การพัฒนาทักษะของลูก ๆ ไม่เพียงการส่งเสริมด้านวิชาการเท่านั้น แต่การเล่นต่าง ๆ และกิจกรรมที่สนุกสนานยังช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการเติบโตได้ด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับ การเล่นกับการพัฒนาทักษะ ในแต่ละช่วงวัยของลูกน้อยอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การเล่นกับการพัฒนาทักษะ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
การเล่นทราย
การเล่นทราย ฟังดูเหมือนเป็นเพียงการเล่นเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่พ่อแม่รู้หรือไม่ว่า การเล่นทรายเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ พัฒนาทักษะ ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ สอนให้เด็กรู้จักการทำงานเป็นทีม รู้จักการแบ่งปัน ทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมหากเล่นร่วมกับพี่น้อง หรือเด็กในวัยเดียวกัน
การเล่นดินน้ำมัน หรือแป้งโดว์
การเล่นประเภทนี้ ลูกจะได้ใช้มือในการนวดและปั้น ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างกล้ามเนื้อแล้ว เด็กยังได้ใช้จินตนาการในการปั้นดินน้ำมันออกมาเป็นรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย
การเล่นสวมบทบาท
การเล่นชนิดนี้ เป็นการช่วยปลดปล่อยจินตนาการของเด็ก ๆ พวกเขาอาจค้นพบตัวตนได้จากบทบาทสมมติที่ตนเองกำลังเล่นอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการสร้างทักษะปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นด้วย
การวาดภาพระบายสี
แน่นอนว่า กิจกรรมนี้เป็นการเสริมสร้างจินตนาการของเด็กให้กว้างไกลมากขึ้น นอกจากจินตนาการของภาพที่วาดแล้ว การผสมสีต่าง ๆ ก็เป็นการ พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นสีใหม่ ๆ ผ่านการผสมสี
การเล่นจิ๊กซอว์
การเล่นของเล่นประเภทตัวต่อ หรือจิ๊กซอว์ จะช่วยเสริมให้ลูกของคุณได้ใช้ความคิด ใช้ตรรกะพื้นฐานในการแก้ปัญหา จัดการกับรูปทรง และขนาดต่าง ๆ
การเล่นกับธรรมชาติ
การพาลูกไปเดินป่า หรือการพาลูกไปอยู่กับธรรมชาติ เป็นการทำให้เด็กได้พบเจอกับสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต ต่อยอดให้เกิดการค้นคว้า การตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นหรือสิ่งนี้คืออะไร สิ่งสำคัญคือเป็นการสอนให้ลูกรักธรรมชาติ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
การร้องเพลง การฟังเพลง
กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเพิ่มทักษะในเรื่องของจังหวะ ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถแยกจังหวะและทำนองของเพลงได้ ทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะทางการฟัง และอาจทำให้เด็กได้ค้นพบตัวตน หรือสิ่งที่ชอบ อย่างการร้องเพลงหรือเล่นดนตรี
การเล่น มีประโยชน์ต่อลูกอย่างไร
การเล่นกับการพัฒนาทักษะมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่คุณคิด เพราะการเล่นสามารถช่วยในการพัฒนาทักษะของเด็ก ๆ ได้หลายทาง ทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย อารมณ์ การสื่อสาร ดังนี้
- การเล่นช่วยเสริมสุขภาพ การให้ลูกได้ออกไปเล่นสนุกบ้าง เป็นการเสริมให้ลูกได้ออกกำลังกายทางอ้อม ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้ลูกอยู่กับทีวี สมาร์ทโฟน หรือโซเชียลมีเดีย การออกกำลังกายยังเป็นการป้องกันการเกิดโรคอ้วนในเด็กอีกด้วย
- การเล่นเป็นอีกหนึ่งวิธีในการคลายเครียดของเด็ก ช่วยให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี ป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้า และยังเป็นการเสริมสร้างทักษะการเข้าสังคม หากเป็นกิจกรรมที่ลูกได้เล่นกับเพื่อน ๆ
- การเล่น ช่วยให้เด็กเกิดไอเดียใหม่ ๆ เด็ก ๆ จะมีการตั้งข้อสังเกตกับสิ่งที่ได้เจอ หรือประสบการณ์ที่ได้รับมา หรือเกิดความคิดบางอย่างในระหว่างที่ได้เล่นหรือทำกิจกรรม
- การเล่นช่วยให้เด็กมีทักษะในการตัดสินใจด้วยตัวเองเป็น เพราะในระหว่างเล่น เด็กจะเริ่มมองหาตัวเลือก หรือตัวช่วยในการแก้ปัญหาระหว่างการเล่น
- การเล่นช่วยให้เด็กสามารถควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง เป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้อยู่กับตัวเอง และผู้อื่น เด็กจะได้เรียนรู้ว่าเมื่อใดควรแสดงออกถึงความรู้สึก และเมื่อใดที่ควรเก็บอารมณ์
- การเล่นช่วยให้เด็กกล้าทำสิ่งใหม่ การเล่นเกมใหม่ ๆ ก็เป็นการเปิดกว้างให้เด็กได้มีประสบการณ์ใหม่เพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าการเล่นจะมีประโยชน์ต่อลูกมากมาย แต่ก็ควรให้ลูกแบ่งเวลาให้เหมาะสม ไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อการเรียน หรืออาจเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ ผู้ปกครองจึงควรดูแลลูกอยู่เสมอ และช่วยให้เขาจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์จากการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่