สิวหัวช้าง คือ สิวอักเสบชนิดรุนแรงที่เกิดจากการมีแบคทีเรียเจริญเติบโตในตุ่มสิวจนทำให้เกิดถุงหรือก้อนนูนอักเสบบวมแดงขนาดใหญ่ในผิวหนังชั้นลึก ภายในมีหนองและของเหลว หายปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอาจทำให้การติดเชื้อลุกลาม เกิดรอยเป็นและหลุมสิวได้ หากเป็นสิวหัวช้าง ควรไปพบคุณหมอผิวหนังเพื่อรับการดูแลด้วย วิธีรักษาสิวหัวช้าง ที่เหมาะสม เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด การรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การแต้มสิวด้วยเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ กรดอะเซลาอิก เรตินอยด์ ทั้งนี้ ไม่ควรแกะเกาสิวหัวช้าง เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียลุกลามได้
[embed-health-tool-bmi]
สิวหัวช้าง เกิดจากอะไร
สิวหัวช้าง (Nodulocystic acne) เป็นสิวอักเสบรุนแรงขนาดใหญ่ที่พบในผิวหนังชั้นลึก เนื่องจากมีแบคทีเรีย เช่น โพรพิโอแบคทีเรียม แอคเน (Propionibacterium acnes) หรือเชื้อพีแอคเน (P. acnes) เจริญเติบโตอยู่ในตุ่มสิว มักพบที่ใบหน้า หน้าอก หลัง ต้นแขน ไหล่ สิวหัวช้างส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นตุ่มหรือไตขนาดใหญ่ที่บวมแดง คัน อักเสบ มีหนองหรือของเหลวอยู่ภายใน สัมผัสแล้วรู้สึกเจ็บ สามารถอยู่ได้นานหลายวัน หากไม่รีบเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดแผลเป็น จึงควรรีบรักษาให้หายตั้งแต่เนิ่น ๆ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดสิวหัวช้าง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิวหัวช้าง อาจมีดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน อาจกระตุ้นให้ต่อมน้ำมันผลิตไขมันปริมาณมากจนเกิดเป็นไขมันส่วนเกินที่อาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตันและเสี่ยงเกิดสิวหัวช้าง
- ยารักษาโรคบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลิเธียม (Lithium) ยารักษาโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล มีส่วนประกอบของโบรไมด์ (Bromides) ไอโอไดด์ (Iodides) ที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ รวมไปถึงสิวหัวช้างได้
- ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ซึ่งจะไปเพิ่มการขับไขมันบนผิวหนัง จนทำให้เสี่ยงเกิดสิวได้
- อากาศร้อน มักทำให้เหงื่อออกมาก ส่งผลให้ผิวหนังอับชื้น มีเซลล์ผิวที่ตายแล้วและสิ่งสกปรกอุดตันในรูขุมขนจนเกิดสิว หากมีแบคทีเรียเติบโตในสิวก็อาจเสี่ยงเกิดสิวหัวช้างได้
- การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตันและผิวระคายเคืองได้ง่าย เช่น ซิลิโคน แอลกอฮอล์ พาราเบน
- การสัมผัสใบหน้าบ่อยครั้ง อาจทำให้แบคทีเรียจากมือหรือวัตถุที่สัมผัสใบหน้าเข้าสู่ผิวหนังและก่อให้เกิดสิวหัวช้างได้
วิธีรักษาสิวหัวช้าง
วิธีรักษาสิวหัวช้าง อาจทำด้วยการใช้ยาดังต่อไปนี้
- ยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและยับยั้งการแพร่กระจายของแบคทีเรียบนผิวหนัง อาจลดการอุดตันของรูขุมขน ลดรอยแดงและบวมของสิวหัวช้างได้
- ยาคุมกำเนิด จะช่วยปรับฮอร์โมนให้สมดุล โดยอาจใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะและสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เพื่อลดการผลิตน้ำมันของต่อมไขมัน อาจช่วยลดการเกิดสิวได้
- กรดอะเซลาอิก (Azelaic acid) อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ช่วยผลัดเซลล์ผิว ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน บรรเทาอาการอักเสบรุนแรง และลดรอยดำที่เกิดจากสิวหัวช้าง
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ จึงอาจบรรเทาอาการอักเสบ บวมแดง และระคายเคืองได้ เหมาะสำหรับสิวอักเสบอย่างสิวซีสต์ สิวหัวหนอง และสิวหัวช้าง
- เรตินอยด์ เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรติโนอิน (Tretinoin) เป็นอนุพันธ์วิตามินเอที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ลดการอุดตันของรูขุมขน อาจช่วยลดการอักเสบและปริมาณแบคทีเรียในชั้นผิว และบรรเทาอาการของสิวหัวช้างได้ ทั้งนี้ เรตินอยด์ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย และหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยาเรตินอยด์เนื่องจากอาจไม่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์
- ไอโซเตรติโนอิน (Isotretinoin) เป็นยารักษาสิวในกลุ่มกรดวิตามินเอ ช่วยละลายสิ่งอุดตันในรูขุมขน ลดแบคทีเรีย ความมันส่วนเกินและอาการอักเสบของสิวหัวช้าง ทั้งนี้ ไอโซเตรติโนอินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ คัดตึงเต้านม ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เกิดลิ่มเลือด หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
- สเตียรอยด์ (Steroid injection) การฉีดสเตียรอยด์จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบและบวมแดงของสิว อาจช่วยให้สิวยุบและหายได้ เป็นวิธีรักษาสิวหัวช้างที่มีประสิทธิภาพ นิยมใช้เมื่อสิวไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น ๆ โดยเฉพาะสิวหัวช้างที่รุนแรง
วิธีป้องกันการเกิดสิวหัวช้าง
วิธีป้องกันการเกิดสิวหัวช้าง อาจทำได้ดังนี้
- ล้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยโฟมล้างหน้าสูตรอ่อนโยน โดยเฉพาะหลังออกกำลังกายหรือในวันที่อากาศร้อนจนมีเหงื่อออกมาก และควรใช้ผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางเช็ดเครื่องสำอางและครีมกันแดดออกให้หมดจดก่อนล้างหน้า
- หลีกเลี่ยงการใช้มือหรือวัตถุอื่น ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ สัมผัสหน้าบ่อยครั้ง เพื่อไม่ให้สิ่งสกปรกและแบคทีเรียไปอุดตันในรูขุมขนจนเกิดสิว
- ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไปก่อนออกจากบ้านอย่างน้อย 15 นาที และควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง หากมีเหงื่อออกเยอะควรทาครีมกันแดดให้บ่อยขึ้น
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมันและซิลิโคนที่อาจทำให้ผิวอุดตัน รวมไปถึงซัลเฟต น้ำหอม แอลกอฮอล์ ที่อาจทำให้ผิวระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เช่น เบเกอรี แฮมเบอร์เกอร์ ลูกชิ้นทอด หมูย่าง หมูกรอบ ชาบู หมูกระทะ เพราะอาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป