ลูกเป็นผื่นที่หน้า อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ผื่นผ้าอ้อม ผดร้อน ผื่นไขมัน สิวทารก ที่ส่งผลให้เกิดการคันระคายเคือง บวมแดง เจ็บแสบ เป็นตุ่ม คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดผื่นที่หน้าและผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้โดยการสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกอย่างใกล้ชิดและพบคุณหมอ เพื่อรับการรักษาในทันที
7 สาเหตุที่ทำให้ ลูกเป็นผื่นที่หน้าและเป็นผื่นทั้งตัว
ผื่นที่ขึ้นอาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
1. ผื่นแพ้อักเสบ
เป็นโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นต่อเมื่อ ร่างกายของทารกสร้างเซราไมด์ (Ceramide) ที่เป็นเซลล์ไขมันน้อยเกินไป ส่งผลทำให้ผิวของลูกน้อยแห้ง ขาดความชุ่มชื้น จนนำไปสู่การเกิด ผื่นสีแดง หรือสีน้ำตาลอมเทาเป็นวง ตามจุดต่าง ๆ ของผิวหนัง เช่น ศีรษะ จมูก เปลือกตา คิ้ว หลังใบหู ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กทารกช่วง 2-3 เดือน และอาจหายเป็นปกติเมื่ออายุ 8 เดือน อย่างไรก็ตามผื่นแพ้อักเสบ ก็อาจเกิดขึ้นกับเด็กโตจนถึงผู้ใหญ่ได้เช่นกัน
วิธีรักษาและการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดผื่นแพ้อักเสบ เช่น ความร้อน เหงื่อ สารระคายเคืองจากขนสัตว์ สบู่ น้ำหอม ผงซักฟอก รวมทั้งอาหารบางอย่าง นอกจากนี้ ทารกที่ยังกินนมแม่ให้คุณแม่ระวังเรื่องอาหารที่รับประทานด้วยเพราะอาจไปกระตุ้นให้ลูกเป็นผื่นได้
- อาบน้ำอุ่นไม่เกิน 10 นาที เพื่อบรรเทาอาการคัน ป้องกันผิวแห้ง ระวังอย่าให้น้ำร้อนเกินไป และควรเลือกใช้สบู่ที่มีความอ่อนโยนเหมาะกับผิวเด็ก เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของข้าวโอ๊ต
- ไม่ควรเช็ดผิวลูกอย่างรุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและส่งผลให้ลูกรู้สึกเจ็บ ควรใช้วิธีการซับน้ำอย่างเบามือ
- ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนังและระบายอากาศได้ดี
- พบคุณหมอเพื่อขอรับยารักษา สำหรับเด็ก เพื่อบรรเทาอาการคัน ลดการอักเสบของผื่นบริเวณใบหน้า และร่างกาย โดยคุณหมออาจแนะนำยา ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ในรูปแบบครีม ขี้ผึ้งหรือยา หรือผลิตภัณท์ที่บรรเทาอาการระคายเคือง และเพิ่มความชุ่มชี้น
2. ผดร้อน
สามารถพบได้ทุกช่วงวัยแต่อาจเกิดขึ้นบ่อยในทารกแรกเกิดเนื่องจากต่อมเหงื่อของทารกอาจยังพัฒนาไม่เต็มที่ อาจยังไม่มีเหงื่อ หรือทำให้เหงื่อ และสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขนจนเกิดการอักเสบเป็นตุ่มพองและ ผดผื่น ส่งผลให้ลูกรู้สึกคัน ระคายเคือง นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงบางประการ เช่น สภาพอากาศร้อน การใส่เสื้อผ้าหนา ยังอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผดร้อนได้อีกด้วย
วิธีรักษาและการป้องกัน
- ควรใช้ยาในรูปแบบครีม เช่น ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) คาลาไมน์ (Calamine) โดยควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้
- ให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายที่มีเนื้อผ้าบางเบา ให้ความสบาย และไม่ควรให้ลูกใส่เสื้อผ้าหลายชิ้นหรือหนาจนเกินไป เพราะอาจทำให้เหงื่อออกมากและอุดตันในรูขุมขน
- ทำให้บ้านมีอุณหภูมิเย็น เช่น เปิดหน้าต่างให้ลมพัดผ่าน เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลม
- หากผ้าอ้อมและเสื้อผ้าของลูกเปียกหรือชื้นเหงื่อ ควรเปลี่ยนทันที
- หลังจากอาบน้ำควรเช็ดตัวลูกให้แห้งสนิท
3. โรคอีสุกอีใส
เกิดจากการติดเชื้อของไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) ที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม และการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ทำให้เกิดผื่น ตุ่มน้ำ แผลพุพอง และอาการคันบริเวณผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ รักแร้ ลำตัว บางคนอาจมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ น้ำมูกไหล ส่วนใหญ่เด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีมักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่อาจเป็นอันตรายสำหรับทารก เด็ก และผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
วิธีรักษาและการป้องกัน
- ควรให้เด็กรับประทานยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ที่ช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวดไม่ควรให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีรับประทานยาลดไข้แอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติของตับและสมอง
- ในกรณีที่เด็กมีอาการอีสุกอีใสรุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาต้านไวรัส ซึ่งชนิดของยาที่ใช้จะพิจารณาตามอายุ
- บรรเทาอาการคันผิวหนังด้วยการทาคาลาไมน์ บริเวณที่มีอาการคัน
- อาบน้ำให้ลูกด้วยน้ำเย็น เพื่อบรรเทาอาการคัน
- พยายามระวังไม่ให้เด็กเกาบริเวณที่มีตุ่มและผื่น เพราะอาจทำให้ไวรัสติดตามซอกเล็บและแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่าย
- ควรให้ลูกฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ครบ 2 โดส ตามกำหนด ซึ่งสามารถฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 12-15 เดือน เข็มที่ 2 ช่วงอายุ 4-6 ปี สำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี ที่ไม่เคยรับการฉีดวัคซีน เมื่อฉีดเข็มแรกควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนได้รับเข็มถัดไป โปรดรับวัคซีนให้ครบตามที่คุณหมอนัด
4. โรคหัด
เกิดจากติดเชื้อไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus) ที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม พูดคุย และสูดดมละอองของสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสในอากาศ เมื่อลูกได้รับเชื้ออาจส่งผลให้มีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอแห้ง น้ำมูกไหล เจ็บคอ เยื่อบุตาอักเสบ และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังทั่วทั้งร่างกาย จุดสีขาวในเยื่อบุช่องปาก
วิธีรักษาและการป้องกัน
- ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- ควรให้ลูกพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- หากมีไข้ควรให้ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen Sodium) หลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพรินกับเด็กเพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับตับและสมองทำงานผิดปกติ ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
- กรณีที่เด็กอายุมากกว่า 1 ปี และมีวิตามินเอในร่างกายต่ำ คุณหมออาจให้บริโภคอาหารเสริมวิตามินเอในปริมาณ 200,000 IU เพื่อบรรเทาอาการรุนแรงของโรคหัด เพื่อบรรเทาอาการรุนแรงของโรคหัด โดยทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
- ควรพาลูกฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โดยคุณหมอมักจะฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 12-15 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่อเด็กมีอายุ 2 ปีขึ้นไป
5. โรคสะเก็ดเงิน
คือโรคผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากการทำงานของภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้เซลล์ผิวเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กเป็นผื่น มีสะเก็ดหนา และมีอาการคันตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ศีรษะ ใบหน้า ลำตัว ข้อศอก หัวเข่า โดยประเภทของสะเก็ดเงินที่พบบ่อยในเด็ก มีดังนี้
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) สังเกตได้จากผื่นแดงเป็นหย่อม เป็นสะเก็ดแห้ง ๆ มีอาการคัน ส่วนใหญ่มักปรากฏบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า หลังส่วนล่าง
- โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate psoriasis) มีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ สีแดง มักขึ้นบริเวณแขน ขา ลำตัว และหลัง
วิธีรักษาและการป้องกัน
วิธีรักษาและการป้องกันสะเก็ดเงินอาจแตกต่างจากผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กมีผิวหนังที่บอบบาง โดยคุณหมออาจแนะนำยาที่เหมาะสมกับผิวเด็กเพื่อบรรเทาอาการสะเก็ดเงิน ดังนี้
- ยารูปแบบครีมทาผิวหนังเฉพาะที่ เช่น แคลซิโปทรีน (Calcipotriene) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) น้ำมันถ่านหิน แอนทราลิน (Anthralin) ที่อาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ผิว เหมาะสำหรับเด็กที่มีอาการสะเก็ดเงินไม่รุนแรง
- ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการคันจากสะเก็ดเงิน
- บำบัดด้วยแสง คุณหมออาจแนะนำให้เด็กที่เป็นสะเก็ดเงินในระดับปานกลางถึงรุนแรงเข้ารับการรักษาด้วยฉายแสงพลังงานสูง เพื่อบรรเทาอาการสะเก็ดเงิน ยับยั้งการเจริญเติบโตเซลล์ผิว
6. ไข้อีดำอีแดง
คือโรคที่เกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ (Group A Streptococcus) ทำให้เกิดผื่นแดงที่เหมือนถูกแดดเผาไหม้ขึ้นทั่วทั้งร่างกาย โดยเริ่มจากใบหน้า ลำคอ และกระจายไปยังลำตัว แขน ขา อีกทั้งบริเวณข้อพับ ขาหนีบ รักแร้ บางคนอาจมีฝ้าสีขาวปกคลุมบนลิ้น และมีหลุมเล็ก ๆ สีแดงทั่วลิ้น พบได้มากในเด็กอายุ 5-15 ปี
วิธีรักษาและการป้องกัน
- ให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- หากลูกมีไข้ เจ็บคอ อาจให้รับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อช่วยลดไข้
- ให้ลูกกลั้วปากด้วยเกลือผสมกับน้ำ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ
- รับประทานอาหารที่ง่ายต่อการกลืน เช่น โจ๊ก ซุป
- รับประทานยาฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของคุณหมอ
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้อีดำอีแดง แต่อาจลดความเสี่ยงได้โดยการสอนให้ลูกล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ แนะนำให้ลูกปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ จาน ช้อน ส้อม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่น ๆ
7. โรคฟิฟธ์ (Slapped cheek syndrome)
คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพาร์โวไวรัส บี19 (Parvovirus B19) พบได้บ่อยในเด็ก สามารถแพร่กระจายผ่านทางเลือดและการสูดดมละอองสารคัดหลั่งที่ลอยอยู่บนอากาศ เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย อาจแสดงอาการภายใน 1 สัปดาห์ หรือประมาณ 10 วัน ทำให้มีผื่นสีแดงที่แก้มทั้ง 2 ข้างคล้ายโดนตบ และมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ
วิธีรักษาและการป้องกัน
- สอนให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลังจากสัมผัสกับสิ่งรอบตัว ก่อนรับประทานอาหาร หลังการไอหรือจาม และหลังการขับถ่าย
- ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- รับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวด ลดไข้ แต่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
- บำรุงผิวด้วยมอยส์เจอไรเซอร์บริเวณที่มีอาการคันระคายเคือง
หากสังเกตว่าลูกมีอาการหายใจถี่ ผิวซีด หมดสติ ควรพาเข้าพบคุณหมอในทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคโลหิตจางซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคฟิฟธ์
[embed-health-tool-vaccination-tool]