backup og meta

HIV อาการ ในแต่ละระยะของการติดเชื้อ เป็นอย่างไร

HIV อาการ ในแต่ละระยะของการติดเชื้อ เป็นอย่างไร

เมื่อติดเชื้อ HIV อาการ ที่ปรากฏจะแตกต่างไปในแต่ละระยะ โดยการติดเชื้อ HIV แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะการติดเชื้อเฉียบพลัน ระยะการติดเชื้อไม่แสดงอาการ และระยะโรคเอดส์ ทั้งนี้ หากผู้ติดเชื้อ HIV ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาดและปราศจากสารตกค้าง และรับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน จะช่วยชะลอหรือป้องกันไม่ให้เข้าสู่ระยะโรคเอดส์ได้ ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงปกติมากที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

HIV คืออะไร

HIV (เอชไอวี) ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่าเซลล์ซีดี 4 (CD4 cells) ซึ่งทำหน้าต่อสู้กับการติดเชื้อและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนี้น้อยลง จึงส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหากการติดเชื้อ HIV พัฒนาจนเข้าสู่ระยะสุดท้ายหรือระยะโรคเอดส์ (AIDs) ก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่มักรักษาได้ยากและติดเชื้อซ้ำได้ง่าย เช่น วัณโรค การติดเชื้อรา การติดเชื้อในสมอง

เชื้อ HIV สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสหรือได้รับของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย เป็นวิธีที่พบได้บ่อยมากที่สุด
  • การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เช่น การเสพยาเสพติดด้วยกัน
  • การสัมผัสเลือดหรือของเหลวของผู้ติดเชื้อ แล้วนำเข้าสู่ร่างกาย เช่น ดวงตา ปาก
  • การส่งผ่านเชื้อจากคุณแม่ไปยังทารกในครรภ์ ในระหว่างคลอด หรือระหว่างให้นม

HIV อาการ เป็นอย่างไร

การติดเชื้อ HIV อาการ อาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

1. การติดเชื้อระยะแรก (First Stage)

ผู้ที่ติดเชื้อ HIV จะไม่ทราบในทันทีว่าตัวเองได้รับเชื้อ โดยทั่วไปแล้ว อาการอาจเริ่มปรากฎภายใน 2-6 สัปดาห์หลังจากเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มกระบวนการต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามา ระยะนี้ บางครั้งเรียกว่า การติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infection) ผู้ติดเชื้อจะมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสทั่วไป และอาจคิดว่าเป็นอาการของไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่ โดยอาจมีอาการต่อไปนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ จากนั้นอาการจะหายไป

  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม
  • มีผื่นแดงตามตัวโดยไม่มีอาการคัน
  • มีไข้
  • มีแผลเปื่อยหรือแผลร้อนในในช่องปาก กระเพาะอาหาร ทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ

หากพบว่ามีอาการดังกล่าวหลังจากสัมผัสใกล้ชิดหรือมีเพศสัมพันธ์กับที่ผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ HIV ในช่วง 2-6 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือสัมผัสใกล้ชิดแต่ไม่มีอาการ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV

การเข้ารับการตรวจเชื้อ HIV ตั้งแต่ติดเชื้อระยะแรกถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นระยะที่เชื้อไวรัสในร่างกายมีความเข้มข้นสูง ทำให้แพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ การรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยังช่วยให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สูงขึ้นเพื่อจะได้ต่อสู้กับเชื้อได้ดีขึ้น และช่วยบรรเทาอาการได้มากขึ้น

2. การติดเชื้อในระยะที่ 2 (Second Stage)

หลังจากระบบภูมิคุ้มกันแพ้ให้กับเชื้อไวรัส HIV เชื้อจะแฝงตัวอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการ และอาการป่วยก่อนหน้านี้ก็จะหายไป แต่บางคนก็อาจมีอาการป่วยเล็กน้อยอยู่บ้าง ระยะนี้เรียกว่า ระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage) บางครั้งก็เรียกว่าระยะติดเชื้อเรื้อรัง (chronic HIV infection) หรือระยะการติดเชื้อไม่แสดงอาการ (Asymptomatic period) ตามปกติแล้วร่างกายจะมีเซลล์ซีดีโฟร์ (CD4 T cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ (T-cell) ที่ทำงานร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ แต่เมื่อการติดเชื้อดำเนินมาถึงระยะนี้ เชื้อไวรัส HIV จะทำลายเซลล์ CD4 และทำลายระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา เช่น การรับประทานยาต้านไวรัส จำนวนเซลล์ CD4 จะลดลงเรื่อย ๆ และทำให้เสี่ยงติดเชื้ออื่น ๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลงอย่างมาก

ผู้ป่วยหลายคนที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมด้วยการใช้ยาต้านไวรัสและดูแลตัวเองอย่างดีสามารถอยู่ในระยะนี้เป็นเวลาหลายปีและใช้ชีวิตได้ตามปกติ นอกจากนี้ การรับประทานยาต้านไวรัสสม่ำเสมอยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ด้วย

3. การติดเชื้อในระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์

ระยะที่ 3 หรือระยะโรคเอดส์ ถือเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นระยะที่ร่างกายมีปริมาณเซลล์ CD4 น้อยกว่า 200 และระบบภูมิคุ้มกันเสียหายอย่างหนัก ระยะนี้อาจเกิดขึ้นประมาณ 10 ปีหลังจากได้รับเชื้อ HIV หากผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยอาจติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย ไม่สบายบ่อยครั้ง และมีอาการป่วยหนักเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอมาก นอกจากนี้ ยังอาจมีโรคแทรกซ้อนที่เกิดในระยะนี้ หรือที่เรียกว่า โรคที่บ่งชี้ของการเป็นเอดส์ (AIDS-defining illness) เช่น โรคปวดอักเสบหรือโรคปอดบวม โรคคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi Sarcoma) ซึ่งเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง

สำหรับผู้ที่ไม่ทราบว่าตัวเองได้รับเชื้อ HIV อาจเริ่มมีอาการที่สังเกตในระยะนี้ เช่น

  • รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  • ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณคอหรืออวัยวะเพศบวมโต
  • มีไข้นานกว่า 10 วัน
  • มีเหงื่อออกมากขณะนอนหลับในตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดลงโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด
  • มีจุดจ้ำหรือจุดเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุและไม่จางหายไป
  • หายใจลำบาก
  • ท้องร่วงอย่างรุนแรงและยาวนาน
  • มีการติดเชื้อราในช่องปาก ลำคอ หรืออวัยวะเพศ
  • อาการทางระบบประสาท เช่น การสูญเสียความทรงจำ ปัญหาการทรงตัว อาการสับสน อาการชัก การมองเห็นที่เปลี่ยนไป

วิธีรักษาเมื่อติดเชื้อ HIV

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ให้หายได้ ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสแบบชุด หรือเออาร์ที (Antiretroviral therapy หรือ ART) อาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น และช่วยไม่ให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้นได้ แม้การรับประทานยาต้านไวรัสสม่ำเสมอจะไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ก็จริง แต่ก็ช่วยให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีขึ้น หากผู้ป่วย HIV ในระยะสุดท้ายไม่รับประทานยาต้านไวรัส อาจเสียชีวิตภายใน 3 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้นหากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน

ทั้งนี้ แม้จะเริ่มรักษาเมื่อโรคอยู่ในระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้ายแล้ว แต่หากเป็นการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น การรับประทานยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันไม่ขาด การปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และดูแลตัวเองเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนทั่วไปได้

โรคเอดส์ ป้องกัน ได้อย่างไร

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น อาจทำได้ดังนี้

  • เข้ารับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases หรือ STDs) เป็นประจำ โดยเฉพาะหากมีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนเป็นประจำ
  • จำกัดจำนวนคู่นอน และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ตามปกติแล้วถุงยางอนามัยจะมีอายุการใช้งานเพียง 30 นาทีเท่านั้น หากต้องการใช้งานนานกว่านั้น ควรเปลี่ยนถุงยางใหม่
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงในการได้รับเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง
  • สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ สามารถปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อ HIV เช่น ยาเพร็พ (PrEP หรือ Pre-Exposure Prophylaxis) ซึ่งเป็นยาชนิดรับประทานก่อนมีความเสี่ยงสัมผัสกับเชื้อ HIV และยาเป็ป (PEP หรือ Post-exposure prophylaxis) ซึ่งเป็นยาชนิดรับประทานในกรณีฉุกเฉินเนื่องจากเสี่ยงสัมผัสเชื้อ HIV เช่น ถุงยางอนามัยแตก มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงอนามัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

HIV/AIDS. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hiv-aids/symptoms-causes/syc-20373524. Accessed February 21, 2023

HIV and AIDS. https://www.nhs.uk/conditions/hiv-and-aids/symptoms/. Accessed February 21, 2023

HIV Symptoms. https://www.webmd.com/hiv-aids/understanding-aids-hiv-symptoms. Accessed February 21, 2023

HIV. https://medlineplus.gov/hiv.html. Accessed February 21, 2023

What are the symptoms of HIV & AIDS?. https://www.plannedparenthood.org/learn/stds-hiv-safer-sex/hiv-aids/what-are-symptoms-hivaids. Accessed February 21, 2023

About HIV/AIDS | HIV Basics – CDC. https://www.cdc.gov/hiv/basics/whatishiv.html. Accessed February 21, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เราสามารถ ติดเชื้อ HIV ได้อย่างไรบ้าง

ตรวจ HIV วิธีสังเกตอาการและการดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา