backup og meta

ท้องผูกหนักจนท้องป่องไม่หายซะที ใช้ ยาระบาย ช่วยจะดีมั้ยนะ

ท้องผูกหนักจนท้องป่องไม่หายซะที ใช้ ยาระบาย ช่วยจะดีมั้ยนะ

หลายคนคงเบื่อหนาระอาใจกับอาการท้องผูกมาบ้างไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นอาการปกติทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ก็เคยเจอ แต่ก็สร้างความรำคาญ ความอึดอัด และความไม่มั่นใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่เรามักนึกถึงเมื่อมีอาการท้องผูกก็คือการใช้ ยาถ่าย หรือ ยาระบาย  ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูก สำหรับผู้ที่รู้สึกว่ามีอาการมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความที่นำเสนอ ข้อเท็จจริงและวิธีการใช้ที่ถูกต้องของ ยาถ่าย หรือยาระบาย ที่จะทำให้คุณรู้สึกโล่งใจและโล่งท้อง แบบปลอดภัยเมื่อจำเป็นต้องใช้ยาประเภทนี้

ยาระบาย ควรใช้เมื่อไหร่ดี

ยาถ่าย เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะท้องผูก ซึ่งก็อาจมีคำถามตามมาว่า แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่าท้องผูก เพราะจริง ๆ แล้ว ทุกคนไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกวันก็ได้ ในบางคน ถึงจะไม่ได้ถ่ายอุจาระ 2-3 วัน แต่หลังจากนั้น ก็สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ โดยไม่มีปัญหาใด ๆ

ดังนั้น ภาวะท้องผูก จึงหมายถึงการที่คุณถ่ายอุจจาระน้อยผิดปกติ และอุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็งกว่าปกติ ทำให้ต้องออกแรงเบ่งมากกว่าเดิม หรือรู้สึกว่าถ่ายไม่สุดเพราะมีสิ่งอุดกั้นอยู่ โดยปกติ จะถือว่ามีคุณมีอาการท้องผูก หากไม่ขับถ่ายติดต่อกัน 3 วัน ส่วนในเด็ก จะถือว่าเกิดอาการท้องผูก หากไม่มีการขับถ่ายเลยติดต่อกัน 4 วัน ซึ่งคุณอาจจำเป็นต้องใช้ ยาถ่าย เป็นตัวช่วยเพื่อเคลียร์อุจจาระที่คั่งค้างในลำไส้ออกมาอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ ยาระบายยังถูกนำมาใช้ในการแพทย์ ในกรณีเตรียมคนไข้เพื่อการวินิจฉัยโรค การรักษาคนไข้ก่อนและหลังการผ่าตัด รวมทั้งคนไข้ที่อยู่ในภาวะจำเป็นต้องช่วยให้มีการขับถ่ายอีกด้วย

 รู้ลึก… รู้จริง…เรื่องยาระบายประเภทต่าง ๆ

ยาระบายหรือ ยาถ่าย มักแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ๆ ตามกลไกการออกฤทธิ์ของยา ดังนี้

  1. ยาที่กระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ ยากลุ่มนี้จะทำให้ลำไส้บีบตัวเพิ่มมากขึ้น จึงกระตุ้นให้อุจจาระถูกขับถ่ายซึ่งมักประกอบด้วยตัวยาสำคัญ คือ บิซาโคดิล (Bisacodyl) ซึ่งจะกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้เคลื่อนไหวบีบตัว และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและเกลือแร่ในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการขับถ่าย และลดเวลาที่อุจจาระอยู่ในลำไส้ลง รวมทั้งทำให้อุจจาระอ่อนตัวและเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น โดยยาจะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 6-12 ชั่วโมง
  2. ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ ยากลุ่มนี้เป็นสารประเภทไฟเบอร์ เช่น เม็ดแมงลัก ยาระบายไซเลียมสีด ซึ่งเมื่อถูกน้ำจะพองตัว แล้วไปเพิ่มปริมาณอุจจาระ รวมทั้งทำให้อุจจาระอ่อนตัว อุจจาระจึงถูกขับถ่ายออกง่ายขึ้น มักมีส่วนประกอบของสารประเภทไฟเบอร์ เช่น เม็ดแมงลัก และ ไซเลียมซีด เป็นต้น ยาระบายประเภทนี้จะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 12-72 ชั่วโมง
  3. ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ยากลุ่มนี้ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกง่ายขึ้น มักมีส่วนประกอบสำคัญ คือ ด็อกคูเสทโซเดียม (Docusate sodium) ยาจะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 12-72 ชั่วโมง
  4. ยาที่มีแรงดันออสโมติก ยากลุ่มนี้มีความสามารถในการดูดน้ำเข้ามาในลำไส้ด้วยแรงดัน  ออสโมติก น้ำจะทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง และยังช่วยเพิ่มแรงดันในลำไส้ กระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ และขับถ่ายอุจจาระออก ตัวยาสำคัญที่พบได้บ่อยใน ยาถ่าย ประเภทนี้ ได้แก่  แลคตูโลส (Lactulose) ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 30 นาที ถึง 3 ชั่วโมง
  5. ยาที่หล่อลื่นอุจจาระ ยากลุ่มนี้มีความสามารถในการเก็บกักน้ำไว้ในอุจจาระ ทำให้อุจจาระอ่อนตัวลง และถูกขับถ่ายออกมาง่ายขึ้น มักประกอบด้วยตัวยาระบายน้ำมันแร่ ยาระบายอิมัลชันของน้ำมันแร่ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ยาจะออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากขับถ่ายในระยะเวลา 2-6 ชั่วโมง

ยาระบาย ใช้อย่างไรให้ถูกวิธีและปลอดภัย

แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของการใช้ ยาถ่าย คือการรักษาอาการท้องผูกที่เกิดเป็นครั้งคราว หรือในกรณีที่ลองใช้วิธีอื่น ๆ ตามธรรมชาติแล้วไม่ได้ผล เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรใช้ ยาถ่าย แบบผิดจุดประสงค์ และควรใช้ ยาถ่าย ในปริมาณที่แนะนำ โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาระบายเสมอ อย่าลืมว่า การใช้ยาเพื่อการระบายต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการดื้อยา และส่งผลกระทบต่อการทำงานของลำไส้ในระยะยาวได้

ยาระบาย หรือ ยาถ่าย แต่ละประเภทก็มีวิธีใช้ต่างกัน ดังนั้น ทางที่ดีควรศึกษาวิธีใช้ที่ถูกต้องตามนี้ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง

ยาที่กระตุ้นการขับถ่ายอุจจาระ

ยาถ่าย ประเภทนี้ไม่ควรใช้ในปริมาณมากเกินกว่าที่แนะนำ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยาประเภทนี้มีทั้งรูปแบบ ยาเม็ดเคลือบ และ ยาเหน็บทวารหนัก ให้เลือกใช้ สำหรับยาชนิดเม็ดเคลือบ แนะนำว่าควรรับประทานก่อนนอน เพื่อให้ลำไส้เกิดการบีบตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น และควรกลืนยาทั้งเม็ด ไม่ควรเคี้ยว หรือแบ่งยา พร้อมกับดื่มน้ำตามมาก ๆ และไม่ควรรับประทานยาร่วมกับอาหารหรือยาบางอย่าง เช่น นม และ ยาลดกรด เพื่อไม่ให้ยาละลายเร็วเกินไป

ยาที่มีฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ

ยาถ่าย ประเภทนี้ประกอบด้วยไฟเบอร์ จึงควรดื่มน้ำตามมาก ๆ อย่างน้อยควรดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ตามไม่ต่ำกว่า 1 แก้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟเบอร์ไปอุดกั้นในลำไส้

ยาที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม

ยาประเภทนี้ออกฤทธิ์กับอุจจาระโดยตรง คือทำให้อุจจาระอ่อนตัวลงและขับถ่ายออกมาง่ายขึ้น โดยไม่ไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้ เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร สตรีมีครรภ์ และเด็ก แต่ก็ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานเช่นกัน

ยาที่มีแรงดันออสโมติก

ยาที่มีแรงดันออสโมติกมีประโยชน์กับผู้ที่มีอาการท้องผูกแบบไม่ทราบสาเหตุ เมื่อรับประทาน ยาถ่าย ประเภทนี้แล้ว ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อให้ยาทำงานเต็มประสิทธิภาพ

ยาที่หล่อลื่นอุจจาระ

ควรใช้ยานี้หลังจากรับประทานอาหารไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะยานี้อาจไปรบกวนระบบการย่อยและการดูดซึมสารอาหารหรือวิตามินได้  และมักแนะนำให้กินก่อนนอนเพื่อความสะดวก เนื่องจากยาใช้เวลาออกฤทธิ์ประมาณ 6-8 ชั่วโมง

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Constipation and bowel cleansers.https://www.empr.com/drug/dulcolax/. Accessed 8 March 2019

Laxatives (Oral Route).https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/laxative-oral-route/proper-use/drg-20070683.Accessed 8 March 2019

Laxatives.https://www.nhs.uk/conditions/laxatives/ .Accessed 8 March 2019

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/03/2021

เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เจ็บคอ ควรใช้เมื่อไหร่ดี มีข้อควรระวังอย่างไร

ท้องผูก บ่อยๆ ก็เพราะนิสัยเสียๆ แบบนี้ไงล่ะ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย แวววิกา ศรีบ้าน · แก้ไขล่าสุด 29/03/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา