backup og meta

เล็บเป็นคลื่น เกิดจากอะไร สามารถรักษาได้หรือไม่

เล็บเป็นคลื่น เกิดจากอะไร สามารถรักษาได้หรือไม่

เล็บเป็นคลื่น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ปัญหาสุขภาพ พฤติกรรมการดูแลเล็บไม่ดี ส่งผลให้เล็บมีลักษณะเป็นร่องคล้ายกับคลื่นในแนวตั้ง ซึ่งอาจลากยาวตั้งแต่โคนเล็บจนถึงปลายเล็บ หรือเป็นแนวนอนจากขอบเล็บด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง บางคนอาจมีอาการผิวหนังรอบเล็บลอกและรู้สึกเจ็บร่วมด้วย การรักษาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเล็บเป็นคลื่น ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสม

[embed-health-tool-bmr]

เล็บเป็นคลื่น เกิดจากอะไร

เล็บเป็นคลื่นอาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

  • อายุมากขึ้น เล็บเป็นคลื่นอาจเกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้เล็บมีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น เล็บเป็นคลื่น เล็บหนา เล็บแตกง่าย และเล็บมีรอยแยก
  • ภาวะขาดสังกะสี สังกะสีที่อยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น อาหารทะเล ถั่ว ผัก ผลไม้ สัตว์ปีก มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเล็บ ช่วยฟื้นฟูเล็บที่เสียหาย หากร่างกายมีระดับสังกะสีน้อยก็อาจส่งผลให้การเจริญเติบโตของเล็บไม่สมบูรณ์ ทำให้เล็บเป็นคลื่น ไม่เรียบเนียน นอกจากนี้ การขาดสังกะสียังอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องได้
  • โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่กระตุ้นการผลิตเซลล์ผิวหนังมากเกินไป ทำให้เล็บมีลักษณะเปลี่ยนแปลง เช่น เล็บหนา เป็นรูพรุนบนเล็บ เล็บเป็นคลื่น เล็บเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล
  • โรคโลหิตจาง มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถนำส่งออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อในร่างกายได้เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้สีและลักษณะของเล็บเปลี่ยนแปลง เช่น เล็บเป็นคลื่นนูน เล็บแอ่นเป็นแอ่ง
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) จัดอยู่ในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเองซึ่งเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันเข้าโจมตีเซลล์ข้อต่อ จนส่งผลให้ข้อต่ออักเสบเรื้อรัง อีกทั้งยังสามารถทำลายระบบการทำงานในส่วนต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง ดวงตา ปอด หัวใจ และหลอดเลือด และอาจส่งผลให้มีอาการเล็บเป็นคลื่น หรือเล็บเปลี่ยนสีร่วมด้วย
  • โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคไตวาย  โรคต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวานเพราะอาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำหรือน้ำในร่างกายไม่สมดุล เนื่องจากไตกรองของเสียได้ไม่ดี ส่งผลทำให้เล็บขาดความชุ่มชื้น หรือทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเมตาบอลิซึม (Metabolism) ที่เป็นกระบวนการเผาผลาญและเปลี่ยนแปลงสารอาหารที่กินให้เป็นพลังงานทำงานผิดปกติ นำไปสู่การติดเชื้อได้ง่าย จนเล็บเป็นคลื่น เปราะบาง และแตกหัก
  • พฤติกรรมการดูแลเล็บไม่ดี เช่น การทำเล็บเจล การทาเล็บบ่อย ๆ รวมไปถึงการสัมผัสกับสารเคมีอันตราย เพราะอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อรอบเล็บและพื้นผิวเล็บเสียหาย ส่งผลให้เล็บเป็นคลื่น เล็บเปราะบาง และแตกหักง่าย

เล็บเป็นคลื่น อันตรายหรือไม่

เล็บเป็นคลื่นมักพบได้ในผู้ที่มีพฤติกรรมการดูแลเล็บไม่ดี อย่างไรก็ตาม เล็บเป็นคลื่นก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคโลหิตจาง

ดังนั้น หากสังเกตว่า เล็บเป็นคลื่น เล็บเปลี่ยนสี เล็บแตกหักง่าย เล็บหนา เล็บเป็นรูพรุน ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ได้แก่ อ่อนเพลีย มีไข้ เบื่ออาหาร ปวดข้อ ข้อบวม หัวใจเต้นผิดปกติ ผิวซีด เจ็บหน้าอก หน้ามืดและเป็นลมหมดสติ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

เล็บเป็นคลื่นรักษาได้หรือไม่

เล็บเป็นคลื่นอาจรักษาตามสาเหตุที่เป็น ดังต่อไปนี้

  • เล็บเป็นคลื่นที่เกิดจากภาวะขาดสังกะสี คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุสังกะสี เช่น ซีเรียล หอยนางรม ปู กุ้ง เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช หรือรับประทานอาหารเสริมสังกะสี อย่างน้อย 11 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้ชาย และ 8 มิลลิกรัม/วัน สำหรับผู้หญิง แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
  • เล็บเป็นคลื่นที่เกิดจากโรคสะเก็ดเงินที่เล็บ คุณหมออาจรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต และอาจให้ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน เช่น แอนทราลิน (Anthralin) อาซิเทรติน (Acitretin) เมทโทเทรกเสท (Methotrexate) ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินดี เพื่อลดอาการรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินที่เล็บ
  • เล็บเป็นคลื่นที่เกิดจากโรคโลหิตจาง คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและวิตามินบีสูง เช่น เนื้อสัตว์ ตับ ธัญพืช ไข่ ผักใบเขียว หรือรับประทานอาหารเสริม สำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางระดับรุนแรงอาจจำเป็นต้องรับการถ่ายเลือด เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง
  • เล็บเป็นคลื่นที่เกิดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจรักษาได้ด้วยการรับปรทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยาต้านรูมาติก (DMARDs) เพื่อช่วยลดอาการปวดและอาการอักเสบ และชะลอการลุกลามของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับการผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเอ็นและข้อต่อ

วิธีดูแลเล็บ เพื่อป้องกันเล็บเป็นคลื่น

วิธีดูแลเล็บเพื่อป้องกันเล็บเป็นคลื่น อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน และธัญพืช เพื่อป้องกันร่างกายขาดสารอาหาร และอาจเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเล็บ
  • ควรสวมถุงมือทุกครั้งหากทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมี
  • หลีกเลี่ยงการทาเล็บหรือทำเล็บเจลบ่อย ๆ เพราะสารเคมีในน้ำยาทาเล็บ หรือการขูดผิวเล็บ อาจทำให้เล็บได้รับความเสียหาย
  • ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์บำรุงเล็บ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้มือและเล็บ ทำให้เล็บแข็งแรงและผิวหนังรอบเล็บไม่ลอก
  • หลีกเลี่ยงการใช้เล็บเปิดหรืองัดวัตถุที่มีความแข็ง เช่น ฝาขวด กระป๋องน้ำอัดลม เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บแตกหักง่าย
  • รักษาโรคที่ตนเองเป็นตามแผนการรักษาของคุณหมอ เพื่อลดความเสี่ยงทำให้เล็บเป็นคลื่น
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองโรคที่อาจส่งผลกระทบทำให้เล็บเป็นคลื่น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Slideshow: What Your Nails Say About Your Health. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-nails-and-health.Accessed August 22, 2022.

Are nail ridges in fingernails cause for concern? https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/expert-answers/nails/faq-20058541.Accessed August 22, 2022.

Fingernails: Do’s and don’ts for healthy nails. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/nails/art-20044954.Accessed August 22, 2022.

TIPS FOR HEALTHY NAILS. HTTPS://WWW.AAD.ORG/PUBLIC/EVERYDAY-CARE/NAIL-CARE-SECRETS/BASICS/HEALTHY-NAIL-TIPS.Accessed August 22, 2022.

Zinc. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/zinc/.Accessed August 22, 2022.

Nail Psoriasis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/psoriasis/nail-psoriasis.Accessed August 22, 2022.

Rheumatoid arthritis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rheumatoid-arthritis/symptoms-causes/syc-20353648.Accessed August 22, 2022.

Anemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/anemia/symptoms-causes/syc-20351360.Accessed August 22, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เล็บเหลือง สาเหตุ และการดูแล

เล็บเป็นเชื้อรา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและวิธีดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 31/08/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา