจุ่มและจุ่มแบบหยด หากผลขึ้น1 ขีด ตรงกับตัวอักษร C อาจมีความหมายว่าไม่ตั้งครรภ์ แต่หากขึ้น 2 ขีด ที่ตรงกับตัวอักษร C และ T อย่างชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่ากำลังตั้งครรภ์
- ตรวจด้วยเทคนิคการแพทย์จากคุณหมอ โดยคุณหมออาจขอเก็บตัวอย่างปัสสาวะเพื่อนำไปตรวจการตั้งครรภ์ หรืออาจเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในห้องปฏิบัติการ
ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ที่ควรระวัง
ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ระดับน้ำตาลในเลือดอาจเพิ่มขึ้นสูงในระหว่างการตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักมาก และมีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ และทารกอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอดได้
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่หญิงตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูง ซึ่งอาการที่สังเกตได้ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ตามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เลือดและอวัยวะภายในผิดปกติ อาจทำให้มีภาวะชักได้
- ภาวะอาเจียนรุนแรง คืออาการแพ้ท้องระดับรุนแรง ที่ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายขาดน้ำ อย่างไรก็ตาม อาการนี้อาจบรรเทาลงเมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 20
- รกเกาะต่ำ คือภาวะที่รกปกคลุมบริเวณปากมดลูกของคุณแม่บางส่วนหรือทั้งหมด ส่งผลให้ต้องคอยเฝ้าระวัง ถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดในปริมาณมาก อาจจำเป็นต้องรีบทำการผ่าคลอดก่อนกำหนด
- โรคโลหิตจาง อาจส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า และส่งผลต่อการพัฒนาทางร่างกายและสมองของทารกในครรภ์ ดังนั้นคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก เพื่อช่วยฟื้นฟูจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง
- การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไวรัส แบคทีเรีย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ เพื่อความปลอดภัยจึงควรรับการฉีดวัคซีนตามกำหนด และตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์
- ปัญหาสุขภาพจิต คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจมีอาการวิตกกังวล หรือมีความเครียดระหว่างตั้งครรภ์หรือช่วงหลังการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หดหู่ ปัญหาการนอนหลับ ขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ
การดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์
การดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ อาจทำได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ และอาจรับประทานอาหารเสริมโฟลิก 400 โครกรัม/วัน เพื่อช่วยป้องกันปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและไขสันหลังของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก อาหารแปรรูป เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หรือทารกพิการแต่กำเนิด
- ไม่ควรรับประทานยา อาหารเสริม และสมุนไพร โดยไม่ได้รับอนุญาตจาคุณหมอ เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
- ควบคุมน้ำหนัก ควรระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป เพราะการมีน้ำหนักน้อยขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก และหากมีน้ำหนักเกินก็อาจก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ สำหรับคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานควรออกกำลังกายระดับเบาเพื่อควบคุมน้ำหนัก เช่นโยคะ ว่ายน้ำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ คุณหมออาจแนะนำให้นอนตะแคงด้านซ้ายเพื่อความสบายตัว และลดการกดทับหลอดเลือดจากน้ำหนักตัวของทารก เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก หากต้องการนอนหงาย ควรนำหมอนมารองบริเวณหลังเพื่อลดแรงกดทับ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพของทารกในระยะยาว เช่น ปัญหาระบบทางเดินหายใจ พัฒนาการของทารกในครรภ์ล่าช้า อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักทารกแรกเกิดต่ำ
- หลีกเลี่ยงการสูดดมและสัมผัสกับสารเคมีรอบตัว เช่น โลหะ ยาฆ่าแมลง เพราะอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตทารกในครรภ์
- ฉีดวัคซีนเพิ่มประสิทธิภาพให้ภูมิคุ้มกัน เช่น ไข้หวัดใหญ่ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับวัคซีนใด ๆ
- เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์