Balanitis (ปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ) เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ชายทุกเพศทุกวัย โดยอาจสังเกตได้จากอาการเจ็บปวดบริเวณหัวขององคชาต ซึ่งควรเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท่อปัสสาวะตีบตัน ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะเพศ ภาวะปัสสาวะไหลย้อนกลับไปสู่ท่อไต
[embed-health-tool-heart-rate]
Balanitis คืออะไร
Balanitis คือ ภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดบวมและระคายเคืององคชาต โดยเฉพาะผู้ชายที่มีสุขอนามัยไม่ดีและไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ซูน บาลาไนติส (Zoon Balanitis) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ที่เกิดขึ้นบริเวณหัวองคชาต
- เซอร์ซิเนส บาลานิติส (Circinate Balanitis) อาจเกิดขึ้นในผู้ชายที่เป็นโรคข้ออักเสบที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อติดเชื้อและส่งผลให้เกิดแผลเล็ก ๆ บริเวณองคชาต
- เมเคทรัส บาลานิติส ( Micaceous Balanitis) เป็นประเภทที่พบได้น้อยที่สุดและอาจพบได้ในผู้สูงอายุ ที่ส่งผลให้เกิดหูดบริเวณหัวองคชาต
สาเหตุของ Balanitis
สาเหตุของภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ อาจมีดังต่อไปนี้
- การรักษาสุขอนามัยไม่ดี
- การแพ้สารระคายเคือง เช่น สบู่ เจลอาบน้ำ ถุงยางอนามัย น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก
- โรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเรื้อนกวาง ที่อาจก่อให้เกิดอาการคันผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคซิฟิลิส
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะน้ำตาลที่ถูกขับออกผ่านทางปัสสาวะอาจเป็นตัวกระตุ้นการเจริญเติบโตของยีสต์บริเวณอวัยวะเพศ นำไปสู่การติดเชื้อ
- ผู้ชายที่มีหนังหุ้มปลายตึงมากจนไม่สามารถดึงกลับเข้าที่มาทำความสะอาดได้ จึงอาจส่งผลให้เชื้อโรคสะสมจนนำไปสู่ภาวะปลายอวัยวะเพศอักเสบ
อาการของ Balanitis
อาการของภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ มีดังนี้
- รู้สึกปวดบวมและระคายเคืองบริเวณหัวองคชาต
- มีรอยแดงบริเวณองคชาต
- ตกขาวบริเวณใต้หนังหุ้มปลายองคชาต
- องคชาตมีกลิ่นเหม็น
- แสบอวัยวะเพศระหว่างปัสสาวะ
- เลือดออกบริเวณหนังหุ้มปลายองคชาต
- หนังหุ้มปลายตึงจนไม่สามรถดึงกลับเข้าที่หรือหดตัวได้
การวินิจฉัย Balanitis
การวินิจฉัยภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ อาจทำได้ดังนี้
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อดูว่ามีความเสี่ยงเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและโรคเบาหวานหรือไม่
- ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือของเหลวบริเวณปลายองคชาต
- ตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและการติดเชื้อ
วิธีรักษา Balanitis
วิธีรักษาภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ อาจมีดังต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อเช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียสำหรับผู้ที่มีภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ครีมต้านเชื้อรา เช่น โคลไตรมาโซล (Clotimazole) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ไมโคนาโซล (Miconazole) ใช้ทาบริเวณปลายองชาตเพื่อช่วยรักษาการติดเชื้อรา
- ครีมสเตียรอยด์ ใช้ทาเฉพาะที่เพื่อช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคผิวหนังหรืออาการแพ้
- การขลิบ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถดึงหนังหุ้มปลายกลับเข้าที่หรือมีภาวะหนังหุ้มปลายไม่เปิด โดยคุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดนำหนังหุ้มปลายออก
- การแช่น้ำเกลือ โดยเตรียมน้ำอุ่นแช่ในอ่างหรือกะละมังในระดับที่แช่ส่วนล่างได้พอดี จากนั้นเติมสารละลายเกลือลงในน้ำและแช่ลงไป เพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมขององคชาต
- การจัดการโรคเบาหวาน ด้วยการรับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ยารักษาเบาหวาน เช่น สารยับยั้งดีพีพี-4 (Dipeptidyl-Peptidase 4 Inhibitor) สารยับยั้งกลุ่มเอสจีแอลทีทู (SGLT2 Inhibitor) ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) รวมถึงการดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ผลไม้และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานมีแนวโน้มสูงต่อการเกิดภาวะปลายอวัยวะเพศชายอักเสบ
- การรักษาสุขอนามัย ด้วยการทำความสะอาดบริเวณหนังใต้หุ้มปลายด้วยน้ำอุ่นและสบู่อ่อนสูตรอ่อนโยน จากนั้นซับองคชาตให้แห้งสนิท อีกทั้งควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังจากจับองคชาต นอกจากนี้ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์