backup og meta

ASMR เสียงชวนฟิน ฟังแล้วเพลิน แถมยังดีต่อสุขภาพด้วย

ASMR เสียงชวนฟิน ฟังแล้วเพลิน แถมยังดีต่อสุขภาพด้วย

คุณเคยเป็นแบบนี้ไหม แค่ได้ยินเสียงกระซิบข้างหู มีคนลูบผม หรือนวดแขนให้ ก็รู้สึกฟิน ขนลุก ผ่อนคลาย และหลับง่ายขึ้นอย่างบอกไม่ถูก หากคุณเคย เราเรียกภาวะนั้นว่า “ASMR’ (เอเอสเอ็มอาร์) ซึ่งคุณน่าจะเคยได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ เพราะในปัจจุบัน ภาวะนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ยอดฮิตทางอินเตอร์เน็ต และคุณสามารถค้นหาคลิปวิดีโอแนวนี้ ไม่ว่าจะเป็นคลิปกิน คลิปทำเสียงกระซิบ เสียงพลิกหน้าหนังสือ และอื่นๆ อีกมากมาย ได้เป็นล้านๆ คลิปในหลายแพลตฟอร์ม และคลิปหรือเสียงเหล่านั้น ก็ไม่ใช่แค่ฟังเพลิน แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในแบบที่คุณอาจคาดไม่ถึง

ASMR คืออะไร

คำว่า ASMR ย่อมาจาก Autonomous Sensory Meridian Response หมายถึง “การตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ” พูดง่ายๆ คือ เป็นความรู้สึกฟิน รู้สึกสงบ ปลอดภัย และผ่อนคลาย หรือขนลุกแบบแปลก ๆ เริ่มจากหนังศีรษะ ไล่ลงไปตามต้นคอ กระดูกสันหลังและแขนขา ซึ่งมักเกิดขึ้นเพราะมีสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้า เช่น กิจกรรม ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียงบางอย่าง เช่น เสียงกระซิบ เสียงเคี้ยว ในปัจจุบันก็มีงานศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าภาวะนี้สามารถทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลง และช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวมได้ด้วย

แต่การตอบสนองลักษณะนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน บางคนตอบสนองกับสิ่งเร้าแทบทุกประเภท บางคนรู้สึกกับสิ่งเร้าแค่บางประเภทเท่านั้น ในขณะที่บางคนอาจไม่เกิดการตอบสนองลักษณะนี้กับสิ่งเร้าไหนเลย และอาจรู้สึกรำคาญด้วยซ้ำไป

ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นผลมาจากความหลากหลายทางระบบประสาท (Neurodiversity) ที่ทำให้แต่ละคนมีการทำงานของสมอง และลักษณะพฤติกรรมแตกต่างกันไป เราจึงตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เหมือนกัน

คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์

และถึงแม้ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็เชื่อว่า ความรู้สึกดีหรือภาวะที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลมาจากสารสื่อประสาทอย่างเอนดอร์ฟิน (Endorphin) เมื่อเราได้อยู่กับสิ่งที่เรารู้สึกผูกพันใกล้ชิด สมองของเราจะหลั่งเอนดอร์ฟินออกมา ทำให้เรารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ปลอดภัย พร้อมกับช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และบางครั้งก็อาจทำให้เรารู้สึกดีจนถึงขั้นเผลอหลับเลยก็มี

นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่ออีกว่า คนส่วนใหญ่เจอกับสิ่งกระตุ้นและมีประสบการณ์เอเอสเอ็มอาร์ครั้งแรกในวัยเด็ก และความผูกพันระหว่างแม่กับลูกก็ถือเป็นตัวกระตุ้นที่รุนแรงที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากได้อยู่ในอ้อมกอดของแม่ เราจะรู้สึกปลอดภัยและผ่อนคลายได้เสมอ

ตัวกระตุ้นภาวะนี้มีมากกว่าเสียงกระซิบ

สิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้าการตอบสนองแบบ ASMR นั้นมีด้วยกันมากมายหลายรูปแบบ ที่เรารู้จักกันดีที่สุดก็น่าจะเป็นเสียงกระซิบ ซึ่งคลิปเสียงกระซิบนั้นได้รับความนิยมในหมู่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และผู้ชมเป็นอย่างมาก และถือเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกนี้ได้มากที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหากคุณฟังเสียงกระซิบผ่านหูฟัง

ยังมีสิ่งกระตุ้นอีกมากมายหลายที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เสียงกระซิบ เช่น เสียงเกา เสียงเคาะ เสียงพิมพ์ เสียงเขียน เสียงพลิกหน้าหนังสือ เสียงฮัม เสียงน้ำหยด เสียงนาฬิกาเดิน เสียงแมวกรนหรือเสียงเพอร์ (Purr) รวมถึงเสียงเคี้ยว แต่คลิปกินที่เน้นเสียงเคี้ยวนี้ บางคนดูอาจแล้วฟินจนกลืนน้ำลายตาม ในขณะที่บางคนก็รำคาญหรือรังเกียจ จนไม่อยากดูจนจบ

นอกจากสิ่งกระตุ้นในรูปแบบเสียงแล้ว การมองภาพเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น การวาดภาพ การสวอชสีเครื่องสำอาง (Color swatch) การแสดงแสงสี รวมถึงการสัมผัสร่างกาย เช่น การหวีผม การเล่นผม การทำเล็บ การแต่งหน้า การนวด ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอ และประสบการณ์จริง ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน

ประโยชน์สุขภาพที่คุณอาจได้รับ

ความผ่อนคลายถือเป็นประโยชน์อย่างแรกที่คุณจะได้รับ เมื่อคุณรู้สึกผ่อนคลายแล้ว ก็จะช่วยลดระดับความเครียด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดปัญหาทางอารมณ์ ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบย่อยอาหาร อีกทั้งคลิปวิดิโอรูปแบบนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องช่วยในการนอนหลับ ทำให้ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ หลับได้ง่ายขึ้น ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ยังส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักด้วย

ทั้งยังมีงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร PeerJ เมื่อปี 2015 ที่ชี้ว่า เอเอสเอ็มอาร์ สามารถช่วยให้อาการของภาวะปวดเรื้อรังและโรคซึมเศร้าดีขึ้นได้ในระยะสั้น และงานศึกษาวิจัยอีกชิ้นก็ยังเผยว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์นี้ มีความรู้สึกในเชิงบวก และความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Connection) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งยังมีอัตราการเต้นของหัวใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ มากมาย

และผลพลอยได้อีกอย่างที่คุณอาจได้รับ ก็คือ เรื่องสุขภาพทางเพศ เนื่องจากมีงานศึกษาวิจัยบางชิ้นที่เผยว่า การดูคลิปวิดีโอประเภทนี้อาจทำให้บางคนเกิดอารมณ์ทางเพศได้ และกลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งก็ให้ข้อมูลว่า พวกเขาชอบดูคลิปประเภทนี้เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศด้วย

หากใครอยากรู้ว่า ASMR ให้ประโยชน์สุขภาพอย่างที่บอกจริงไหม ก็ลองหาคลิปแนวนี้มาดูก่อนนอนสักคลิปสิ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

28 ASMR Triggers for Anxiety Relief, Sleep, and More. https://www.healthline.com/health/asmr-triggers#erotic-appeal. Accessed January 22, 2020

Brain tingling sensation ‘ASMR’ may benefit health. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322241.php#1. Accessed January 22, 2020

Brain tingles: First study of its kind reveals physiological benefits of ASMR. https://www.sciencedaily.com/releases/2018/06/180621101334.htm. Accessed January 22, 2020

Health Benefits of ASMR. https://asmruniversity.com/health-benefits-of-asmr. Accessed January 22, 2020

ASMR Meaning Explained: Definition, Triggers And Benefits. https://www.theasmr.com/what-is-asmr-meaning/. Accessed January 22, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/06/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

เสียงดัง ที่ได้ยินในชีวิตประจำวัน ดังแค่ไหนถึงเป็นอันตราย

รำคาญเสียงรอบข้าง เสี่ยงเข้าสู่ ภาวะมีโซโฟเนีย หรือเปล่านะ?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 23/06/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา