เด็ก 6 เดือน เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้ทักษะการกินอาหารแข็งทั้งการสัมผัส การเคี้ยว และการกลืน เมนูอาหารเด็ก6เดือน จึงควรเป็นอาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม บดละเอียด และรสชาติอ่อน ๆ พร้อมทั้งควรอุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับรสชาติอาหารแบบใหม่ และได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
โภชนาการเด็ก 6 เดือน ควรเป็นอย่างไร
เด็ก 6 เดือนเป็นวัยที่สามารถเริ่มกินอาหารแข็งได้แล้ว แต่ยังคงต้องกินนมแม่หรือนมผงเป็นอาหารหลักอยู่ โดยปริมาณนมและอาหารแข็งที่เด็ก 6 เดือนควรได้รับอาจมีดังนี้
- นมแม่หรือนมผง 4-6 ออนซ์ ประมาณ 4-6 ครั้ง/วัน
- การเริ่มต้นให้อาหารแข็งเป็นอาหารเสริม ควรบดอาหารเพียงชนิดเดียวในปริมาณเล็กน้อยประมาณ 1-2 ช้อนชา 4 ครั้ง/วัน และอาจค่อย ๆ เพิ่มอาหารแข็งเป็น 1-2 ช้อนโต๊ะ โดยผสมกับนมแม่หรือนมผงเพื่อไม่ให้อาหารข้นเกินไปและกินง่ายมากขึ้น
เมื่อเด็กเริ่มชินกับอาหารแข็งสามารถเพิ่มปริมาณอาหารแข็งเป็น ½ ถ้วย ประมาณ 2-3 ครั้ง/วัน ดังนี้
- นมแม่หรือนมผง 6-8 ออนซ์ ประมาณ 3-5 ครั้ง/วัน
- โปรตีน 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือค่อย ๆ เพิ่มเป็น 2-4 ช้อนโต๊ะ
- ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือค่อย ๆ เพิ่มเป็น 2-4 ช้อนโต๊ะ
- ผัก 2-3 ช้อนโต๊ะ หรือค่อย ๆ เพิ่มเป็น 4-8 ช้อนโต๊ะ
- ผลไม้ 2-3 ช้อนโต๊ะ หรือค่อย ๆ เพิ่มเป็น 4-8 ช้อนโต๊ะ
การป้อนอาหารเด็ก 6 เดือน ควรป้อนอาหารเพียงชนิดเดียวใน 1 มื้อ โดยควรเป็นอาหารที่ผ่านการปรุงสุก บดละเอียด และควรเป็นอาหารที่หลากหลายอุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ธัญพืช เมล็ดพืช ไข่ แครอท ผักใบเขียว ฟักทอง มะละกอ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้กับรสชาติอาหารและฝึกทักษะการกินอาหารแข็ง
เมนูอาหารเด็ก6เดือน มีอะไรบ้าง
เมนูอาหารเด็ก6เดือน ควรเป็นอาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม บดละเอียด และผ่านการปรุงสุก เนื่องจากระบบย่อยอาหารยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ตัวอย่างเมนูอาหารเด็ก6เดือน จึงอาจมีดังนี้
- ซุปแอบเปิ้ลข้น
- ซุปพีชข้น
- ซุปลูกแพร์ข้น
- ซุปแอปริคอตข้น
- ซุปบลูเบอร์รี่ข้น
- ซุปครีมแครอท
- กล้วยบด
- อะโวคาโดบดละเอียด
- ลูกพลัมบดละเอียด
- แอปเปิ้ลบดละเอียด
- ซีเรียลสำหรับเด็กทารก สามารถผสมนมแม่หรือนมผงเพื่อไม่ให้ข้นมากเกินไป
- เนื้อไก่ ไข่ เต้าหู้ เนื้อหมู ปรุงสุกบดละเอียด
ตัวอย่างเมนูอาหารเหล่านี้ควรป้อนให้เด็กเพียงชนิดเดียวใน 1 มื้อ ไม่ควรนำอาหารหลายชนิดมาผสมกัน และไม่ควรปรุงรสชาติด้วยเครื่องปรุง เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็ก 6 เดือน อาจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ การให้อาหารหลากชนิดผสมกันอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด หรืออาหารไม่ย่อยได้
เมนูอาหารเด็ก6เดือน ที่ควรหลีกเลี่ยง
เมนูอาหารเด็ก6เดือน ควรหลีกเลี่ยงส่วนผสมหรืออาหารบางชนิด ดังนี้
- อาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น ปลาดิบ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสด
- อาหารที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ เช่น นมวัว ไข่ โยเกิร์ต ชีส เนย
- น้ำผึ้ง
- เครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น ซอสปรุงรส เกลือ น้ำตาล ผงชูรส
- อาหารที่มีวัตถุเจือปน เช่น สารกันบูด สีผสมอาหาร สารเติมแต่งกลิ่น
- อาหารที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต
เนื่องจากระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก 6 เดือน ยังอาจพัฒนาไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และอาหารที่กล่าวมาข้างต้นอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสก่อโรค และสารเคมี ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของเด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กมีอาการเจ็บป่วย เช่น ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด อาหารไม่ย่อย โรคโบทูลิซึม (Botulism) หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นกระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและพัฒนาการของเด็กได้