backup og meta

ไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ ในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร

ไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ ในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร

ไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ ในเด็ก มีสาเหตุจากอาการระคายเคืองในลำคอหรือการสูดดมสิ่งแปลกปลอมเข้าไป จนทำให้เกิดอาการสำลักและไอออกมา หรืออาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อโรคในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้ร่างกายขับเมือกหรือสารคัดหลั่งออกมามากขึ้น จนเกิดอาการไอมีเสมหะ

โดยปกติอาการไอที่เกิดจากการติดเชื้อมักมีไข้ร่วมด้วย แต่ในบางกรณี อาการไออาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานแม้ว่าไข้จะหายดีแล้ว จึงยังอาจทำให้เด็กไอมีเสมหะ แต่ไม่มีไข้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กเข้าพบคุณหมอหากอาการไอไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ เกิดจากอะไร

ไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การระคายเคืองในลำคอหรือระบบทางเดินหายใจ

สภาพแวดล้อมอาจมีสารระคายเคืองที่อาจทำให้เกิดอาการไอได้ เช่น ควัน ฝุ่นละออง มลภาวะในอากาศ ซึ่งอาจทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง ส่งผลให้ร่างกายผลิตเสมหะที่มากขึ้น จนเกิดอาการไอมีเสมหะและระคายคอ

การรักษา อาการไอมีเสมหะจากสาเหตุดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่อาจล้างจมูกให้เด็กด้วยการใช้หลอดฉีดยาดูดน้ำเกลือและฉีดเข้าไปในจมูก เพื่อให้น้ำเกลือเข้าไปล้างสิ่งสกปรกรวมถึงเมือกในจมูก ซึ่งอาจช่วยให้เด็กหายใจโล่งขึ้นและบรรเทาอาการไอมีเสมหะได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในพื้นที่ที่มีความแออัด มีฝุ่นควันหรือมลภาวะทางอากาศ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

  • เสมหะในคอ

โดยปกติร่างกายจะผลิตเสมหะตามธรรมชาติ ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค แต่ในบางกรณี หากร่างกายผลิตเมือกหลังโพรงไซนัสมากเกินไปอาจทำให้เมือกไหลลงไปด้านหลังคอ จนทำให้มีอาการระคายคอ ไอมีเสมหะ เจ็บคอ คลื่นไส้ หรือมีกลิ่นปากได้

การรักษา เพื่อช่วยบรรเทาอาการเสมหะในลำคออาจทำได้ด้วยการดื่มน้ำมากขึ้นประมาณ 2-3 ลิตร/วัน หรืออาจใช้เครื่องทำความชื้นภายในบ้านเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในลำคอ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถล้างจมูกให้เด็ก ด้วยการใช้หลอดฉีดยาฉีดน้ำเกลือเข้าทางจมูก เพื่อล้างเมือกและสิ่งสกปรกภายในจมูก ซึ่งอาจช่วยลดปริมาณเสมหะและทำให้เด็กหายใจสบายขึ้น

  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นการติดเชื้อในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ เช่น ไซนัส ลำคอ ปอด จมูก จึงอาจทำให้มีอาการไอมีเสมหะ มีไข้ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดหัว หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก หายใจมีเสียง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน โดยปกติหากได้รับการรักษาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ อาการไข้จะหายเป็นปกติ แต่อาจยังคงเหลืออาการไอเรื้อรัง มีเสมหะและไม่มีไข้ โดยอาจเกิดขึ้นกับเด็กที่เคยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ โรคไอกรน และโรคครูป (Croup) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเยื่อทางเดินหายใจตั้งแต่กล่องเสียงลงไปที่หลอดลมเกิดการอักเสบ

การรักษา คุณหมออาจต้องวินิจฉัยเฉพาะโรคและทำการรักษาด้วยการใช้ยา เช่น ยาแก้แพ้ ยาหดหลอดเลือด (Decongestants) เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ซึ่งเป็นยาระงับอาการไอ

  • โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาและกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างปากและท้อง จนอาจทำให้เด็กมีอาการเสียดท้อง ปวดท้อง กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน มีกลิ่นปากและไอมีเสมหะได้

การรักษา เพื่อช่วยป้องกันและบรรเทาอาการกรดไหลย้อนในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารก่อนเข้านอน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและมีรสเผ็ด นอกจากนี้ อาจช่วยควบคุมน้ำหนักตัวของเด็ก เพราะเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนอาจเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อนมากขึ้น

หากมีอาการรุนแรงควรพาเด็กเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล คุณหมออาจให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาลดการผลิตกรดและยารักษาหลอดอาหาร เพื่อช่วยบรรเทาอาการ

  • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis)

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบภายในจมูกโดยมีสาเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร ฝุ่น เชื้อรา สะเก็ดผิวหนังของสัตว์ อาจทำให้มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไอแห้ง จาม คันจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหลจนอาจผลิตเมือกมากขึ้น ทำให้เมือกไหลลงไปด้านหลังคอ ส่งผลให้มีอาการระคายเคืองคอจนเกิดอาการไอมีเสมหะขึ้น

การรักษา คุณหมออาจต้องรักษาอาการภูมิแพ้ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการอักเสบภายในจมูก โดยคุณหมออาจสั่งยาแก้แพ้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในรูปแบบของยารับประทานหรือยาฉีดจมูก เพื่อช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองและการอักเสบ

  • โรคปอด

โรคปอดบางชนิดอาจทำให้มีอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะมาก เช่น โรคหอบหืด โรคหลอดลมโป่งพอง เนื่องจากเป็นโรคที่อาจทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ และกระตุ้นการผลิตเมือกในจมูก ซึ่งเมือกที่เพิ่มขึ้นอาจไหลลงคอและก่อให้เกิดความระคายเคืองจนมีอาการไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ รวมทั้งอาจทำให้มีอาการหายใจถี่ หายใจมีเสียง เจ็บหน้าอก ไอมีเลือด

การรักษา อาจขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของโรคปอดในแต่ละชนิด ซึ่งมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน โดยปกติคุณหมออาจให้ยาเพื่อช่วยควบคุมอาการ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ประเภทรับประทานหรือสูดดม อาจให้ออกซิเจนเสริมเพื่อช่วยในการหายใจ หากมีอาการรุนแรงคุณหมออาจทำการรักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบว่า เด็กมีอาการดังที่กล่าวมาควรรีบพาไปพบคุณหมอ เพื่อทำการตรวจปอดและเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

  • อาการประหม่าหรือวิตกกังวล

ในบางกรณี ไอมีเสมหะ ไม่มีไข้ในเด็กอาจมีสาเหตุมาจากสุขภาพจิตที่เกิดความวิตกกังวลหรือประหม่า และแสดงพฤติกรรมไอออกมาจนติดเป็นนิสัย ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองคอจนมีเสมหะออกมาด้วย

การรักษา เพื่อบรรเทาอาการไอที่ติดเป็นนิสัยของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยหรือแสดงพฤติกรรมเพื่อสร้างความมั่นใจให้เด็กในช่วงเวลาที่รู้สึกเครียด วิตกกังวลหรือประหม่า เช่น การกอด การหอมแก้ม เพื่อให้กำลังใจ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กเมื่อเด็กเริ่มแสดงพฤติกรรมไอ เช่น พูดคุยเรื่องสนุก เล่าเรื่องตลก หยอกล้อ ซึ่งอาจช่วยให้เด็กลืมพฤติกรรมที่เคยทำจนชินไปได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ไอบอกโรค. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84/. Accessed May 30, 2023.

Mucus in Your Chest: Why It Can Happen. https://www.webmd.com/lung/mucus-in-chest-overview#1. Accessed May 30, 2023.

What Are the Symptoms of Bronchitis?. https://www.webmd.com/lung/understanding-bronchitis-symptoms. Accessed May 30, 2023.

Reasons Why Your Cough May Not Be Improving. https://www.webmd.com/cold-and-flu/features/stubborn-cough. Accessed May 30, 2023.

Bronchitis. https://www.nhs.uk/conditions/bronchitis/. Accessed May 30, 2023.

Lung Diseases Overview. https://www.webmd.com/lung/lung-diseases-overview. Accessed May 30, 2023.

Overview-Allergic rhinitis. https://www.nhs.uk/conditions/allergic-rhinitis. Accessed May 30, 2023.

Gastroesophageal reflux disease (GERD). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/gerd/symptoms-causes/syc-20361940. Accessed May 30, 2023.

Respiratory tract infections (RTIs). https://www.nhs.uk/conditions/respiratory-tract-infection. Accessed May 30, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/01/2024

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีน เด็ก ที่ควรได้รับ และเคล็ดลับไม่ให้ลูกงอแงตอนรับวัคซีน

ไซนัสอักเสบในเด็ก อาการและการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 25/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา