backup og meta

กินช้า แต่อิ่มนานขึ้น แถมยังช่วยในการลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย

กินช้า แต่อิ่มนานขึ้น แถมยังช่วยในการลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย

เคยลองถามตัวเองดูสักครั้งไหมว่า ในอาหารแต่ละมื้อ แต่ละคำที่ตักเข้าปากไปนั้น เราใช้เวลาเคี้ยวอาหารนานแค่ไหน? เพราะในปัจจุบันมีการพบว่าการ กินช้า หรือการบดเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น มีส่วนในการเสริมสร้างสุขภาพและสุขภาวะการกินที่ดีได้ แต่จะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามกันได้ในบทความนี้จาก Hello คุณหมอ

กินช้า คืออะไร

ในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างก็ใช้ชีวิตกันอย่างเร่งรีบไปเสียทุกอย่าง ไม่เว้นกระทั่งการรับประทานอาหาร สำหรับอาหารหนึ่งจาน บางคนใช้เวลาเพียง 3-5 นาที ในการกินอาหาร ซึ่งการกินเร็วเช่นนั้น เสี่ยงที่อาจจะทำให้อาหารติดคอ เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้ระบบย่อยอาหารต้องทำงานหนัก หรือมีอาการอาหารไม่ย่อย แต่ การกินช้า ค่อย ๆ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ใช้เวลาในการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้มากขึ้น เคี้ยวอาหารแต่ละคำประมาณ20ครั้งหรือมากกว่านั้น มีหลากหลายงานวิจัยค้นพบว่า การกินช้า ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ

ประโยชน์ของ การกินช้า

กินช้าช่วยลดความอยากอาหาร

ใครที่กำลังควบคุมอาหารไม่ควรมองข้ามประโยชน์ในข้อนี้ เพราะโดยปกติแล้วความอยากอาหารและระดับของปริมาณแคลอรีในร่างกายจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมน หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ลำไส้จะส่งสัญญาณไปที่สมองให้ยับยั้งฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว ชื่อว่า ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) และปล่อยฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่มเข้ามาแทนที่ โดยกระบวนการยับยั้งและปลดปล่อยฮอร์โมนเหล่านี้ออกจากสมองจะใช้ระยะเวลาประมาณ 20 นาที ดังนั้น หากกินอาหารให้ช้าลง ก็จะทำให้สมองมีเวลาในการรับสัญญาณการยับยั้งความหิวและปล่อยความรู้สึกอิ่มได้ดีมากยิ่งขึ้น

กินช้าช่วยลดแคลอรี

เนื่องจาก การกินช้า จะทำให้รู้สึกอิ่มได้นานถึง 60 นาที หรืออาจมากกว่านั้นหลังจากที่ได้รับประทานอาหารเข้าไป และการกินช้ายังเป็นการเพิ่มระดับของฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่มในลำไส้ จึงทำให้ไม่ค่อยหิวบ่อย ๆ มีผลดีที่จะช่วยลดแคลอรี่ในมื้ออาหารถัดไปที่อาจจะมีวัตถุดิบซึ่งสามารถเพิ่มแคลอรี่ให้ร่างกายมากเกินความจำเป็น

กินช้าดีต่อระบบย่อยอาหาร

กระบวนการย่อยอาหาร เริ่มต้นตั้งแต่มีการตักอาหารเข้าสู่ปาก มีการบด การเคี้ยว ก่อนจะลงสู่หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร เรื่อยไปจนถึงลำไส้ต่าง ๆ เมื่อนึกภาพตามดังนี้จะพบว่า ถ้าหากกินอาหารด้วยความเร่งรีบจนเกินไป และมีการบดเคี้ยวอาหารที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการบดเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่ ถ้าหากไม่เคี้ยวให้ละเอียดตั้งแต่ตอนที่อาหารอยู่ในปาก ก็จะทำให้กระบวนการย่อยอาหารส่วนอื่น ๆ ต้องทำงานหนักขึ้น

กระเพาะอาหารต้องใช้เวลานานกว่าจะย่อยอาหารที่แทบจะไม่ผ่านการเคี้ยว หรือไม่มีการเคี้ยวเลย บางครั้งอาจไม่สามารถย่อยที่กระเพาะอาหารได้หมด จึงถูกส่งต่อไปยังลำไส้เพื่อทำการย่อยต่อไป และอาหารที่ย่อยไม่หมดเหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นปัญหาที่เรารู้จักกันดีอย่าง อาหารไม่ย่อย และยังอาจเสี่ยงที่จะมีปัญหาในระบบการย่อยอาหารอื่น ๆ ตามมาได้อีกเช่นกัน ดังนั้น การกินช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะเป็นการช่วยให้ระบบย่อยอาหารของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่ออาการทางสุขภาพใด ๆ

กินช้าทำให้รู้สึกดี

การใช้เวลาในการรับประทานอาหารนานขึ้นสักหน่อย ค่อย ๆ เคี้ยวจนอาหารละเอียด สมองจะส่งสัญญาณแห่งความสุข ความพึงพอใจออกมา การกินช้า จึงไม่เพียงแค่ทำให้รู้สึกอิ่ม แต่ยังทำให้คุณรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากความรู้สึกอิ่มโดยทั่วไป

กินช้าเพิ่มระดับน้ำในร่างกาย

การขาดน้ำ เป็นอาการทางสุขภาพที่ควรกังวล การรับประทานอาหารให้ช้าลงสามารถเพิ่มระดับน้ำให้ร่างกายได้ จากผลการวิจัยของ University of Rhode Island พบว่า ผู้ที่กินอาหารช้าลงจะได้ปริมาณน้ำในร่างกายประมาณ 409 มิลลิลิตร แต่ผู้ที่เคี้ยวอาหารอย่างรวดเร็ว จะได้ระดับน้ำจากการรับประทานอาหารที่ประมาณ 289 มิลลิลิตร แม้หลายคนอาจมองว่า แค่ดื่มน้ำตามเข้าไป เท่านี้ร่างกายก็จะได้ปริมาณน้ำให้แก่ร่างกายเพิ่มขึ้นแล้ว แต่จากผลการวิจัยพบว่า เสี่ยงที่จะทำให้รู้สึกอิ่มในระหว่างมื้ออาหาร มากกว่าที่จะรู้สึกอิ่มเป็นระยะเวลานานหลังมื้ออาหาร ซึ่งการกินช้านอกจากจะเพิ่มระดับน้ำในร่างกายแล้วก็ยังทำให้อิ่มได้นานขึ้นโดยที่ไม่ได้เป็นการอิ่มในระหว่างมื้ออาหารแต่อย่างใด

การกินช้ากับการลดน้ำหนัก

การกินช้า อาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้ เพราะการเคี้ยวอาหารช้าลง และนานขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มได้ไวและอิ่มได้นาน ไม่ทำให้หิวบ่อยในระหว่างวัน ทั้งยังเป็นการลดปริมาณแคลอรีในร่างกายลงได้อีก ดังนั้น ให้เวลากับอาหารแต่ละจานและแต่ละคำให้มากขึ้นกว่าเดิม เคี้ยวอาหารให้มากกว่าหรือประมาณ 20  ครั้งต่อคำ จะทำให้คุณได้รับประโยชน์จากการกินช้าลงได้อย่างแน่นอน

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

All About Eating Slowly. https://www.precisionnutrition.com/all-about-slow-eating. Accessed on February 20, 2020.

Does Eating Slowly Help You Lose Weight?. https://www.healthline.com/nutrition/eating-slowly-and-weight-loss. Accessed on February 20, 2020.

Why eating slowly may help you feel full faster. https://www.health.harvard.edu/blog/why-eating-slowly-may-help-you-feel-full-faster-20101019605. Accessed on February 20, 2020.

7 Tips to Eat Slower so You Can Move Faster. https://www.active.com/nutrition/articles/7-tips-to-eat-slower-so-you-can-move-faster?page=1. Accessed on February 20, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/05/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

สุขภาพดี ห่างไกลโรค ด้วยเคล็ดลับ กินอาหารตามกรุ๊ปเลือด

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ลดน้ำหนัก ได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 12/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา