backup og meta

ฉีดวิตามินผิวดีอย่างไรและเสี่ยงหรือไม่

ฉีดวิตามินผิวดีอย่างไรและเสี่ยงหรือไม่

ฉีดวิตามินผิว เป็นวิธีเติมเต็มผิวด้วยวิตามินต่าง ๆ ที่อาจช่วยให้ผิวขาวใส สร้างภูมิคุ้มกัน ต้านอนุมูลอิสระ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ หรือลดริ้วรอย โดยฉีดวิตามินเข้าเส้นเลือดดำโดยตรงทำให้ดูดซึมได้เร็วและเห็นผลไวยิ่งขึ้น แต่ผลลัพธ์อาจปรากฏอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น นอกจากนี้ การฉีดวิตามินผิวอาจมีผลข้างเคียงทำให้เสี่ยงติดเชื้อที่ผิวหนังหรือทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้ หากต้องการฉีดวิตามินผิวจึงควรอยู่ในการควบคุมของคุณหมอเพื่อความปลอดภัย

[embed-health-tool-bmi]

ฉีดวิตามินผิว คืออะไร

ฉีดวิตามินผิว คือ การฉีดตัวยาที่มีส่วนผสมของวิตามินซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้ผิวขาว ลดริ้วรอย ต้านอนุมูลอิสระ สร้างคอลลาเจนที่มีส่วนช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย และลดรอยแผลเป็น ทำให้ผิวแข็งแรงและดูสุขภาพดีขึ้น โดยคุณหมออาจพิจารณาฉีดวิตามินผิวมากกว่าหนึ่งชนิด ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและสุขภาพของบุคคลด้วย

ข้อดีของการฉีดวิตามินผิวคือการดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังค่อนข้างเร็ว เนื่องจากเป็นการฉีดเข้าเส้นเลือดดำโดยตรง ทำให้อาจเห็นผลไวกว่าการทาหรือการรับประทานวิตามิน แต่โครงสร้างของสีผิวถูกกำหนดจากพันธุกรรม ผลลัพธ์จากกาฉีดวิตามินผิวมักปรากฏอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ประโยชน์ของการฉีดวิตามินผิว

ประโยชน์ของการฉีดวิตามินผิวมีหลายประการ ดังนี้

  • การฉีดวิตามินผิว เช่น วิตามินซี วิตามินอี หรือกลูตาไธโอน (Glutathione) อาจช่วยป้องกันความเสียหายของระบบประสาท เสริมภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ล้างสารพิษในผิว ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดริ้วรอย และอาจทำให้ผิวขาวกระจ่างใสขึ้น
  • การฉีดวิตามินผิวเหมาะกับผู้ที่ต้องการฟื้นฟูผิวเร่งด่วนแต่ไม่สามารถรับประทานยาเม็ดได้  หรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องการดูดซึม เพราะการฉีดวิตามินผิวจะช่วยให้ดูดซึมเร็วขึ้น

วิตามินสำหรับฉีดวิตามินผิว มีอะไรบ้าง

การฉีดวิตามินผิวมักแตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับประเภทและวัตถุประสงค์ในการฉีด ดังรายละเอียดต่อไปนี้

วิตามินซี

วัตถุประสงค์และประโยชน์

  • ช่วยรักษาภาวะขาดวิตามินซี
  • ช่วยรักษาบาดแผลร้ายแรงจากการบาดเจ็บหรือไฟไหม้
  • การฉีดวิตามินซีในปริมาณสูงเข้าเส้นเลือดดำร่วมกับยารักษามะเร็ง อาจช่วยรักษาโรคมะเร็งได้
  • การฉีดวิตามินซีอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพทั่วไปและปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • การฉีดวิตามินซีอาจช่วยลดน้ำหนักได้

ข้อควรระวัง

  • การฉีดวิตามินซีอาจช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้น หากรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กมากเกินไปอาจทำให้ปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายสูงขึ้นเกินจำเป็น
  • การฉีดวิตามินซีมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคนิ่วในไตได้ และผู้ที่เคยเป็นนิ่วในไตอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • การฉีดวิตามินซีปริมาณสูงในผู้ป่วยโรคไตอาจทำให้ไตเสียหายได้

วิตามินอี

วัตถุประสงค์และประโยชน์

  • การฉีดวิตามินอีอาจมีส่วนช่วยป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดและความเสียหายจากอนุมูลอิสระ
  • การฉีดวิตามินอีอาจช่วยต้านการอักเสบในผิวหนัง อาการบวม ผื่นแดง ที่เกิดจากรังสียูวี
  • การฉีดวิตามินอีอาจช่วยรักษาบาดแผลบนผิวหนังให้สมานตัวเร็วขึ้นและช่วยให้ผิวหนังแข็งแรงขึ้น

ข้อควรระวัง

  • การได้รับวิตามินอีมากเกินไปอาจทำให้มีอาการปวดหัว ท้องอืด อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ตาพร่า อ่อนเพลีย และเมื่อยล้า
  • ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินเคควรระวังในการฉีดวิตามินอีเพราะอาจมีอาการเลือดไหลไม่หยุดได้
  • ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนควรปรึกษาคุณหมอก่อนฉีดวิตามินอี เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้

กลูตาไธโอน (Glutathione)

วัตถุประสงค์และประโยชน์

  • กลูตาไธโอนอาจมีส่วนช่วยในการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
  • กลูตาไธโอนอาจมีส่วนช่วยปรับปรุงสารเคมีและโปรตีนจำเป็นในร่างกาย รวมถึงส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • กลูตาไธโอนอาจช่วยลดริ้วรอย ซ่อมแซมความเสียหายของเส้นประสาทในผู้ที่ติดสารเสพติด โรคตับ โรคหัวใจ เป็นต้น

ข้อควรระวัง

  • การฉีดกลูตาไธโอนผ่านหลอดเลือดดำอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง
  • คุณแม่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการฉีดกลูตาไธโอน เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทารกได้
  • ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด การฉีดกลูตาไธโอนอาจเพิ่มอาการหอบหืดได้
  • การฉีดกลูตาไธโอนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เป็นพิษต่อตับ ไต และระบบประสาท อาจทำให้เป็นโรคผิวหนังกลุ่มแพ้ยารุนแรง เช่น อาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome : SJS)
  • การฉีดกลูตาไธโอนอาจเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง

กรดทราเนซามิก (Tranexamic acid)

วัตถุประสงค์และประโยชน์

การฉีดกรดทราเนซามิก (Tranexamic acid) อาจช่วยยับยั้งการสังเคราะห์เมลานินในเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งเป็นเซลล์ที่เจริญมาจากเซลล์ระบบประสาทที่แทรกตัวอยู่ในชั้นหนังกำพร้าส่วนล่าง จึงอาจช่วยรักษารอยดำบนผิวหนัง และทำให้สีผิวสม่ำเสมอขึ้น

ข้อควรระวัง

  • อาจมีผลข้างเคียง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ
  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น ผื่น คัน บวม โดยเฉพาะใบหน้า ลิ้น และคอ วิงเวียนศีรษะ และปัญหาการหายใจ
  • การใช้กรดทราเนซามิเป็นระยะเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

ความเสี่ยงต่อสุขภาพและผลข้างเคียงการฉีดวิตามินผิว

ความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อฉีดวิตามินผิว ดังนี้

ผลข้างเคียงการฉีดวิตามินผิว

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยเมื่อฉีดวิตามินผิว มักเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่ฉีด ดังนี้

  • เลือดออก และมีอาการห้อเลือด
  • รอยฟกช้ำและรอยแผลเป็น
  • อาการปวดและบวมบริเวณที่ฉีด
  • บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้

ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการฉีดวิตามินผิว

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อฉีดวิตามินผิว ดังนี้

  • ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะภายในจากเชื้อโรคภายนอก การฉีดวิตามินเข้าสู่ผิวหนังจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อได้
  • อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ความผิดปกติอย่างรุนแรงของต่อมไทรอยด์และการทำงานของไต กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome : SJS) ท็อกซิก อีพิเดอร์มัล เนโครไลซิส (Toxic epidermal necrolysis) เป็นโรคผิวหนังในกลุ่มผื่นแพ้ยาที่รุนแรง อาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้
  • การฉีดวิตามินผิวที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อาจทำให้เกิดอาการแพ้ อาการช็อก ผื่นขึ้นลุกลาม ความดันโลหิตต่ำ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ทานหรือฉีดวิตามินผิวขาวมีอันตรายและ “ให้ผลไม่ถาวร”. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ทานหรือฉีดวิตามินผิวขา/. Accessed April 24, 2023.

วิตามินอี (Vitamin E) ดี โทษ อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=33. Accessed April 24, 2023.

FDA Advisory No. 2019-182 || UNSAFE USE OF GLUTATHIONE AS SKIN LIGHTENING AGENT. https://www.fda.gov.ph/fda-advisory-no-2019-182-unsafe-use-of-glutathione-as-skin-lightening-agent/. Accessed April 24, 2023.

Injectable Skin Lightening and Skin Bleaching Products May Be Unsafe. https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/injectable-skin-lightening-and-skin-bleaching-products-may-be-unsafe. Accessed April 24, 2023.

Vitamin C. https://lpi.oregonstate.edu/mic/vitamins/vitamin-C. Accessed April 24, 2023.

Vitamin E and Skin Health. https://lpi.oregonstate.edu/mic/health-disease/skin-health/vitamin-E. Accessed April 24, 2023.

Tranexamic Acid – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-32677-1331/tranexamic-acid-oral/tranexamic-acid-650-milligram-tablet-oral/details. Accessed April 24, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉีดฟิลเลอร์ ประโยชน์และข้อควรระวัง

ฉีดวิตามินซี เข้าทางผิวหนัง อาจสร้างผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คุณคิด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา