backup og meta

กล่องโฟมบรรจุอาหาร บรรจุภัณฑ์อันตราย ทำร้ายคุณ ทำร้ายโลก

กล่องโฟมบรรจุอาหาร บรรจุภัณฑ์อันตราย ทำร้ายคุณ ทำร้ายโลก

เราก็คุ้นชินกับการใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารกันมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในสังคมเมือง ที่พ่อค้าแม่ค้าร้านอาหาร ต่างก็นิยมใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารให้ลูกค้านำกลับบ้าน เพราะใช้งานสะดวก เหมาะกับชีวิตที่เร่งรีบ และผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ชื่นชอบในความสะดวกนี้เช่นกัน โดยที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่า กล่องโฟมบรรจุอาหาร สามารถสร้างความเสียหายให้กับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน

แต่ในปัจจุบัน เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรง ผู้คนบางส่วนเริ่มตื่นตัวกับภาวะโลกร้อน และได้รู้ว่า กล่องโฟมบรรจุอาหารนั้นเป็นภัยเงียบที่บั่นทอนเราและโลกมานานเกินไปแล้ว หลายภาคส่วนจึงได้รณรงค์ให้ทุกคนหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย หรือย่อยสลายได้ง่ายแทน แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังเคยชินกับความสะดวกของกล่องโฟม Hello คุณหมอ อยากแนะนำให้คุณอ่านบทความนี้จนจบ แล้วคุณอาจจะเปลี่ยนความคิด เลิกใช้บรรจุภัณฑ์อันตรายอย่างกล่องโฟม แล้วหันมารักโลกและรักตัวเองมากขึ้นก็ได้

กล่องโฟมตัวร้าย… อีกหนึ่งตัวการทำโลกร้อน

กล่องโฟมบรรจุอาหารส่วนใหญ่ที่ใช้กันนั้น ผลิตจากพลาสติกชนิดโพลีสไตรีน (Polystyrene หรือ PS) ที่เติมสารช่วยในการขยายตัวอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ และเพนเทน (Pentane) เข้าไป ช่วยให้พลาสติกพองตัว และนำไปขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุอาหารรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟม ถ้วยโฟม หรือจานโฟม

กล่องโฟมบรรจุอาหาร ได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีราคาถูกและเป็นฉนวนกันความร้อนชั้นดี ทำให้อาหารที่บรรจุไว้ร้อนได้นาน จึงทำให้ชีวิตเราจะสะดวกสบายขึ้นมาก หลายคนจึงอาจไม่ทันได้ฉุกคิดว่า กล่องโฟมนั้นทำร้ายโลกเราได้มากขนาดไหน โดยภาชนะบรรจุอาหารจากโฟม เช่น กล่องโฟม นั้นต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1,000 ปี นำกลับมารีไซเคิลก็ยาก และเมื่อถูกทิ้งปะปนอยู่ในธรรมชาติ ก็อาจทำให้สัตว์ป่าเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารจนเผลอกินเข้าไป และส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารจนเป็นอันตรายถึงตายได้ อีกทั้งกระบวนการผลิตและการกำจัดกล่องโฟมหลังจากใช้งาน ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนด้วย

กล่องโฟมบรรจุอาหาร เข้าไมโครเวฟได้ไหม

แค่ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารยังไม่พอ บางคนยังเอาความสะดวกเข้าว่า ซื้ออาหารใส่กล่องโฟมกลับบ้านมาแล้วก็เอาไปอุ่นในไมโครเวฟทั้งอย่างนั้นเลย ซึ่งนั่นถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเรานำกล่องโฟมบรรจุอาหารไปเข้าไมโครเวฟ อาจทำให้พลาสติก หรือสารประกอบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเป็นกล่องโฟมรั่วไหลเข้าสู่อาหารได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ ชีส ของทอด

แนะนำว่า เมื่อกลับมาถึงบ้าน ให้คุณรีบนำอาหารออกจากกล่องโฟมทันที หากอยากนำอาหารเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ ก็ต้องใช้ภาชนะประเภทแก้ว เซรามิก หรือกล่องพลาสติกที่ระบุว่าสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้เท่านั้น

ปัญหาสุขภาพที่มาพร้อม กล่องโฟมบรรจุอาหาร

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า หากร่างกายของเราได้รับสไตรีน (Styrene) ซึ่งเป็นสารประกอบหลักของกล่องโฟมบรรจุอาหาร อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตา ระบบทางเดินหายใจส่วนบน และระบบทางเดินอาหารได้ และหากเราได้รับสไตรีนเข้าสู่ร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง เช่น ปวดศีรษะ เป็นโรคซึมเศร้า เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย สูญเสียการได้ยิน ไตทำงานผิดปกติ อีกทั้งผลการวิจัยในมนุษย์และสัตว์หลายชิ้นยังพบว่า สไตรีน (Styrene) นั้นเป็นสารก่อมะเร็งด้วย โดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แล้วเราจะใช้อะไรแทนกล่องโฟมได้บ้าง

ปัจจุบันมีภาชนะบรรจุน้ำและอาหารที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้คุณได้เลือกซื้อหามาใช้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเยื่อไผ่ กระดาษรีไซเคิล ข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าวสาลี นอกจากนี้ก็ยังมีกล่องข้าวพลาสติกแบบคุณภาพดี กล่องสแตนเลส ปิ่นโตสแตนเลส หรือกล่องอาหารแบบแก้ว ให้คุณเลือกใช้งานหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ความต้องการและงบประมาณที่มี แต่แนะนำว่าให้เลือกซื้อแบบที่ผลิตได้มาตรฐานมาใช้งาน ก็จะใช้ได้นาน ช่วยโลกได้ และดีต่อสุขภาพของคุณอย่างแท้จริง

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Can You Microwave Styrofoam, and Should You?. https://www.healthline.com/nutrition/can-you-microwave-styrofoam. Accessed January 22, 2020

Styrene and Styrofoam 101. https://saferchemicals.org/2014/05/26/styrene-and-styrofoam-101-2/. Accessed January 22, 2020

Styrofoam. https://cehn.org/our-work/eco-healthy-child-care/ehcc-faqs/faqs-styrofoamtm/. Accessed January 22, 2020

Is Styrofoam Safe?. https://www.drweil.com/health-wellness/balanced-living/healthy-living/is-styrofoam-safe/. Accessed January 22, 2020

Why you should say NO to Styrofoam. https://www.1millionwomen.com.au/blog/why-you-should-say-no-styrofoam/. Accessed January 22, 2020

ไม่ใช้กล่องโฟม. http://vrd-sn.dld.go.th/webnew/index.php/en/news-menu-3/2019-01-16-02-51-27/226-2019-01-16-03-32-49. Accessed January 22, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/02/2021

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้าว 10 ปี กินได้อยู่ไหม? อันตรายรึเปล่า?

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวออร์แกนิก ที่ดีต่อสุขภาพผิว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 02/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา