กลากและเกลื้อน เป็นโรคผิวหนังที่พบได้ทั่วไป โดยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เมื่อเป็นกลากหรือเกลื้อน ควรไปพบคุณหมอหรือเภสัชกรเพื่อรับ ยาทากลากเกลื้อน ซึ่งมีหลายชนิด เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin) โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) มาทาเพื่อรักษาโรค
[embed-health-tool-bmi]
กลากและเกลื้อน คืออะไร
กลาก (Tinea Corporis) และเกลื้อน (Tinea Versicolor) เป็นชื่อของโรคผิวหนังต่างชนิดกันที่มักถูกพูดถึงติดกัน โดยมีความแตกต่างกันทั้งสาเหตุและอาการของโรค ดังนี้
สาเหตุ
- กลาก เกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอมาโทไฟท์ (Dermatophytes) เช่นเดียวกับโรคสังคังและน้ำกัดเท้า โดยเชื้อราชนิดนี้จะแพร่กระจายจากการสัมผัสกับคน สัตว์ รวมถึงสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว หวี แปรง
- เกลื้อน เกิดจากการติดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ซึ่งพบได้บนผิวหนังของมนุษย์ และจะเพิ่มจำนวนมากผิดปกติจนนำไปสู่การติดเชื้อได้ หากอากาศร้อนหรือชื้น ผิวมัน ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง หรือระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
อาการ
- กลาก ในบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ลำตัว สะโพก แขน หนังศีรษะ จะมีผื่นวงแหวนซึ่งมีผื่นเม็ดเล็ก อยู่ที่ขอบทำให้ดูเหมือนขอบยก ร่วมกับมีขุยและมีอาการคัน
- เกลื้อน มักพบผื่นซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลมเล็กๆอาจจะมารวมเป็นปื้นใหญ่ สีออกขาว ชมพู น่ำตาล หรือสีเข้มกว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ ตามใบหน้า ต้นคอ หน้าอก หรือแผ่นหลัง นอกจากนี้ มักรู้สึกคันเมื่อเหงื่อออก และหากเอาเล็บขูด ผิวหนังจะลอกออกเป็นขุยได้ง่าย
ยาทากลากเกลื้อน มียาอะไรบ้าง
แม้สาเหตุและอาการของโรคกลากและเกลื้อนจะไม่เหมือนกัน แต่โรคทั้ง 2 สามารถรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อราตัวเดียวกัน และยาสำหรับรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ ดังต่อไปนี้
ยาสำหรับรักษากลากและเกลื้อน
- เทอร์บินาฟีน เป็นยาที่พบได้ทั้งในรูปแบบยาทาและยาเม็ด มีคุณสมบัติสร้างรูบนเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เชื้อราตายลง
- กริซีโอฟูลวิน เป็นยาต้านเชื้อราที่พบได้ทั้งแบบยาเม็ด ยาน้ำ และสเปรย์ ใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ และแม้อาการป่วยจะดีขึ้นหลังใช้กริซีโอฟูลวินไป 2-3 วัน แต่ควรใช้ยานี้จนการติดเชื้อจะหายไปโดยสมบูรณ์
- โคลไตรมาโซล เป็นยาต้านเชื้อรากลุ่มอาโซล (Azole) ในรูปแบบยาทาหรือครีม มีฤทธิ์เหมือนกับยาอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน อย่างไมโคนาโซล (Miconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) หรือฟลูโคนาโซล (Fluconazole) คือยับยั้งเชื้อราไม่ให้สังเคราะห์สารเออร์กอสเตอรอล (Ergosterol) ซึ่งจำเป็นต่อการอยู่รอด ทำให้เชื้อราลดจำนวนหรือตายลงในที่สุด
- ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) เป็นตัวยาที่มักพบในรูปแบบครีม เจล หรือโลชั่น และนอกจากใช้สำหรับรักษาผิวหนังที่ติดเชื้อราแล้ว ยังนิยมใช้รักษาการติดเชื้อราบริเวณเล็บมือ รวมทั้งรูปแบบแชมพูใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อราบริเวณหนังศีรษะด้วย
- ซีลีเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) เป็นยาต้านเชื้อราที่มีทั้งแบบยาทาและแชมพู นิยมใช้ตัวยาชนิดนี้เป็นส่วนประกอบในแชมพูกำจัดรังแค
- ซิงค์ ไพริไธโอน (Zinc Pyrithione) เป็นตัวยาอีกชนิดที่พบได้ในแชมพูกำจัดรังแค มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรามาลาสซีเซียบนผิวหนัง