การเป็นสิวที่คาง อาจเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกิน และสิ่งสกปรกนำไปสู่การเกิดสิวชนิดต่าง ๆ เช่น สิวหัวดำ สิวอักเสบ สิวหัวขาว สิวหัวหนองที่คาง ซึ่งอาจมีลักษณะและอาการที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเภท ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการรักษาและการป้องกันสิวที่คางอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]
สาเหตุที่ทำให้ เป็นสิวที่คาง
สิวที่คางมีสาเหตุมาจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากน้ำมันส่วนเกินที่ผลิตจากต่อมไขมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งสกปรกอื่น ๆ โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ดังนี้
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นสิว ก็อาจได้รับจากพันธุกรรมที่มีแนวโน้มทำให้เป็นสิวได้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ อาจส่งผลให้ปริมาณของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการอุดตันของรูขุมขน
- ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมาก นำไปสู่การอุดตันรูขุมขน และก่อให้เกิดสิวที่คาง
- อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูงเช่น ขนมปังขาว อาหารทอด อาจส่งผลให้อาการสิวที่เป็นอยู่แย่ลงได้ในผู้ป่วยบางราย
- ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลิเทียม (Lithium) อาจกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียด ที่ส่งผลให้มีการผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้น จนอุดตันรูขุมขน และก่อให้เกิดสิวที่คาง
- สิ่งสกปรก เช่น เหงื่อ ฝุ่น ควัน และมลพิษต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน ที่นำไปสู่การเกิดสิวที่คางได้
- พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเช็ดเครื่องสำอางไม่สะอาดหรือไม่ล้างเครื่องสำอางก่อนนอน การขัดผิวหน้าอย่างรุนแรง การเช็ดหน้าอย่างรุนแรง และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน ระคายเคืองผิว และนำไปสู่การเกิดสิวที่คาง
ประเภทของสิวที่อาจขึ้นที่คาง
สิวที่ขึ้นบริเวณคาง อาจมีหลายประเภทด้วยกัน ดังนี้
- สิวหัวดำ เป็นสิวหัวเปิดที่มีลักษณะเป็นตุ่มสิวสีดำ ซึ่งเกิดจากการอุดตันของรูขุมขน เนื่องจากน้ำมัน เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และแบคทีเรีย เมื่อส่วนของหัวสิวทำปฏิกิริยากับออกซิเจนก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำ
- สิวหัวขาว มีลักษณะเป็นตุ่มสีขาวเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมัน และแบคทีเรียภายในรูขุมขน
- สิวตุ่มแดง มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง ๆ ไม่มีหนองอยู่ข้างใน และอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด
- สิวตุ่มหนอง มีลักษณะคล้ายกับสิวตุ่มแดง แต่จะมีหนองสีขาวอยู่กึ่งกลางสิว
- สิวหัวช้าง เป็นสิวอักเสบชนิดรุนแรง มีขนาดใหญ่ ด้านในสิวเต็มไปด้วยหนอง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส
- สิวขนาดใหญ่ หรือซีสต์ เป็นสิวประเภทร้ายแรงที่สุด มีลักษณะคล้ายกับฝี ภายในมีการสะสมของหนอง และอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเมื่อสัมผัส อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นหลังจากที่สิวหายแล้วอีกด้วย
วิธีรักษาเมื่อเป็นสิวที่คาง
วิธีรักษาสิวที่คาง มีดังนี้
ยารักษาสิวรูปแบบยาทาเฉพาะที่
ใช้เพื่อช่วยรักษาสิวที่คางที่มีความรุนแรงระดับปานกลาง ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของสิว ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยควรปรึกษาคุณหมอก่อนเพื่อรับยาที่เหมาะกับสภาพผิวและปัญหาผิวที่เกิดขึ้น
ยารักษาสิวแบบยาทาเฉพาะที่ มีทั้งในรูปแบบเจลหรือครีม เช่น
- อะดาพาลีน (Adapalene)
- เตรทติโนอิน (Tretinoin)
- ทาซาโรทีน (Tazarotene)
- คลินดามัยซิน (Clindamycin)
- เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid)
- แดปโซน (Dapsone)
- น้ำมันทีทรี (Tea tree oil)
ยารักษาสิวรูปแบบรับประทาน
ยารักษาสิวสำหรับรับประทาน เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) แมคโครไลด์ (Macrolide) เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรง ใช้เพื่อช่วยชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย หรืออาจรับประทานยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนและยาคุมกำเนิด เพื่อปรับความสมดุลของฮอร์โมนแอนโดรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จึงอาจช่วยลดการผลิตน้ำมันส่วนเกิน และช่วยป้องกันการอุดตันในรูขุมขนได้
สำหรับผู้ที่ไม่มีการตอบสนองต่อยาข้างต้น คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) แทนเพื่อรักษาสิวที่คาง อย่างไรก็ตาม สตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานยารักษาสิว เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์และเด็กเล็กได้
การรักษาด้วยเทคนิคทางการแพทย์
เป็นวิธีการรักษาสิวด้วยกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เช่น
- การกดสิว
- การบำบัดด้วยแสง
- การเลเซอร์
- การฉีดสเตียรอยด์ที่สิวอักเสบ
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี หรือการลอกหน้า
วิธีป้องกันไม่ให้เป็นสิวที่คาง
วิธีป้องกันไม่ให้เป็นสิวที่คาง อาจทำได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณคางและทั่วทั้งใบหน้า เนื่องจากมืออาจมีสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสิวได้
- ล้างหน้าด้วยน้ำปกติ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่าและน้ำมันส่วนเกิน และควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดใบหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการขัดผิวอย่างรุนแรงเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว
- เลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น และควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “Non-comedogenic” เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตัน
- ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. หรือทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป อย่างน้อย 20 นาที ก่อนออกจากบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดสิว และปกป้องผิวที่ไวต่อแสงแดดในระหว่างที่ใช้ยารักษาสิว
- หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า ไม่นอนทั้งที่แต่งหน้า และควรเช็ดทำความสะอาดเครื่องสำอางออกให้หมดและล้างหน้าให้สะอาด เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืช และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมันสูง เพราะอาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น นำไปสู่การเกิดสิวที่คางได้
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่อาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนใบหน้า และทำให้เกิดสิวได้
- ทำความสะอาดของใช้ที่สัมผัสกับผิวที่คาง เช่น ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้า เพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้รูขุมขนอุดตันจากสิ่งสกปรก