backup og meta

สัญญาณบ่งบอก โรคเรื้อนในเด็ก มีอะไรบ้าง

สัญญาณบ่งบอก โรคเรื้อนในเด็ก มีอะไรบ้าง

โรคเรื้อน หนึ่งในโรคผิวหนังที่ทำให้เกิดอาการผื่นแดง ผิวหนังเป็นด่าง และประสาทสัมผัสลดลง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับคนและสัตว์เลี้ยง รวมถึงในเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาเกี่ยวกับสัญญาณเตือนของ โรคเรื้อนในเด็ก รวมถึงวิธีการรักษาและการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยปกป้องลูกน้อยจากโรคนี้

[embed-health-tool-vaccination-tool]

โรคเรื้อนในเด็ก อันตรายอย่างไร

โรคเรื้อน (Leprosy) คือโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ผ่านสารคัดหลั่งในตัวผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก โรคเรื้อนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Mycobacterium leprae เมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย จะไปรบกวนการทำงานของผิวหนัง เยื่อเมือก และระบบประสาท ส่งผลให้การรับรู้ความรู้สึกลดลง เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้นที่ผิวหนัง และอาจนำไปสู่การเป็นอัมพาตได้

เมื่อปี ค.ศ. 2011 ประเทศที่มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่มากที่สุดในโลก 3 อันดับคือ อินเดีย 83% บราซิล 16% และอินโดนีเซีย 9% โดยจากข้อมูลพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จะพบโรคเรื้อนได้มากที่สุดในช่วงอายุ 10-14 ปี อีกทั้งยังมีกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ติดโรคเรื้อนอีกด้วย

แม้โรคเรื้อนจะพบได้มากในกลุ่มผู้ใหญ่ แต่กลับมีความอันตรายกว่ามากหากเกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจากเมื่อ เด็กเป็นโรคเรื้อน อาการอาจจะสังเกตเห็นได้ยากกว่าผู้ใหญ่ กว่าจะรู้ตัวก็อาจเกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการควบคุม อีกทั้งอาการของโรคอาจรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อร่างกายแบบไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ โดยเฉพาะกับเด็ก ที่พัฒนาการของร่างกายอาจยังไม่เจริญเต็มที่ การติดโรคเรื้อนโดยไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้พัฒนาการของร่างกายเด็กมีปัญหา และอาจทำให้พิการได้

สัญญาณบ่งบอกของโรคเรื้อน

โรคเรื้อนในเด็ก สามารถสังเกตได้จากอาการ ดังนี้

  • ผิวบางจุดมีสีซีดลง เป็นด่าง
  • มีตุ่มหรือก้อนบนผิวหนัง
  • ผิวแห้งและหนาขึ้น
  • เกิดแผลตามตัว
  • เด็กเป็นโรคเรื้อน จะมีประสาทสัมผัสการรับรู้ความรู้สึกลดลง และไม่รู้สึกเจ็บแผล
  • ขนคิ้วและขนตาร่วง
  • มีอาการชาบนผิวหนัง
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • การมองเห็นมีปัญหา
  • เส้นประสาทใต้ผิวหนังขยายใหญ่ขึ้น
  • เลือดกำเดาไหล
  • แน่นจมูก หายใจลำบาก

สัญญาณของโรคเรื้อนในเด็ก เหล่านี้อาจจะสังเกตได้ยาก และหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจนำไปสู่อาการดังต่อไปนี้

  • อัมพาต
  • ตาบอด
  • เสียโฉม
  • แผลเรื้อรัง ไม่ยอมหาย
  • ปวดประสาท
  • แสบร้อนบนผิวหนัง

วิธีการรักษาโรคเรื้อนในเด็ก

แม้ว่าโรคเรื้อนในเด็กจะสังเกตได้ค่อนข้างยาก และทำให้มีโอกาสรักษาได้ช้ากว่าปกติ แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยปกติแล้ว แพทย์จะรักษาโรคเรื้อนในเด็กด้วยยาปฏิชีวนะ 2-3 ชนิดในเวลาเดียวกัน และอาจต้องใช้เวลานานหลายปี กว่าที่อาการของโรคเรื้อนจะหายไปจนหมด

ยาปฏิชีวนะที่คุณหมอใช้ อาจจะดังต่อไปนี้

  • ยาไรแฟมพิซิน (rifampicin)
  • ยาแดปโซน (dapsone)
  • ยาคลอฟาซิมีน (clofazimine)

นอกจากนี้ คุณหมออาจให้ยาต้านอักเสบ เช่น ยาแอสไพริน เพื่อช่วยจัดการกับอาการอักเสบและอาการบวมของเส้นประสาท ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อนด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเรื้อน และช่วยรักษา เด็กเป็นโรคเรื้อน ให้หายจากโรคเรื้อนได้ แต่ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นฟูความเสียหายในร่างกายที่เกิดขึ้นเนื่องจากโรคเรื้อนได้

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครองควรพยายามสังเกตหาสัญญาณและอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก และพาลูกเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อเห็นความผิดปกตินั้น เพราะยิ่งรักษาได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายของลูกน้อยเสียหายได้มากเท่านั้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Leprosy in Children. https://www.ijpd.in/article.asp?issn=2319-7250;year=2019;volume=20;issue=1;spage=12;epage=24;aulast=Narang. Accessed 27 January 2021

Leprosy among children under 15 years of age: literature review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4861567/. Accessed 27 January 2021

Early signs of leprosy in children. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1032513/. Accessed 27 January 2021

Signs and Symptoms. https://www.cdc.gov/leprosy/symptoms/index.html. Accessed 27 January 2021

Hansen’s Disease (Leprosy). https://www.cdc.gov/leprosy/index.html#:~:text=Hansen%27s%20disease%20(also%20known%20as,the%20disease%20can%20be%20cured.. Accessed 30 May, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/05/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคกลากน้ำนม สาเหตุคืออะไร และรักษาได้อย่างไร

วิธีรักษา กลาก ด้วยวัตถุดิบใกล้ตัว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา