การตรวจสุขภาพ เพศชาย เป็นการตรวจความแข็งแรงของร่างกายและระบบอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยการตรวจสุขภาพ เพศชาย ที่ควรตรวจเป็นประจำนอกเหนือจากการตรวจสุขภาพประจำปี ได้แก่ การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจระดับความดันโลหิต และการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลตนเอง และรับมือกับโรคที่อาจตรวจพบ รวมทั้งหาทางป้องกันและรักษาต่อไป
[embed-health-tool-bmr]
การตรวจสุขภาพ เพศชาย มีความสำคัญอย่างไร
การตรวจสุขภาพ เพศชาย ช่วยให้ทราบถึงความแข็งแรงของร่างกาย ปัญหาสุขภาพที่อาจซ่อนอยู่ รวมถึงความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกิน สูงวัย ไม่ชอบออกกำลังกาย หากพบอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคจะได้หาทางป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที
ทั้งนี้ โรคที่อาจป้องกันได้หากตรวจพบสัญญาณเตือนของโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมออาจช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การตรวจสุขภาพ เพศชาย มีการตรวจอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพสำหรับเพศชาย นอกจากการตรวจร่างกายตามปกติแล้วยังประกอบไปด้วยการตรวจระบบอวัยวะเพื่อคัดกรองโรคต่าง ๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้
ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก มักตรวจคัดกรองโดยการเจาะเลือด เพื่อหาค่า psa (Prostate-Specific Antigen) ในเลือดโดยการอ่านค่า psa ระดับต่าง ๆ มีความหมายดังนี้
- ค่า psa น้อยกว่า 4 นาโนกรัม/มิลลิลิตร หมายถึง ไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมีโอกาสต่ำที่จะตรวจเจอโรค หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์
- ค่า psa ระหว่าง 4-10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร หมายถึง มีโอกาสตรวจเจอมะเร็งต่อมลูกหมาก ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์
- ค่า psa เกินกว่า 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร หมายถึง มีโอกาสตรวจเจอมะเร็งต่อมลูกหมาก มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ผู้ชายควรเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
โดยทั่วไป การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด จะใช้วิธีเจาะตัวอย่างเลือดแล้วนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งก่อนเข้ารับการเจาะเลือดต้องอดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยการตรวจแบบนี้เรียกว่าการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar Test) และการอ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือดมีความหมายดังนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง สุขภาพปกติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง กำลังเป็นโรคเบาหวานอยู่ ทั้งนี้ ผู้ชายมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า โดย
ผู้ชายควรเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ในกรณีต่อไปนี้
- มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- อายุ 45 ปีขึ้นไป
- มีภาวะน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วน หรือมีค่าดรรชนีมวลกายมากกว่า 25
- มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เช่น สูบบุหรี่จัด ไม่ชอบออกกำลังกาย ชอบรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาลหรือไขมัน
ตรวจระดับความดันโลหิต
ปกติแล้ว ระดับความดันโลหิตจะตรวจด้วยเครื่องวัดความดัน ซึ่งสวมเข้ากับต้นแขนของผู้เข้ารับการตรวจ และจะแสดงผลเป็นตัวเลข
ผู้ที่มีสุขภาพดี ระดับความดันโลหิตจะน้อยกว่าหรือเท่ากับ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ส่วนการอ่านระดับความดันโลหิตที่สูงกว่านั้น มีความหมายดังนี้
- ระดับความดันโลหิตตัวบนอยู่ในช่วง 120–129 มิลลิเมตรปรอท และระดับความดันโลหิตตัวล่างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 80 หมายถึง ระดับความดันโลหิตเริ่มสูง หรือมีแนวโน้มแย่ลงในอนาคต
- ระดับความดันโลหิตตัวบนสูงกว่าหรือเท่ากับ 130 มิลลิเมตรปรอท และระดับความดันโลหิตตัวล่างสูงกว่าหรือเท่ากับ 80 หมายถึง ระดับความดันโลหิตสูง ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด
ทั้งนี้ ผู้ชายอายุ 18 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจระดับความดันโลหิตทุก ๆ 2-5 ปี และควรเข้ารับการตรวจทุก ๆ 1 ปี หากมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- อายุ 40 ปีขึ้นไป
- เป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน
- มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวาน
ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด
การตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count) เป็นการตรวจระดับองค์ประกอบของเลือด เพื่อหาความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ ซึ่งสัมพันธ์กับระดับองค์ประกอบของเลือด
สำหรับค่าปกติขององค์ประกอบของเลือดในเพศชาย มีรายละเอียดดังนี้
- เซลล์เม็ดเลือดแดง ควรอยู่ที่ระดับ 4,500,000-5,900,000 เซลล์/ไมโครลิตร
- เซลล์เม็ดเลือดขาว ควรอยู่ที่ระดับ 4,500-11,000 เซลล์/ไมโครลิตร
- เกล็ดเลือด ควรอยู่ที่ระดับ 150,000-450,000 เกล็ดเลือด/ไมโครลิตร
- โปรตีนฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ควรอยู่ที่ระดับ 14-17.5 กรัม/เดซิลิตร
- ฮีมาโทคริต (Hematocrit) หรือความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงต่อปริมาณเลือดทั้งหมด ควรอยู่ที่ระดับ 5-50.4 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีโดยทั่วไป มักมีการตรวจความสมบูรณ์ของเลือดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ชายควรเข้ารับการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หากมีอาการต่อไปนี้
- อ่อนแรง
- เป็นไข้
- ระบมหรือเจ็บภายในร่างกาย
- มีรอยจ้ำหรือรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ
สำหรับการตรวจสุขภาพ เพศชาย แบบอื่น ที่สามารถขอตรวจได้ตามสถานพยาบาลทั่วไป ได้แก่
- การตรวจระดับไขมันในเลือด
- การตรวจระดับกรดยูริก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคเก๊าท์
- การตรวจระดับฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน
- การตรวจระดับครีตินิน (Creatinine) ในเลือด ซึ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานของไต รวมถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต
- การตรวจมะเร็งตับหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ
- การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ เพศชาย มีอะไรบ้าง
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
- งดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง (ดื่มน้ำเปล่าได้ในปริมาณที่ไม่มากกว่าปกติ) แต่หากมีการตรวจอัลตราซาวด์ให้งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกสำหรับการเจาะเลือดบริเวณข้อพับแขน
- งดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ และวิตามินซีอย่างน้อย 3 วัน หากมีการตรวจอุจจาระ
- เตรียมรายชื่อยาหรือตัวอย่างยาสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวติดตัวไปด้วย
- เตรียมประวัติการฉีดวัคซีนต่าง ๆ เพื่อรายงานให้คุณหมอทราบ