การที่ลูกน้อยไอ เป็นการตอบสนองของระบบทางเดินหายใจและเป็นกลไกเพื่อกำจัดเชื้อโรคและสารระคายเคืองที่เข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร ไข้หวัด เชื้อโรค กรดไหลย้อน ภาวะไอกรน โรคหอบหืด คุณพ่อคุณแม่ควรศึกษา วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย รวมถึงสังเกตอาการผิดปกติ เช่น อาการไอต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไอรุนแรง หายใจลำบาก หากพบอาการเหล่านี้ควรขอคำปรึกษาคุณหมอทันทีเพื่อสาเหตุที่แน่ชัดและหาวิธีรักษาต่อไป
[embed-health-tool-vaccination-tool]
อาการไอของลูกน้อย เกิดจากอะไร
อาการไอเป็นปฏิกิริยาของระบบทางเดินหายใจของร่างกาย เมื่อมีสารระคายเคืองหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
อาการไอเฉียบพลัน
เป็นอาการไอที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ อาจเกิดจาก ฝุ่น สารระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ การสำลักอาหาร เครื่องดื่ม น้ำลายตัวเอง หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ที่ส่งผลให้เด็กมีอาการไอ เจ็บป่วยในระยะเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 5-7 วัน สำหรับบางคนอาจใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์
อาการไอเรื้อรัง
อาการไอเรื้อรัง สังเกตได้จากการที่ลูกมีอาการไอต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 4 สัปดาห์ บางคนอาจมีอาการไอแบบมีเสมหะ หรือไอแห้ง ๆ ซึ่งอาจรบกวนการนอนหลับพักผ่อน ทำให้ลูกรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย สาเหตุที่ทำให้ลูกไอเรื้อรัง อาจมีดังนี้
- โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น ฝุ่นทั่วไป ฝุ่น pm 2.5 ขนสัตว์เลี้ยง ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อรา ควันบุหรี่ทำให้มีอาการไอ จาม หายใจถี่ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก
- ไซนัสอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณไซนัสที่เป็นโพรงอากาศอยู่ใกล้เคียงกับจมูก มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางตัว เช่น แบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) เชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซา (Haemophilus influenzae) มอแรกเซลลา (Moraxella) ส่งผลให้ลูกมีอาการคัดจมูก ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ มีเสมหะลงคอ น้ำมูกเหนียวข้น มีอาการได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงอากาศชี้น ๆ
- กรดไหลย้อน พบได้บ่อยในทารกและเด็ก มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ ทำให้น้ำย่อยอาหารจากกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่งผลให้ลูกมีอาการไอ อาเจียน หายใจลำบาก มีเสียงครืดคราดเวลากินนม ทารกอาจนอนบิดตัวมีเสียงครางแบบแพะบ่อย ๆ หลับไม่สนิท
- ภาวะไอกรน (Pertussis) คือการติดเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลาเพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis) บริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ และหลอดลม พบมากในทารกและเด็กโต หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 3-12 วัน อาจเริ่มมีไข้ คัดจมูก จาม คล้ายอาการเป็นหวัดในช่วงแรก ๆ หลังจากนั้นอาจมีอาการไอแห้ง และไอเรื้อรังเป็นเวลานาน ไอติด ๆ กันเป็นชุด ๆ ต่อเนื่องกัน บางครั้งไอจนอาเจียน หายใจมีเสียงหวีด (whooping cough) ในเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ที่อาจทำให้มีความผิดปกติทางเดินหายใจ เช่น ซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis)
วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย
วิธีบรรเทาอาการไอของลูกสามารถทำได้ดังนี้
- ให้ลูกน้อยดื่มนมหรือน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
- ล้างจมูกให้ลูกด้วยน้ำเกลือ หรือใช้อุปกรณ์ดูดน้ำมูกในโพรงจมูกออก เพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวก
- ให้ลูกรับประทานยาแก้ไอ เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) แต่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ให้ลูกรับประทานน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา โดยอาจผสมกับน้ำอุ่น หรือน้ำมะนาว เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองในลำคอ ลดอาการไอ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้ทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี รับประทานน้ำผึ้ง เพราะน้ำผึ้งมีแบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่
- เปิดเครื่องทำความชื้นและเครื่องฟอกอากาศในห้องนอน เพื่อช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองคอ
- ให้ลูกนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- พยายามอย่าให้ลูกสูดดมสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ละอองน้ำหอม ขนสัตว์ พรม ละอองเกสรดอกไม้
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าควรพาลูกไปเข้าพบคุณหมอ มีดังนี้
- หากเด็กที่อายุน้อยกว่า 4 เดือน มีอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- หากเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ มีปัญหาด้านการหายใจ หายใจลำบากถึงแม้ว่าจะล้างจมูกแล้ว
- มีอาการไอรุนแรง ไอเป็นเลือด เสียงไอที่ผิดปกติ
- มีไข้นานกว่า 72 ชั่วโมง และไข้ไม่ลด ภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากรับประทานยาลดไข้
- ร้องไห้เป็นเวลานาน
- หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจมีเสียง ปีกจมูกบาน หน้าอกบุ๋ม ซี่โครงบุ๋ม
- ไอจนอาเจียน
- กลืนอาหารลำบาก เจ็บคอ
- ริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีม่วง คล้ำ ซีด
- ไม่กินนม ซึม หมดสติ