backup og meta

การเมตตาตนเอง (Self-Compassion) กุญแจสำคัญ สู่ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น

การเมตตาตนเอง (Self-Compassion) กุญแจสำคัญ สู่ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น

การมีเป้าหมายในชีวิตที่แน่ชัดนั้นเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งเมื่อเราอยู่ในโลกยุคที่มีการแข่งขันสูงอย่างในปัจจุบัน การก้าวผิดพลาด อาจนำไปสู่การล้มเหลวได้อย่างง่าย ๆ แต่แรงกดดันจากการพยายามใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จเหล่านี้ อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพจิตของตัวคุณเองได้ วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมารู้จักกับ การเมตตาตนเอง หลักการสำคัญ ที่จะนำทุกคนไปสู่ชีวิตที่มีความสุขมากยิ่งขึ้น

การเมตตาตนเอง เป็นอย่างไร

การเมตตาตนเอง (Self-compassion) เป็นแนวความคิดที่มาจากหลักของพุทธศาสนาที่ว่าด้วย “ความเมตตา” หมายถึงการแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใย ความเอาใจใส่ และความใจดีแก่ผู้อื่น การมีเมตตาต่อตนเองก็หมายถึง การที่เรานั้นมีความรู้สึกรักตนเองมากพอ ที่จะใจดีต่อตนเอง และยอมรับในตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ข้อเสีย หรือข้อผิดพลาดที่ตัวเองมี

องค์ประกอบหลักของการเมตตาต่อตนเองนั้น มีดังนี้

  • ใจดีต่อตนเอง หมายถึงการไม่กดดันตัวเอง และเอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ตนเองมากจนเกินไป
  • ยอมรับในความผิดพลาด ทำความเข้าใจว่าการทำความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครในโลกนี้สมบูรณ์แบบ
  • มีสติ เผชิญหน้ากับสถานการณ์โดยไม่มีความคิดเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง แม้ว่าสิ่งที่เจออาจจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวด ไม่เพิกเฉยหรือตีความสถานการณ์ที่เจอแบบเกินจริง

การมีเมตตาต่อตนเองนั้นจะแตกต่างจากการนับถือตัวเอง (Self-esteem) เนื่องจากการนับถือตนเองนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การประเมินตัวเองในทางที่ดี มองข้อดีของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น

แต่การมีเมตตาต่อตนเองนั้นจะมุ่งเน้นไปที่ยอมรับต่อข้อบกพร่องและความผิดพลาดของตน เข้าใจว่าไม่ว่าใครก็สามารถทำผิดกันได้ และยอมรับกับสิ่งที่ตัวเองเป็น เป็นการตระหนักว่าตัวเองเป็นคน ๆ หนึ่ง แทนที่จะเป็นคนที่ดีที่สุด ผู้ที่มีความเมตตาต่อตนเองนั้นมักจะสามารถรับมือกับความผิดพลาดได้ดีกว่า ในขณะที่ผู้ที่นับถือตนเองมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะไม่สนใจหรือปฏิเสธข้อบกพร่องของตัวเอง

ประโยชน์ของการเมตตาตนเอง

เป้าหมายหลักสำคัญของการมีเมตตาต่อตนเอง คือการยอมรับในข้อบกพร่องและความผิดพลาดของตัวเอง ทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างการเป็นคนที่ล้มเหลว กับการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ ผู้ที่มีเมตตาต่อตนเองนั้นจะสามารถยอมรับในความผิดพลาดได้ดีขึ้น และส่งผลให้สุขภาพจิตโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการมีเมตตาต่อตนเอง กับความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ ผู้ที่มีความเมตตาต่อตนเองนั้นมักจะเป็นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง มีความสุข มีการเชื่อมต่อกับสังคม และมีความพึงพอใจต่อชีวิตโดยรวมในระดับที่ดี ผู้ที่มีเมตตาต่อตนเองนั้นยังมีแนวโน้มที่จะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คอยสนับสนุนผู้อื่น และห่วงใยผู้อื่นมากกว่าอีกด้วย

นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความเมตตาต่อตนเอง มักจะมีโอกาสที่จะเกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า อับอาย และหวาดกลัวความผิดพลาดน้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นตัวเองให้เผชิญหน้ากับปัญหาได้ดีกว่า เพราะพวกเขามักจะมองปัญหาได้อย่างเป็นกลางมากกว่า ทำให้สามารถยอมรับและจัดการกับปัญหาได้ดีกว่าผู้ที่ไม่มีควาเมตตาต่อตนเองนั่นเอง

เทคนิคเริ่มต้นฝึกการมีเมตตาต่อตนเอง

ยอมรับว่าตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการฝึกให้มีเมตตาต่อตนเอง คือการยอมรับให้ได้ก่อนว่า ตัวคุณนั้นไม่เพอร์เฟค มนุษย์เราทุกคนล้วนแล้วแต่ก็มีข้อเสียของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความขี้เกียจ ความไม่ขยัน หรือความสะเพร่า ก็สามารถมีกันได้ทั้งสิ้น คุณไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่คุณคิดว่าดีกว่า

ยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่คุณเห็นผ่านโลกของโซเชียลมีเดีย เพราะคนอื่นต่างก็พยายามแสดงออกมาให้เห็นแต่ด้านดีทั้งสิ้น แต่เบื้องหลังเขาก็อาจจะมีข้อเสียบางอย่างที่คุณไม่รู้ ดังนั้น คุณจึงไม่จำเป็นต้องกดดันและพยายามทำตัวให้สมบูรณ์แบบ แค่ยอมรับในสิ่งที่คุณเป็นก็พอ

ฝึกการมีสติ

การมีสติจะช่วยให้คุณสามารถมองสถานการณ์เบื้องหน้าที่กำลังเผชิญได้อย่างรอบคอบ ใจเย็น และมีเหตุมีผลมากขึ้น ทำให้คุณสามารถมองข้ามความรู้สึกด้านลบ และหันมามองถึงต้นตอของปัญหา และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น ทำให้เราไม่ต้องจมปลักอยู่กับความรู้สึกโทษตัวเอง และส่งผลให้เราสามารถยอมรับตัวเอง และใจดีกับตัวเองได้ง่ายขึ้น

ปฏิบัติกับตัวเอง เหมือนกับที่ปฏิบัติกับคนที่คุณรัก

ลองนึกภาพดูว่า หากคนที่คุณรักทำเรื่องที่ผิดพลาด คุณจะเอาแต่โทษเขา วิพากย์วิจารณ์เขา โดยไม่ยอมให้เขาได้มีโอกาสแก้ไขในสิ่งที่ทำผิดเลยเหรอ หากคุณสามารถยอมรับในข้อผิดพลาดของคนอื่นได้ แล้วทำไมคุณถึงไม่ยอมรับในข้อผิดพลาดของตัวเองกันล่ะ การปฏิบัติกับตัวเองเหมือนกับที่ปฏิบัติกับคนที่คุณรัก จะทำให้คุณสามารถยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้ และรู้สึกเห็นหกเห็นใจในตัวเองมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Self-Compassion Makes Life More Manageable https://www.verywellmind.com/how-to-develop-self-compassion-4158290

Give Yourself a Break: The Power of Self-Compassion https://hbr.org/2018/09/give-yourself-a-break-the-power-of-self-compassion

How to Cultivate More Self-Compassion https://www.psychologytoday.com/intl/blog/nurturing-self-compassion/201703/how-cultivate-more-self-compassion

Self-Compassion https://www.goodtherapy.org/learn-about-therapy/issues/self-compassion

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/10/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

‘รักตัวเอง’ กับ ‘หลงตัวเอง’ ความแตกต่าง ที่มีเพียงแค่เส้นบาง ๆ คั่นไว้

ความนับถือตัวเอง สำคัญกับเด็กอย่างไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/10/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา