โดยปกติแล้วการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นหลังจากที่ไข่ผสมกับอสุจิ (การปฏิสนธิ) และตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังโพรงมดลูก แต่บางกรณี อาจเกิดภาวะที่เรียกว่า ท้องนอกมดลูก ซึ่งเป็นภาวะที่ตัวอ่อนไปฝังตัวอยู่ในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่มดลูก เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ บริเวณช่องท้องหรือส่วนล่างปากมดลูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
ท้องนอกมดลูก อันตรายต่อแม่และทารกอย่างไร
การท้องนอกมดลูกนั้น ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตและมีชีวิตรอดจนกระทั่งคลอดออกมาได้ และขณะที่ตัวอ่อนกำลังเติบโตอยู่นอกมดลูกก็มักทำให้หญิงตั้งครรภ์มีภาวะเลือดออกรุนแรง จากการที่อวัยวะที่มีการไปฝังตัวของตัวอ่อนแตกออก ส่งผลอันตรายต่อทั้งหญิงตั้งครรภ์และเด็ก หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยหรือมีการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม
ปัจจัยเสี่ยง ท้องนอกมดลูก
ผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการท้องนอกมดลูกได้
- เคยท้องนอกมดลูกมาก่อน
ผู้หญิงที่เคยท้องนอกมดลูกมาก่อน อาจเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้อีกครั้งเมื่อท้องถัดไปประมาณ 10-15%
- เกิดการอักเสบหรือการติดเชื้อ
การติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หนองในเทียม ทำให้ท่อนำไข่หรืออวัยวะใกล้เคียงอักเสบ เกิดพังผืดในท่อนำไข่ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการท้องนอกมดลูกได้อีกด้วย
- เคยรับการรักษาภาวะมีบุตรยาก
มีงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือมีการทำเด็กหลอดแก้ว หรือใช้วิธีที่คล้ายกันในการรักษาภาวะมีบุตรยาก เสี่ยงเกิดการท้องนอกมดลูก และอาจกล่าวได้ว่า ภาวะมีบุตรยากก็เพิ่มความเสี่ยงในการท้องนอกมดลูกได้เช่นกัน โดยเฉพาะในรายที่ทำกรณีใส่ตัวอ่อนระยะแรกไปที่บริเวณท่อนำไข่ แต่ ณ ปัจจุบันก็แทบไม่มีการใช้เทคนิคนี้แล้ว
- การผ่าตัดท่อนำไข่
การผ่าตัดเพื่อรักษาและแก้ไขท่อนำไข่ที่ปิดหรือได้รับความเสียหาย เพิ่มความเสี่ยงในการท้องนอกมดลูกได้
- การคุมกำเนิดต่าง ๆ
โอกาสในการตั้งครรภ์ของผู้ที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device) หรือ IUD นั้นเป็นไปได้ยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าหากตั้งครรภ์ขณะที่มีการใส่ห่วงคุมกำเนิดอยู่ด้วย อาจทำให้เสี่ยงท้องนอกมดลูกได้ และนอกจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้ว การคุมกำเนิดแบบถาวรหรือการทำหมันด้วยการผ่าตัดผูกท่อนำไข่ ก็ทำให้เสี่ยงท้องนอกมดลูกได้เช่นกัน หากท้องหลังจากใช้วิธีคุมกำเนิดเหล่านี้ไปแล้ว
นอกจากนี้ การท้องนอกมดลูกยังอาจเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ได้ด้วย
- โรคกระดูกเชิงกรานอักเสบ เพราะการติดเชื้ออาจไปทำลายท่อนำไข่ มดลูก หรือส่วนอื่น ๆ ของกระดูกเชิงกรานได้
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นภาวะที่เซลล์โพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ อาจไปเติบโตที่รังไข่ อุ้งเชิงกราน หรือกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกรานตามมาได้
- รอยแผลเป็นในเชิงกราน รอยแผลดังกล่าวอาจมาจากการผ่าตัดครั้งก่อน
- การสูบบุหรี่เป็นประจำ ทำให้เสี่ยงท้องนอกมดลูกได้ ยิ่งสูบบุหรี่มากเท่าไหร่ ยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น จึงควรเลิกสูบบุหรี่ก่อนจะมีการตั้งครรภ์
สัญญาณที่บ่งบอกว่า ท้องนอกมดลูก
ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ หลายคนอาจไม่ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งท้องอยู่ จึงไม่ทราบด้วยว่า ภาวะที่เกิดขึ้นเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติหรือไม่ แต่หากมีอาการต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะท้องนอกมดลูกได้
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- รู้สึกปวดที่กระดูกเชิงกราน
- เป็นตะคริวที่ช่องท้องอย่างรุนแรง
- มีอาการปวดท้องน้อย หรือร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
- เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย
- มีอาการปวดไหล่ คอ และลำไส้ใหญ่
อาการที่เป็นสัญญาณแรก ๆ ของภาวะท้องนอกมดลูก คือ อาการปวดบริเวณเชิงกราน และการมีเลือดออกที่ช่องคลอด ขณะที่เลือดไหลอาจรู้สึกปวดท้อง หรือปวดที่เชิงกราน และอาจตามมาด้วยอาการปวดบริเวณไหล่ หรือคอ
ในกรณีที่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วยังคงเจริญเติบโตอยู่ที่บริเวณท่อนำไข่ อาจทำให้เสี่ยงท่อนำไข่แตก และมีเลือดออกในช่องท้องเป็นจำนวนมาก อาการดังกล่าวเป็นอันตรายต่อชีวิต หากรู้สึกวิงเวียนศีรษะ เป็นลม และปวดท้องอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว อาจเป็นสัญญาณว่าท่อน้ำไข่แตก ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
วิธีรักษาภาวะท้องนอกมดลูก
แพทย์อาจพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์และนำตัวอ่อนออก เพื่อรักษาชีวิตและสุขภาพของคุณแม่ โดยอาจให้ยายับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ แต่หากมีข้อห้ามในการให้ยา ภาวะท่อนำไข่แตก หรือมีสภาวะเลือดออกมากจนเกินไป อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
ในขณะตั้งครรภ์ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอทันที
- มีอาการปวดท้องหรือปวดเชิงกรานอย่างรุนแรง
- มีเลือดออกที่ช่องคลอดมากผิดปกติ
- วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
หากผู้ที่เคยมีภาวะท้องนอกมดลูกอยากตั้งครรภ์อีกครั้ง ควรปรึกษาคุณหมอถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ไม่ทำให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย