backup og meta

อสุจิปนเลือด สาเหตุ และการรักษา

อสุจิปนเลือด สาเหตุ และการรักษา

อสุจิปนเลือด อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น หลอดเก็บอสุจิอักเสบ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้น หากสังเกตว่าอสุจิมีเลือดปน ร่วมกับมีอาการปัสสาวะลำบาก เจ็บแสบองคชาตและอัณฑะ หรือองคชาตบวม ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาทันที

[embed-health-tool-bmr]

สาเหตุที่ทำให้อสุจิปนเลือด

สาเหตุที่ทำให้อสุจิปนเลือด อาจมีดังนี้

  • การติดเชื้อและการอักเสบ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หลอดเก็บอสุจิอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ส่งผลให้อสุจิปนเลือด
  • ติ่งเนื้อหรือเนื้องอก หากผู้ป่วยมีติ่งเนื้อหรือเนื้องอกบริเวณอัณฑะ ต่อมลูกหมาก หรือหลอดเก็บอสุจิ ก็อาจส่งผลให้อสุจิปนเลือด ซึ่งควรเข้ารับการรักษาทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งอัณฑะ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งต่อมลูกหมากได้
  • ต่อมลูกหมากโต อาจส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณอวัยวะเพศได้รับความเสียหาย ทำให้หลอดเลือดแตก และมีอสุจิปนเลือด
  • บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น การกระแทกอย่างรุนแรงที่บริเวณอัณฑะ รวมถึงการรักษาทางการแพทย์ เช่น การฉายรังสีบำบัดเพื่อรักษาเนื้องอก การฝังแร่กัมมันตรังสีเพื่อรักษามะเร็ง การฉีดริดสีดวงทวาร การทำหมัน การทำกิจกรรมทางเพศรุนแรงมากเกินไป อาจส่งผลให้หลอดเลือดในบริเวณอวัยวะเพศชายแตก และมีอสุจิปนเลือด

นอกจากนี้ อสุจิปนเลือด ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ โรคพยาธิใบไม้ในเลือด วัณโรค และผลข้างเคียงจากการใช้วาร์ฟาริน

อาการอสุจิปนเลือดที่ควรไปพบคุณหมอ

อาการอสุจิปนเลือดที่ควรไปพบคุณหมอ มีดังนี้

  • แสบร้อนอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะหดเกร็ง
  • รู้สึกเจ็บอวัยวะเพศเมื่อมีการหลั่งอสุจิ
  • อัณฑะบวมและรู้สึกปวด
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีไข้

สำหรับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และไม่มีอาการใด ๆ นอกจากอสุจิปนเลือด ควรสังเกตตัวเองสักระยะว่าเลือดในอสุจิค่อย ๆ จางลงหรือไม่ หากเป็นนานกว่า 3 วัน ถึง 1 สัปดาห์ หรือเริ่มมีอาการเจ็บปวดขณะปัสสาวะ และอัณฑะบวม ควรเข้าพบคุณหมอทันที

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป ที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ภาวะเลือดออกผิดปกติ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุโดยเร็ว

การรักษาอาการอสุจิปนเลือด

การรักษาอาการอสุจิปนเลือด อาจทำได้ดังนี้

การรักษาอสุจิปนเลือดด้วยตัวเอง

ปกติแล้วอาการอสุจิปนเลือดสามารถหายได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากมีอาการเจ็บปวด อัณฑะบวมร่วมด้วย ควรใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ครั้งละ 10-20 นาที และควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

การรักษาอสุจิปนเลือดด้วยวิธีทางการแพทย์

  • ยาปฏิชีวนะ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอสุจิปนเลือดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม
  • ยาต้านไวรัส เหมาะสำหรับผู้ที่มีอสุจิปนเลือดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เริม หูดหงอนไก่ เอดส์
  • ยาแก้อักเสบ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการอักเสบ ใช้เพื่อช่วยลดการอักเสบและอาการบวมบริเวณอวัยวะเพศ
  • การผ่าตัด เหมาะสำหรับผู้ที่มีการอุดตันในระบบสืบพันธุ์ เช่น ท่อน้ำอสุจิอุดตัน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงผู้ที่มีเนื้องอกหรือติ่งเนื้อในระบบสืบพันธุ์ เพื่อแก้ปัญหาการอุดตันที่ขวางทางเดินปัสสาวะจนทำให้หลอดเลือดในบริเวณที่ได้รับผลกระทบแตกออกและมีอสุจิปนเลือด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Blood in semen. https://www.nhs.uk/conditions/blood-in-semen/.Accessed September 08, 2022

Blood in Semen (Hematospermia). https://www.webmd.com/men/guide/blood-in-semen-hematospermia-causes-symptoms-tests-treatments.Accessed September 08, 2022

Blood in Semen. https://www.mayoclinic.org/symptoms/blood-in-semen/basics/definition/sym-20050603.Accessed September 08, 2022

Blood in the semen (haematospermia). https://www.baus.org.uk/patients/conditions/1/blood_in_the_semen_haematospermia/.Accessed September 08, 2022

Hematospermia demystified. https://www.health.harvard.edu/blog/hematospermia-demystified-2009031142.Accessed September 08, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/02/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้น้ำอสุจิ อาการ สาเหตุ และการป้องกัน

กินน้ำอสุจิ เป็นอะไรไหม ปลอดภัยหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ธิบดี หฤไชยะศักดิ์

สุขภาพทางเพศ · Dionysus Fertility Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา