backup og meta

ทำความรู้จักกับ อคติทางความคิด (Cognitive Bias) ปัญหาสำคัญที่จะนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาด

ทำความรู้จักกับ อคติทางความคิด (Cognitive Bias)  ปัญหาสำคัญที่จะนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาด

การที่เราจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง จะต้องใช้การคิดวิเคราะห์ และพิจารณาภาพรวมให้ดีก่อนการตัดสินใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด แต่ในบางครั้ง อคติทางความคิด ก็อาจจะจะกลายปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลให้เราตัดสินใจอย่างผิดพลาดได้ในที่สุด วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมารู้จักกับ อคติทางความคิด ว่าคืออะไร แล้วทำอย่างไรเราจึงจะจัดการกับอคติเหล่านี้ได้

อคติทางความคิด คืออะไร

อคติทางความคิด (Cognitive Bias) หมายถึง ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความคิด เมื่อมีการประมวลผลและตีความข้อมูลที่ได้รับมา จนอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจและวิจารณาณของบุคคลนั้นๆ ได้

อคติทางความคิดนั้นมักจะเป็นผลมาจาก การที่สมองของคุณพยายามทำให้การประมวลผลและตีความข้อมูลนั้นง่ายขึ้น ช่วยให้สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความทรงจำ แนวคิด สิ่งที่คุ้นเคย หรือคนหมู่มาก ซึ่งอคติเหล่านี้นั้นอาจมีอิทธิพลอย่างมาก ต่อการมองโลกและความคิดของคุณ

ประเภทต่างๆ ของความอคติทางความคิด

อคติทางความคิดนั้นมีอยู่มากมายหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น

อคติเพื่อยืนยัน (Confirmation bias) หมายถึงคนที่จะหาข้อมูล เพื่อมายืนยันกับความคิดหรือความเชื่อเดิมที่ตนมีอยู่เท่านั้น และจะไม่ให้ความสนใจกับข้อมูลอื่นที่ขัดแย้งต่อความเชื่อเดิมของตัวเอง

อคติเชื่อในประสบการณ์ (Conservatism bias) หมายถึงการที่เชื่อและให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และข้อมูลเก่าๆ มากกว่าหลักฐานข้อมูลใหม่ คนเหล่านี้มักจะมีความเชื่อว่า สิ่งที่เป็นจริงในอดีตนั้นคือความถูกต้องแน่นอน หรือเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ของตัวเองนั้นถูกต้อง เช่น ความเชื่อในการป้อนกล้วยให้เด็กแรกเกิดกินเพราะกลัวว่าเด็กจะขาดสารอาหาร แม้ว่าหมอในปัจจุบันจะยืนยันว่าห้ามทำ

อคติเชื่อข้อมูลใหม่ (Recency bias) อคตินี้จะตรงข้ามกับข้อที่ผ่านมา หมายถึงคนที่ให้ความสำคัญ และเชื่อมั่นในข้อมูลและเหตุการณ์ใหม่ล่าสุดเท่านั้น เช่น หลังจากเกิดปัญหาแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศหนึ่ง ประเทศอื่นๆ ก็อาจจะมาให้ความสำคัญในการป้องกันการเกิดแผ่นดินไหว แม้ว่าความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศตัวเองนั้นจะต่ำมากก็ตาม

อคติยึดติดหน้าที่ (Functional fixedness) หมายถึงการที่เรามีความคิดว่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีหน้าที่อยู่เพียงแค่อย่างเดียว และต้องทำแค่เพียงหน้าที่เดียวเท่านั้น เช่น ค้อนมีไว้ตอกตระปู เมื่อไม่มีค้อน เขาก็จะไม่มองหาของแข็งๆ อย่างอื่นอย่างประแจ ที่อาจจะสามารถใช้แก้ขัดไปได้ก่อน แต่จะคิดเพียงว่าต้องใช้ค้อนเท่านั้นถึงจะทำงานนี้ได้

อคติจากความพึงพอใจ (Satisficing bias) หมายถึงคนที่เลือกจะเชื่อข้อมูลหรือข้อสรุปแรก ที่ตัวเองรู้สึกว่าดีพอแล้ว ได้คำตอบที่น่าพอใจแล้ว โดยไม่ไปค้นหาข้อมูลอื่นต่อ หรือไม่เปิดรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมอีก ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลได้เพียงเล็กน้อย และไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลนั้นได้อย่างถูกต้อง

อคติมองในแง่ดี (Optimism Bias) หมายถึงคนที่มีความเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย เป็นไปได้ด้วยดี หรือเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ให้ความสำคัญ หรือคิดคำนวณเผื่อไปถึงข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คล้ายกับการหวังน้ำบ่อหน้า คนเหล่านี้มักจะมีปัญหาในการรับมือเมื่อสิ่งที่คิดไว้นั้นไม่เป็นไปอย่างที่คิด

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีอคติทางความคิด

การจะสังเกตว่าตัวของคุณมีอคติทางความคิดหรือไม่นั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางอคติก็อาจจะมองออกยากกว่าอคติอื่นๆ แต่คุณอาจสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีอคติทางความคิดได้ดังนี้

  • หากคุณให้ความสนใจแค่เฉพาะข่าว หรือข้อมูลที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับความคิดเห็นของคุณเท่านั้น
  • หากคุณโทษปัจจัยอื่นๆ ว่าเป็นสาเหตุว่าทำไมเรื่องถึงไม่เป็นอย่างที่คุณต้องการ
  • คุณคิดว่าทุกๆ คนคิดเหมือนกับคุณเอง
  • คุณรีบด่วนสรุปทันที เมื่อได้ยินข้อมูลเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น
  • คุณไม่สนใจความคิดเห็นของผู้อื่น และคิดว่าพวกเขาคิดผิด
  • คุณมีแหล่งข้อมูลที่คุณคิดว่าน่าเชื่อถือ แต่ไม่สนใจข้อมูลที่มาจากแหล่งอื่น

ลักษณะเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการที่บ่งบอกว่าคุณมีอคติทางความคิด เพราะอคติทางความคิดนั้นยังมีอีกมากมายหลายประเภท และมีลักษณะแตกต่างกันไป สิ่งที่คุณควรทำคือลองสำรวจตัวเองดู และหากพบว่าตัวเองมีอคติทางความคิด ควรพยายามปรับเปลี่ยนแนวคิดของคุณ ก่อนที่คุณจะตัดสินใจผิดพลาดในอนาคต

เทคนิคการจัดการกับอคติทางความคิด

การจะจัดการกับอคติทางความคิดนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ง่ายเกินกว่าความพยายาม มีงานวิจัยที่พบว่า การฝึกสมองแบบฝึกการรู้คิด (Cognitive training) สามรรถช่วยลดอคติทางความคิดได้ โดยมีเทคนิคดังต่อไปนี้

ตระหนักรู้ถึงอคติ ก่อนที่เราจะจะหาวิธีการจัดการกับอคติทางความคิดได้ เราจะต้องรับรู้และยอมรับได้ก่อนว่าตัวเองกำลังมีอคติทางความคิด ก่อนที่เราจะตัดสินใจอะไร อย่าลืมสำรวจตัวเองดูก่อนว่า คุณกำลังลำเอียงหรือไม่ คุณกำลังรีบด่วนตัดสินใจเกินไปหรือเปล่า และพิจารณาว่า อคติทางความคิดนั้นส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณมากแค่ไหน จะช่วยให้คุณสามารถรับมือและจัดการกับอคติได้ดีขึ้น

หาสาเหตุของอคติ เมื่อคุณตระหนักรู้ได้แล้วว่าคุณกำลังมีอคติทางความคิด ก็ควรลองมองหาสาเหตุว่าทำไมคุณถึงมีอคติแบบนั้น เช่น คุณกำลังมั่นใจในตัวเองเกินไปหรือเปล่า หรือคุณรับฟังข่าวสารข้างเดียวมากเกินไปไหม เมื่อรับรู้ถึงสาเหตุ ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น

ลองท้าทายกับอคติ ลองคิดถึงหนทางที่จะท้าทายความคิดและความเชื่อของตัวเองดู เช่น หากคุณรู้ว่าตัวเองมีอคติชอบเชื่อข่าวในโทรทัศน์มากเกินไป ก็อาจลองเปลี่ยนเป็นหาข้อมูลข่าวสารจากแหล่งอื่นๆ บ้าง เช่น ในโซเชียลมีเดีย หรือฟังจากคนรอบข้าง เพื่อให้คุณได้รับข่าวสารที่หลากหลายมากขึ้นมาประกอบการตัดสินใจได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Cognitive Bias? https://www.verywellmind.com/what-is-a-cognitive-bias-2794963

10 Cognitive Biases That Distort Your Thinking https://www.verywellmind.com/cognitive-biases-distort-thinking-2794763

COGNITIVE BIASES  https://www.acaps.org/sites/acaps/files/resources/files/acaps_technical_brief_cognitive_biases_march_2016.pdf

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/09/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความลำเอียง ปัญหาครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

ความเชื่อใจ ใช่ว่าจะสร้างกันได้ง่ายๆ เมื่อถูกทำลาย สร้างความเชื่อใจ อย่างไรให้กลับมาดีดังเดิม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 14/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา