backup og meta

แพ้ครีม อาการเป็นยังไง และรักษาได้อย่างไร

แพ้ครีม อาการเป็นยังไง และรักษาได้อย่างไร

การบำรุงผิวหน้า ไม่เพียงแต่จะส่วนช่วยฟื้นบำรุงผิว เพิ่มความชุ่มชื้น และลดรอยด่างดำแล้ว แต่ยังช่วยให้ผิวหน้าเรียบเนียนขึ้นด้วย แต่บางครั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางตัว อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ จนเกิดอาการผื่นแดง บวม ทั้งนี้ วิธีรักษาอาการ แพ้ครีม นั้นสามารถทำได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น แต่หากเกิดภาวะแพ้รุนแรงควรไปหาคุณหมอผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญทันที

[embed-health-tool-bmr]

แพ้ครีม อาการเป็นอย่างไร

โรคผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) มักทำให้ผิวหนังระคายเคือง มีอาการคัน บวม และแดง ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถเป็นสาเหตุของ โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสได้

ผิวหนังของผู้ที่มีอาการของโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสร้อยละ 80 จะระคายเคืองง่าย และไวต่อการสัมผัส เพียงไม่กี่นาทีหรือชั่วโมง หลังจากสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ผิวจะเกิดการอักเสบทันที อาการแพ้ครีม ในแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ที่พบบ่อย เช่น อาการบวม แดง เป็นผื่น ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะกว่าอาการจะหาย

สำหรับผู้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อผลิตภัณฑ์ อาจจะไม่ได้มี อาการแพ้ครีม เสมอไป โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส ไม่ใช่อาการแพ้ที่แท้จริง เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แต่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่แสดงออกทางผิวหนังเท่านั้น

ส่วนผสมที่มักทำให้เกิด อาการแพ้ครีม

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมากมายหลายชนิดในท้องตลาด และที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์แต่ละตัวก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่วนผสมบางอย่างอาจมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิด อาการแพ้ครีม ระคายเคืองต่อผิวหนังได้มากกว่าส่วนผสมอื่น ๆ โดยส่วนผสมที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ครีม มีดังนี้

อลูมิเนียมผสม (Aluminum Compounds)

ส่วนใหญ่แล้วอลูมิเนียมผสม มักจะเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย หากรักแร้แดงหรือเกิดอาการลอก หลังจากทาครีมหรือผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย นี่อาจเป็นสัญญาณว่ามีอาการแพ้ครีมเนื่องจากการใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ควรหยุดใช้ทันที

กรด (Acids)

กรดต่าง ๆ ที่เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ไม่ว่าจะเป็น

  • กรดซาลิไซลิก เป็นกรดเบต้าไฮดรอกซี ที่ละลายในน้ำมัน ใช้ในการรักษาสิวและลดปัญหาผิวมัน
  • เรตินอยด์ ทำให้เซลล์ผิวเจริญเติบโตเป็นปกติ และช่วยเสริมสร้างการกระตุ้นคอลลาเจนในชั้นผิว
  • กรดไกลโคลิก เป็นกรดอัลฟาไฮดรอกซี ที่ละลายน้ำได้

กรดเหล่านี้อาจทำให้เกิด อาการแพ้ครีม จนผิวหนังระคายเคือง ผิวหนังแห้งกร้าน แดงและเกิดอาการแสบร้อนหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป

น้ำหอม

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางชนิดอาจผสมน้ำหอม เพื่อให้มีกลิ่นที่น่าใช้มากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอมเหล่านี้สามารถกระตุ้นทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังจนร่างกายเกิดอาการแพ้ครีมได้

ผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวนุ่มและชุ่มชื้น  

ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นหลาย ๆ ตัว มักมีส่วนผสมของ ลาโนลิน (lanolin) น้ำมันมะพร้าว ไอโซโพรพิลปามิเตท (isopropyl palmitate) ไอโซสเตียริลไอโซสเตเรต (isostearyl isosterate) และไมริสทิลแลคเตท (myristyl lactate) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ควรระมัดระวังเพราะอาจทำให้เกิดสิว และอาจนำไปสู่อาการแพ้ เช่น ผื่นแดง เป็นปื้น รู้สึกคัน

น้ำมันหอมระเหย

แม้ว่าน้ำมันหอมระเหยจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ แต่สำหรับบางคนอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง เกิดผื่นได้ สำหรับผู้ที่แพ้น้ำมันหอมระเหย ควรตรวจสอบส่วนผสมของครีมบำรุงผิวก่อนซื้อเสมอ เพราะหากใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีน้ำมันหอมระเหย อาจทำให้เกิด อาการแพ้ครีม ได้

สารกันบูด

ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจใส่สารกันบูด เพื่อยืดอายุในการเก็บรักษาและป้องกันการเกิดกลิ่นเหม็นหืน แต่สารกันบูดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยสำหรับโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส

สารสี

สารแต่งสีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวหนังที่บอบบาง ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์และหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นได้

แพ้ครีม รักษายังไง

อาการแพ้ครีม ในแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสารกระตุ้นหรือที่เรียกว่าสารก่อภูมิแพ้ บางคนอาจเกิดผื่นแดงบวม ในบริเวณที่ใช้ครีมทาหน้า ซึ่งการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับ ชนิดของอาการแพ้ ตำแหน่ง และความรุนแรงของอาการ ซึ่งการรักษาและการดูแลตนเองที่นิยมใช้ ได้แก่

รับประทานยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ อาจช่วยลดอาการบวมแดงและคัน จากผื่นและลมพิษบนใบหน้าได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดน้ำมูก และอาการคัดจมูกที่เกิดจากอาการแพ้ต่าง ๆ ได้ด้วย อาจสอบถามเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้านหากมีข้อสงสัย

คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

ครีม สเปรย์ หรือยาหยอดตาที่มีส่วนประกอบเป็นคอร์ติโคสเตียรอยด์สามารถช่วยลดการอักเสบได้ โดยคอร์ติโคสเตียรอยด์จะช่วยขยายทางเดินหายใจในจมูก ทำให้หายใจสะดวกมากขึ้น

หยุดใช้ครีมทุกชนิด

ควรหยุดใช้ครีม โลชั่ นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทุกชนิด แม้จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง แต่หากมีอาการแพ้ครีม ควรหยุดใช้ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นผิวหนังที่เกิดอาการแพ้

การประคบเย็น

การประคบเย็นด้วยผ้าเย็น หรือผ้านุ่ม ๆ ที่ห่อน้ำแข็ง บริเวณผิวหนังที่มีอาการแพ้ครีม อาจช่วยบรรเทาอาการคัน ปวดบวม และลดการอักเสบได้

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง ควรไปพบคุณหมอ ซึ่งอาจรักษาด้วยวิธีการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด โดยแพทย์จะให้ผู้ที่มีอาการแพ้ครีม สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เริ่มจากในปริมาณเล็กน้อย แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น เป็นเวลานาน 3 ปี เพื่อให้ร่างกายชินกับสารก่อภูมิแพ้ จนสามารถเอาชนะสารก่อภูมิแพ้นั้น ๆ ได้ วิธีการนี้สามารถลดความรุนแรงและระยะเวลาของอาการแพ้ได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Skin Reactions to Beauty Products. https://www.webmd.com/allergies/cosmetics. Accessed April 21, 2022.

7 Skin Care Ingredients That Can Trigger Allergic Reactions. https://www.everydayhealth.com/pictures/skin-care-ingredients-allergic-reactions/. Accessed April 21, 2022.

How to get rid of an allergic reaction on the face. https://www.medicalnewstoday.com/articles/321376. Accessed April 21, 2022.

Allergens in Cosmetics. https://www.fda.gov/cosmetics/cosmetic-ingredients/allergens-cosmetics. Accessed April 21, 2022.

Skin Allergy. https://www.aaaai.org/Conditions-Treatments/Allergies/Skin-Allergy. Accessed April 21, 2022.

Understanding allergic reactions to skin care products. https://www.nih.gov/news-events/nih-research-matters/understanding-allergic-reactions-skin-care-products. Accessed on 21 April, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/10/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นแดง อาการ สาเหตุ และการป้องกัน

ไขข้อสงสัย พาราเบน ในเครื่องสำอาง ส่งผลอันตรายต่อผิวเราได้จริงหรือ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 10/10/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา