backup og meta

สระผมทุกวันดีไหม และเคล็ดลับในการดูแลเส้นผม

สระผมทุกวันดีไหม และเคล็ดลับในการดูแลเส้นผม

หลายคนอาจสงสัยว่า สระ ผม ทุก วัน ดี ไหม โดยปกติแล้ว ไม่จำเป็นต้องสระผมทุกวัน เพราะการสระผมบ่อยเกินไปอาจทำให้ผมสูญเสียความชุ่มชื้นได้ สำหรับคนทั่วไป การสระผมทุก ๆ 2-3 วันก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่หากออกกำลังกาย ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ว่ายน้ำ หรือมีเหงื่อออกมากระหว่างวัน ก็ควรสระผมให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสะสมของเหงื่อ สิ่งสกปรก และน้ำมันส่วนเกินบนเส้นผม ที่อาจทำให้หนังศีรษะอักเสบ ระคายเคือง เกิดรังแค ติดเชื้อรา หรือผมร่วงได้

[embed-health-tool-bmi]

สระ ผม ทุก วัน ดี ไหม

หากไม่สระผมนานเกินไปอาจทำให้มีสิ่งสกปรก เหงื่อไคล ฝุ่นควัน รวมถึงน้ำมันที่ผลิตจากต่อมไขมันสะสมอยู่บนหนังศีรษะและเส้นผม ส่งผลให้เส้นผมและหนังศีรษะมัน เสี่ยงรูขุมขนอุดตัน หนังศีรษะอักเสบหรือติดเชื้อจนมีอาการคัน หนังศีรษะแห้งลอกเป็นรังแค เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคหรือปรสิตอย่างเหา ผมร่วง หรืออาจเกิดสิวตามหนังศีรษะและบริเวณใบหน้าที่สัมผัสกับผมที่มีน้ำมันมากเกินไปได้ จึงควรสระผมเป็นประจำเพื่อชะล้างสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกจากเส้นผมและหนังศีรษะ ช่วยให้เส้นผมสะอาดและมีสุขภาพดีอยู่เสมอ

แต่ถึงอย่างนั้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องสระผมทุกวัน เพราะการสระผมบ่อยจนเกินไป จะชะล้างน้ำมันบนเส้นผมออกไปหมด ทำให้ผมสูญเสียความชุ่มชื้น แห้งแข็ง แตกหักง่าย ทั้งยังอาจทำให้หนังศีรษะแห้งตกสะเก็ด คัน และระคายเคืองได้ นอกจากนี้ การสระผมทุกวันยังอาจยิ่งไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันบนหนังศีรษะผลิตน้ำมันออกมาเคลือบเส้นผมมากขึ้น จนส่งผลให้ผมมันได้ง่ายและเร็วกว่าเดิม

โดยทั่วไป ควรสระผมทุก ๆ 2-3 วัน และควรใช้ครีมนวดผมหรือทรีตเมนต์ผมด้วยทุกครั้ง เพื่อช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรงและให้ความชุ่มชื้นแก่เส้นผม ทั้งนี้ ความถี่ในการสระผมอาจแตกต่างกันไปตามสภาพผมของแต่ละคน และปัจจัยดังต่อไปนี้

  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนน้อยลง จนส่งผลให้ต่อมไขมันบริเวณหนังศีรษะผลิตน้ำมันลดลงตามไปด้วย ผู้ที่อายุเยอะ เช่น หญิงวัยหมดประจำเดือน จึงควรเว้นระยะการสระผมนานกว่าคนที่อายุน้อยกว่าเนื่องจากเส้นผมจะมันได้ช้ากว่า
  • ความยาวของเส้นผม ผมทั่วศีรษะของคนผมสั้นมักมันเร็วกว่าคนผมยาว เนื่องจากน้ำมันจากต่อมไขมันจะเคลือบผมตั้งแต่โคนจรดปลายได้เร็วกว่าคนผมยาว คนผมสั้นจึงอาจต้องสระผมบ่อยกว่าคนผมยาว ส่วนคนผมยาวมักมีปลายผมแห้งกว่า จึงอาจไม่จำเป็นต้องสระผมบ่อยนัก แต่ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับความหนาของเส้นผมด้วย คนผมยาวที่ผมหนามาก ต่อมไขมันก็อาจหลั่งน้ำมันออกมาเคลือบผมเยอะ ส่งผลให้ผมมันง่าย และต้องสระผมบ่อยขึ้น
  • สภาพเส้นผม ผู้ที่มีหนังศีรษะมันอาจรู้สึกเหนอะหนะ ไม่สบายศีรษะ ทำให้ต้องสระผมบ่อยกว่าคนหนังศีรษะแห้งที่ใช้เวลาหลายวันกว่าผมจะเริ่มมันจนต้องสระผม
  • กิจกรรมและสภาพอากาศ หากออกกำลังกายเป็นประจำ ทำกิจกรรมทางน้ำ หรือเผชิญอากาศร้อนจนเหงื่อออกมาก อาจต้องสระผมบ่อยขึ้นเพื่อลดการหมักหมมของเหงื่อและสิ่งสกปรกที่อาจทำให้คันและระคายเคืองหนังศีรษะได้

วิธีสระผมที่ถูกต้อง

การสระผมอย่างถูกวิธี อาจทำได้ดังนี้

  • เทแชมพูลงบนฝ่ามือ ผสมน้ำเล็กน้อย แล้วถูให้เกิดฟองเพื่อเจือจางความเข้มข้นของแชมพู จากนั้นค่อย ๆ ชโลมแชมพูให้ทั่วหนังศีรษะ ควรถูให้ทั่วเพื่อให้ฟองแชมพูสัมผัสกับหนังศีรษะอย่างทั่วถึง แล้วใช้นิ้วนวดหนังศีรษะและโคนผมให้ทั่วทั้งศีรษะ หลีกเลี่ยงการใช้เล็บเกาหนังศีรษะ เพราะอาจทำให้หนังศีรษะระคายเคืองหรือเป็นแผลได้
  • เมื่อสระผมเสร็จแล้ว ให้ล้างแชมพูออกด้วยน้ำเปล่าจนเส้นผมและหนังศีรษะสะอาด ขั้นตอนนี้ควรเงยหน้าเพื่อป้องกันแชมพูเข้าตา บีบน้ำออกจากเส้นผมให้ผมหมาด แล้วชโลมครีมนวดผมลงบนเส้นผมตั้งแต่ส่วนกลางเส้นผมไปจนถึงปลายผม หมักทิ้งไว้ตามระยะเวลาที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการชโลมครีมนวดผมและทรีตเมนต์ผมที่บริเวณหนังศีรษะและโคนผม เพราะอาจทำให้รูขุมขนอุดตันและผมมันเร็วขึ้นได้
  • ครบเวลาแล้วจึงล้างครีมนวดผมหรือทรีตเมนต์ออกด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด ค่อย ๆ บีบน้ำออกจากเส้นผมตั้งแต่โคนจรดปลาย ไล่น้ำออกจากเส้นผมให้ได้มากที่สุด อาจใช้ผ้าขนหนูสะอาดคลุมผมเพื่อช่วยซับน้ำ แต่ไม่ควรบิด ถู หรือขยี้ผมแรง ๆ เพราะอาจทำให้เส้นผมขาดได้ง่าย

เคล็ดลับการดูแลเส้นผม

เคล็ดลับการดูแลเส้นผมเพื่อผมที่สะอาดและดูสุขภาพดี อาจมีดังต่อไปนี้

  • เลือกแชมพูที่เหมาะสมกับสภาพเส้นผม เช่น คนผมแห้ง ผมอาจขาดง่าย จึงควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันและซิลิโคนที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในเส้นผม คนผมมันเร็วควรหลีกเลี่ยงการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมที่ทำให้ผมมันง่าย เช่น น้ำมัน ซิลิโคน พาราเบน
  • ผู้ที่มีปัญหารังแค ควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium sulfide) ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc pyrithione) เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการหนังศีรษะแห้ง คัน และตกสะเก็ดเนื่องจากการติดเชื้อยีสต์หรือเชื้อราได้
  • ควรสระผมโดยเน้นชโลมและนวดคลึงแชมพูที่หนังศีรษะเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและลดความมันส่วนเกิน เมื่อชำระล้างแชมพูจากหนังศีรษะ แชมพูจะไหลไปตามเส้นผม และช่วยทำความสะอาดเส้นผมด้วย ไม่ควรลงแชมพูที่เส้นผมโดยตรง เพื่อไม่ให้เส้นผมสัมผัสสารเคมีมากเกินไปจนผมแห้งและขาดความชุ่มชื้น โดยเฉพาะบริเวณปลายผม
  • หลังสระผมทุกครั้ง ควรใช้ครีมนวดผมหรือทรีตเมนต์เพื่อบำรุงเส้นผมให้ชุ่มชื้น โดยเฉพาะคนผมยาวที่อาจมีน้ำมันมาหล่อเลี้ยงผมน้อย โดยเฉพาะปลายผม
  • ลดการใช้ผลิตภัณฑ์ทำผม เช่น สเปรย์จัดแต่งทรงผม เจลแต่งผม เซรั่มผม เพราะอาจสะสมอยู่ที่หนังศีรษะและเส้นผม และดักจับสิ่งสกปรกไว้จนทำให้รูขุมขนและหนังศีรษะระคายเคือง อักเสบ และอาจทำให้ผมมันเร็วขึ้น หรือหากใช้ ควรทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะให้ดี
  • หลีกเลี่ยงการสระผมด้วยน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น โดยเฉพาะคนผมแห้งหรือชี้ฟู เนื่องจากอาจทำให้หนังศีรษะสูญเสียน้ำมันตามธรรมชาติที่ให้ความชุ่มชื้นแก่เส้นผม และทำให้สภาพผมแย่ลงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Healthy Hair Every Day. https://www.webmd.com/beauty/keep-hair-hydrated.  Accessed November 11, 2022

TIPS FOR HEALTHY HAIR. https://www.aad.org/public/everyday-care/hair-scalp-care/hair/healthy-hair-tips. Accessed November 11, 2022

Here’s How Often You Should Wash Your Hair. https://health.clevelandclinic.org/the-dirty-truth-about-washing-your-hair/. Accessed November 11, 2022

10 HAIR CARE HABITS THAT CAN DAMAGE YOUR HAIR. https://www.aad.org/public/everyday-care/hair-scalp-care/hair/habits-that-damage-hair. Accessed November 11, 2022

How to Choose the Best Shampoo. https://www.webmd.com/beauty/features/choose-right-shampoo. Accessed November 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาสระผม ควรเลือกอย่างไร ให้เหมาะกับสภาพของเส้นผม

วิธีสระผมที่ถูกต้อง เพื่อผมแข็งแรงสุขภาพดี ทำอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา