backup og meta

ดอกเล็บ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

ดอกเล็บ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

ดอกเล็บ เป็นภาวะที่มีรอยสีขาว เป็นจุด เป็นเส้น หรือแถบยาวตามขวางของเล็บ เกิดได้ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า สาเหตุของดอกเล็บมักเกิดจากการบาดเจ็บของแผ่นเล็บ การสัมผัสกับสารเคมี โดยทั่วไป ดอกเล็บไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเมื่อเล็บบริเวณที่มีดอกเล็บยาวพ้นเนื้อแล้วอาจตัดออกไปได้ อย่างไรก็ตาม หากเล็บมีจุดสีขาวเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น การขาดวิตามิน การติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

[embed-health-tool-heart-rate]

ดอกเล็บคืออะไร

ดอกเล็บ (Leukonychia) คือ ขีดสีขาวที่ปรากฏอยู่บนเล็บมือหรือเล็บเท้า ภาวะนี้พบได้บ่อยและมักไม่เป็นอันตรายรุนแรง ลักษณะของดอกเล็บมีหลายแบบ ที่พบบ่อย เช่น

  • ดอกเล็บเป็นจุดสีขาวเล็ก ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุด
  • ดอกเล็บเป็นเส้นแนวตั้งด้านบนของเล็บ
  • ดอกเล็บเป็นตรงเส้นตามแนวขวางของเล็บ

ดอกเล็บเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เกิดดอกเล็บ อาจมีดังนี้

  • การบาดเจ็บที่เล็บ อุบัติเหตุ เช่น การปิดประตูทับเล็บ ของหล่นทับนิ้วมือ หรือพฤติกรรมบางอย่างที่อาจส่งผลเสียต่อเล็บ เช่น การกัดเล็บ การตกแต่งเล็บ การใส่รองเท้าคับจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดจุดขาวบนแผ่นเล็บตามความยาวของเล็บได้
  • สารเคมีบางชนิด เช่น ตะกั่ว สารหนู เคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็ง อาจทำให้เกิดดอกเล็บที่เป็นแนวขวางตามความกว้างของเล็บ
  • การติดเชื้อรา โรคเชื้อราหรือการติดเชื้อของเล็บหรือโรคผิวหนังรอบ ๆ เล็บอาจทำให้เกิดจุดขาวได้ หากการติดเชื้อราลุกลาม อาจทำให้เล็บเปลี่ยนสี หนาขึ้น และขอบเล็บแตก
  • พันธุกรรม ในบางคนอาจมีลักษณะที่ถ่ายทอดตามพันธุกรรมบางอย่างที่ส่งผลต่อการสะสมโปรตีนเคราตินในเนื้อเยื่อ อาจทำให้เล็บมีลักษณะเป็นเส้นขาวแนวขวางตามความกว้างของเล็บ
  • โรคประจำตัว ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคตับแข็ง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง ภาวะหัวใจล้มเหลว อาการขาดธาตุสังกะสี อาจส่งผลให้เกิดดอกเล็บได้
  • การขาดแร่ธาตุ ภาวะขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น ธาตุสังกะสี ธาตุเหล็ก อาจส่งผลให้การสร้างเซลล์เล็บไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดดอกเล็บได้

วิธีรักษาดอกเล็บ

ดอกเล็บมักหายได้โดยไม่ต้องรักษา แค่รอให้เล็บส่วนที่มีดอกเล็บงอกพ้นเนื้อก็สามารถตัดเล็บส่วนนั้นออกได้ อย่างไรก็ตาม หากดอกเล็บเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การบาดเจ็บของเล็บ อาจต้องรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดดอกเล็บ วิธีรักษาและป้องกันอาการดอกเล็บสีขาวโดยทั่วไป อาจทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เล็บบาดเจ็บและเกิดเส้นสีขาวบนเล็บ เช่น การกัดเล็บ การทำเล็บ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารระคายเคืองหรือสารเคมีที่อาจทำให้เกิดดอกเล็บ
  • หากดอกเล็บเกิดจากการติดเชื้อรา ควรรักษาอาการติดเชื้อด้วยยาต้านเชื้อรา หากติดเชื้อราในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง อาจรักษาด้วยการทายาต้านเชื้อราแบบครีมหรือยาน้ำใสทั่วเล็บที่เป็นโรคและผิวหนังที่อยู่ติดกับเล็บ หากเล็บติดเชื้อราในระดับปานกลางถึงรุนแรงอาจรักษาด้วยยาต้านเชื้อราแบบรับประทาน เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine)
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี วิตามินบี 7 แมกนีเซียม โปรตีน ไขมัน แคลเซียม สังกะสี เช่น เนื้อสัตว์แดงไม่ติดมัน เครื่องในสัตว์ แป้ง ไข่แดง ถั่ว อาหารทะเล ผักใบเขียว นมวัว เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเล็บ ช่วยไม่ให้เล็บเปราะหรือฉีกง่าย อย่างไรก็ตาม ควรได้รับสารอาหารอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ให้หลากหลายและให้ได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการด้วย เพื่อส่งเสริมสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Nail fungus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nail-fungus/symptoms-causes/syc-20353294.  Accessed January 31, 2023.

Slideshow: What Your Nails Say About Your Health. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-nails-and-health. Accessed January 31, 2023.

White nail. https://dermnetnz.org/topics/white-nail. Accessed January 31, 2023.

6 Steps to Improved Nail — and Overall – Health. https://www.webmd.com/beauty/news/20110804/6-steps-improved-nail-health. Accessed January 31, 2023.

Nail problems. https://www.nhs.uk/conditions/nail-problems/. Accessed January 31, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/04/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตัดเล็บ อย่างไร ให้ปลอดภัยและถูกวิธี

เล็บขาว สาเหตุ และการดูแลสุขภาพเล็บ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา