backup og meta

แบ่งปัน

หรือ คัดลอกลิงก์

ครีมทาผิวเด็ก และวิธีเลือกครีมสำหรับเด็กอย่างเหมาะสม

ครีมทาผิวเด็ก และวิธีเลือกครีมสำหรับเด็กอย่างเหมาะสม

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงเป็นพิเศษเมื่อเลือกซื้อ ครีมทาผิวเด็ก คือ ส่วนประกอบของครีมทาผิว ควรเลือกครีมทาผิวเด็กที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ มีส่วนประกอบพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง และไม่มีส่วนประกอบที่อาจทำให้ผิวที่บอบบางของเด็กแพ้และระคายเคือง เช่น น้ำหอม พาราเบน แอลกอฮอล์

[embed-health-tool-bmi]

เคล็ดลับการเลือก ครีมทาผิวเด็ก

การเลือก ครีมทาผิวเด็ก อาจทำได้ดังนี้

  • เลือกครีมทาผิวเด็กที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น น้ำมันมะกอก ว่านหางจระเข้ ซึ่งอ่อนโยนต่อผิวและมักไม่ทำให้เกิดการระคายเคือง แต่หากเป็นไปได้จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงส่วนผสมที่มาจากอาหาร เช่น จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต
  • เลือกครีมทาผิวเด็กที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเพียงไม่กี่อย่าง เพราะครีมที่มีสารต่าง ๆ มากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้
  • สำหรับทารกที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถใช้ครีมทาผิวเด็กที่มีส่วนประกอบของสารกันแดด หรือครีมกันแดดเด็กได้ เพื่อป้องกันแสงยูวี โดยควรมีค่าเอสพีเอฟ (SPF) 50 ขึ้นไป
  • อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ของครีมทาผิวเด็ก หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้กับผิวเด็กอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนซื้อมาใช้

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อเลือก ครีมทาผิวเด็ก

คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกส่วนผสมของครีมทาผิวที่อ่อนโยนสำหรับผิวเด็ก และหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น

  • น้ำหอม อาจทำให้ผิวที่บอบบางของเด็กระคายเคือง สำหรับเด็กที่มีผิวแพ้ง่าย อาจทำให้เกิดการอักเสบจนผิวหนังเป็นขุย มีผดผื่น และเกิดอาการคันได้
  • พาราเบน เป็นสารกันเสียที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและอาการแพ้ นอกจากนี้ พาราเบนยังซึมเข้าสู่ผิวเด็กได้ง่าย เมื่อใช้เป็นประจำทุกวันอาจทำให้สะสมอยู่ในร่างกายได้
  • พาทาเลต (Pthalate) อาจทำให้ผิวระคายเคือง และเกิดอาการอื่น ๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ครีมทาผิวเด็กที่มีส่วนผสมของพาทาเลต และควรไม่ให้เด็กสัมผัสของเล่นที่มีสารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบด้วย
  • กรดต่าง ๆ เช่น กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha-hydroxy acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) กรดเรติโนอิก (Retinoic acid) กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ผิวเร็ว อาจทำให้ผิวที่บอบบางและแพ้ง่ายของเด็ก ๆ แห้งและระคายเคือง

วิธีดูแลผิวเด็กให้สุขภาพดี

วิธีดูแลผิวเด็กให้สุขภาพดี อาจทำได้ดังนี้

  • ให้เด็กอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 10-15 นาที และให้เด็กใช้สบู่อาบน้ำที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอม แอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้
  • เช็ดตัวให้เปียกหมาด แล้วทาครีมทาผิวเด็กหลังอาบน้ำภายใน 3-5 นาที เพื่อให้ผิวเด็กชุ่มชื้น
  • ควรให้เด็กทาครีมกันแดดอย่างน้อย 15-20 นาที ก่อนออกนอกบ้านในตอนกลางวัน และทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นหากเด็กทำกิจกรรมที่มีเหงื่อเยอะหรือทำกิจกรรมทางน้ำ
  • ให้เด็กสวมเครื่องแต่งกายที่ช่วยป้องกันแดด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หมวกปีกกว้าง เมื่อต้องออกไปเจอแสงแดด
  • กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว และพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนอน ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอมหรือสารเคมีที่อาจทำให้ผิวเด็กระคายเคืองหรือมีอาการแพ้
  • เด็ก ๆ มักเล่นสนุกจนเกิดอุบัติเหตุและเป็นแผลได้บ่อย ๆ หากเป็นไปได้ควรให้เด็กสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก สนับเข่า สนับศอก ก่อนเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดแรงกระแทก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Healthy Skin Matters – How to Take Care of Skin for Kids. https://www.niams.nih.gov/health-topics/kids/healthy-skin. Accessed March 30, 2023

HOW TO CARE FOR YOUR BABY’S SKIN, HAIR, AND NAILS. https://www.aad.org/public/everyday-care/skin-care-basics/care/baby-care-skin-hair-nails. Accessed March 30, 2023

How to Choose the Best Moisturizer for Your Dry Skin. https://health.clevelandclinic.org/how-to-choose-the-best-moisturizer-for-your-dry-skin/. Accessed March 30, 2023

Choosing the Right Moisturizer for Your Skin. https://www.webmd.com/beauty/features/moisturizers. Accessed March 30, 2023

Dry skin. https://raisingchildren.net.au/guides/a-z-health-reference/dry-skin. Accessed March 30, 2023

What Baby Skin Care Products Does Your Newborn Need?. https://www.webmd.com/parenting/baby/what-baby-skin-care-products-do-you-need-your-newborn. Accessed March 30, 2023

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet

avatar

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา