บ่อยครั้งที่จู่ ๆ คนเราก็มี อาการแน่นหน้าอก ขึ้นมา อาจเป็นในช่วงหลังรับประทานอาหาร หรือจากการออกกำลังกายมาอย่างหนัก แต่รู้หรือไม่ว่า หลายครั้งความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่กดดันต่าง ๆ ของคุณ ก็สามารถทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้ด้วยเช่นกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มาหาคำตอบกันได้กับบทความนี้จาก Hello คุณหมอ
[embed-health-tool-heart-rate]
อาการแน่นหน้าอก คืออะไร
สภาวะของอาการแน่นหน้าอก คือ ความรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย มีอาการปวดหรือเจ็บ แสบร้อนกลางอก รู้สึกถึงความดันอัดแน่น บริเวณหน้าท้องส่วนบนและบริเวณคอส่วนล่าง อาการแน่นหน้าอกนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และอาจเป็นความเสี่ยงที่มาจากโรคร้ายอย่าง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ หรืออาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ นอกจากนี้อาการแน่นหน้าอกยังอาจมาจากอาการกรดไหลย้อน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมฝอยอักเสบ อาการหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เส้นเลือดอุดตันที่ปอด โรคปอดบวม เป็นต้น ถือได้ว่าอาการแน่นหน้าอกนั้น เป็นทั้งความเสี่ยงของโรคร้าย และมีสาเหตุมาจากโรคภัยไข้เจ็บที่อันตรายอีกด้วย
ภาวะวิตกกังวลส่งผลต่อ อาการแน่นหน้าอก อย่างไร
อีกหนึ่งสาเหตุของอาการแน่นหน้าอกที่หลายคนกำลังเป็นอยู่นั้น อาจมาจากปัญหาในเรื่องของอาการวิตกกังวล เมื่อความเครียด หรือความกลัว ถูกสะสมไว้มากจนแสดงออกว่ามีความรู้สึกวิตกกังวล ประหม่า หวาดกลัว อาจเป็นผลทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- หายใจเร็ว
- หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นรัว
- วิงเวียนศีรษะ
- รู้สึกแน่นและปวดตามกล้ามเนื้อ
- ประหม่า
- กังวล
- แน่นหน้าอก
เมื่อรู้สึกเครียด จนวิตกกังวล ร่างกายจะเริ่มมีการตอบสนองต่อความรู้สึกนั้น ทำให้กล้ามเนื้อเริ่มมีการหดตัว แน่น กระชับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ร่างกายมีความพยายามในการที่จะปกป้องตนเองจากอันตราย บริเวณใดที่มีกล้ามเนื้ออยู่มาก เช่น หน้าอก ท้อง ซี่โครง แขน และขา ก็จะรู้สึกแน่นขึ้น และเมื่อมีอาการวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ ก็จะยิ่งแน่นขึ้นมากเท่านั้น หรือพูดอีกอย่างก็คือ ยิ่งรู้สึกวิตกกังวลมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกแน่นหน้าอกขึ้นมากเท่านั้น และอาการอาจแย่มากยิ่งขึ้นหากคุณมีโรคหัวใจเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว เพราะนั่นอาจเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจวาย ซึ่งอันตรายถึงชีวิต
มีสาเหตุใดบ้างที่ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก
นอกเหนือจากสาเหตุของภาวะความเครียด ความวิตกกังวลแล้ว อาการแน่นหน้าอกอาจมาจากสภาวะของโรคต่าง ๆ ที่มีความรุนแรงและเสี่ยงต่อชีวิต โดยเฉพาะกับผู้ที่มีภาวะเกี่ยวกับหัวใจ หรือภาวะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
กลุ่มอาการเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก
- อาการหลอดเลือดฉีกขาดฉับพลัน (Aortic dissection)
- อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจพิการ
- หัวใจล้มเหลว
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ
- โรคที่เกี่ยวกับลิ้นหัวใจ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ภาวะหัวใจวาย
อาการเกี่ยวกับปอดที่ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก
- โรคหอบหืด
- โรคหลอดลมอักเสบ
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
- โรคปอดบวม
- ภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax)
- โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)
- ภาวะน้ำท่วมปอด
- ภาวะความดันเลือดในปอดสูง (Pulmonary Hypertension)
อาการทางระบบย่อยอาหารที่ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก
- โรคอะคาเลเซีย (Achalasia)
- ภาวะแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน
- ภาวะหดตัวทั่วทั้งหลอดอาหาร (Esophageal spasm)
- การอักเสบของถุงน้ำดี
- โรคนิ่ว
- โรคกรดไหลย้อน
- อาการแสบร้อนหรือเจ็บหน้าอก
- โรคไส้เลื่อน
- ตับอ่อนอักเสบ
- แผลในกระเพาะอาหาร
ภาวะอื่น ๆ เช่น
- ความเครียด ความวิตกกังวล
- การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก
- อาการข้อบริเวณซี่โครงอักเสบ (Costochondritis)
- อาการกล้ามเนื้อฉีกขาด โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก
- โรคงูสวัด
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
อาการแน่นหน้าอก ไม่ใช่ปัญหาทางสุขภาพที่ควรวางใจ โดยเฉพาะหากคุณมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือเมื่อมีอาการแน่น หรือเจ็บหน้าอกขึ้นมา แม้จะนั่งพักสักครู่หนึ่ง หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอทันที
ในกรณีที่มีอาการแน่นหน้าอกอันเนื่องมาจากความวิตกกังวล ควรไปขอคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดรักษาอาการของโรควิตกกังวล