backup og meta

ระบบย่อยอาหาร หน้าที่และความสำคัญ

ระบบย่อยอาหาร หน้าที่และความสำคัญ

ระบบย่อยอาหาร เป็นระบบที่มีหน้าที่ลำเลียงอาหาร ย่อยสลาย และดูดซึมสารอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงร่างกาย โดยระบบย่อยอาหารจะเริ่มต้นตั้งแต่ในปากเชื่อมต่อกันไปจนถึงทวารหนัก ประกอบด้วยระบบทางเดินอาหารและส่วนช่วยกระบวนการย่อยอาหารอย่างตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดีที่ทำงานร่วมกัน การดูแลระบบย่อยอาหารให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอ อาจช่วยส่งเสริมให้การทำงานของระบบย่อยอาหารและการดูดซึมดีขึ้น และอาจช่วยป้องโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร เช่น กรดไหลย้อน ริดสีดวง แผลในกระเพาะอาหารได้

[embed-health-tool-bmi]

ระบบย่อยอาหาร คืออะไร

ระบบย่อยอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ที่เชื่อมต่อตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก โดยอาหารจะถูกส่งผ่านตามอวัยวะต่าง ๆ ตามลำดับ ประกอบด้วยปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง และทวารหนัก โดยมีตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี ช่วยส่งเสริมกระบวนการย่อนสลายและดูดซึมสารอาหารเข้ากระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกายต่อไป

ระบบย่อยอาหารมีความสำคัญเนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำจากอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทาน เพื่อใช้เป็นพลังงานให้ระบบภายในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ ใช้ในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมเซลล์

ระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วยอะไรบ้าง

ระบบย่อยอาหารประกอบด้วยอวัยวะหลักตามลำดับการทำงาน คือ ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง และทวารหนัก โดยมีตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี ช่วยส่งเสริมกระบวนการย่อยอาหาร ดังนี้

  • ปาก จุดเริ่มต้นของระบบทางเดินอาหาร โดยการย่อยอาหารจะเริ่มต้นที่ปากทันทีที่รับประทานอาหาร การเคี้ยวเป็นการแบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ย่อยง่าย และน้ำลายที่ผสมเข้ากับอาหารมีเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ช่วยอาหารย่อยอาหารประเภทแป้งให้อยู่ในรูปแบบที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้
  • หลอดอาหาร เป็นกล้ามเนื้อที่แยกออกจากหลอดลมและเชื่อมต่อไปยังกระเพาะอาหาร โดยใช้วิธีการหดตัว (Peristalsis) เพื่อเคลื่อนย้ายอาหาร บริเวณกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างจะมีลิ้นเปิดปิดเพื่อป้องกันการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร
  • กระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะที่มีผนังกล้ามเนื้อแข็งแรงคล้ายถุง ทำหน้าที่รองรับอาหาร ผสมและบดอาหาร โดยหลั่งกรดเอนไซม์เพปซิน (Pepsin) ช่วยในกระบวนการย่อยอาหารประเภทโปรตีน จากนั้นอาหารจะกลายเป็นของเหลวเพื่อเคลื่อนไปที่ลำไส้เล็ก
  • ลำไส้เล็ก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) ลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunum) และลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum) อาจมีความยาวประมาณ 5-6 เมตร ลำไส้เล็กจะเริ่มกระบวนการย่อยไขมันด้วยเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ให้เป็นกรดไขมันและ กลีเซอรอล (glycerol) และดูดซึมโดยใช้น้ำดีที่ผลิตจากตับช่วยในการย่อยอาหารและกำจัดของเสีย โดยกระบวนการย่อยส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนลำไส้เล็กส่วนกลางและลำไส้เล็กส่วนปลายจะทำหน้าที่การดูดซึมอาหารเข้าสู่กระแสเลือด
  • ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ขับของเสีย เชื่อมต่อกับลำไส้เล็กและไส้ตรง มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ประกอบด้วย ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (Caecum) ลำไส้ใหญ่ด้านขวา (Ascending Colon)  ลำไส้ใหญ่แนวขวาง (Transverse colon) ลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย (Descending colon) ลำไส้ใหญ่ซิกมอยด์ (Sigmoid) ที่เชื่อมต่อกับไส้ตรง โดยของเสียที่เหลือจากการย่อยอาหารในรูปแบบของเหลวจะถูกส่งผ่านไส้ตรง ระหว่างเคลื่อนผ่าน น้ำจะถูกดูดซึมออกจนกลายเป็นรูปแบบของแข็ง และใช้เวลาประมาณ 36 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อไปยังทวารหนักเตรียมการกำจัดออก
  • ไส้ตรง เชื่อมต่อลำไส้ใหญ่กับทวารหนัก ทำหน้าที่รับอุจจาระจากลำไส้ใหญ่ เพื่อเก็บไว้เตรียมขับถ่ายออก
  • ทวารหนัก ส่วนสุดท้ายของระบบทางเดินอาหาร ประกอบด้วยกล้ามเนื้อหูรูดที่ช่วยควบคุมอุจจาระ ป้องกันไม่ให้อุจจาระออกจนกว่าสมองจะสั่งการให้ขับถ่าย
  • ตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี มีส่วนช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร โดยตับอ่อนจะหลั่งเอนไซม์ในลำไส้เล็กส่วนต้นช่วยย่อยโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต และสร้างอินซูลินเพื่อช่วยเผาผลาญน้ำตาล ตับจะหลั่งน้ำดีช่วยย่อยไขมันและวิตามินบางชนิด รวมถึงขับสารพิษในร่างกาย ส่วนถุงน้ำดีทำหน้าที่เก็บและปล่อยน้ำดีไปยังลำไส้เล็กส่วนต้นเพื่อช่วยดูดซึมและย่อยไขมัน

หน้าที่ของระบบย่อยอาหาร

ระบบย่อยอาหารมีหน้าที่เปลี่ยนแปลงอาหารให้อยู่ในรูปแบบสารอาหารที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้เพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกาย โดยในแต่ละส่วนจะเคลื่อนย้ายอาหารผ่านทางเดินอาหาร พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ง่ายต่อการดูดซึม และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ กากใยที่ไม่สามารถย่อยสลายได้จะกลายเป็นอุจจาระ เพื่อกำจัดออกจากร่างกาย

โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่พบบ่อย

โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารที่พบบ่อย มีดังนี้

  • กรดไหลย้อน เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าหลอดอาหาร อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ มีอาการแสบหน้าอกหรือคอ และมีปัญหาการกลืน
  • โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) เกิดจากการอักเสบหรือการติดเชื้อของถุงผนังส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ อาจมีอาการปวดเล็กน้อยหรือปวดรุนแรงที่ช่องท้องด้านล่างซ้าย
  • แผลในกระเพาะอาหาร มักเกิดจากแบคทีเรีย Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดการอักเสบในระยะยาวได้
  • ริดสีดวงทวาร เป็นก้อนที่เกิดจากหลอดเลือดทวารหนักบวม อาจมีอาการเจ็บและคัน เมื่ออุจจาระอาจทำให้มีเลือดออกได้
  • ท้องผูก เกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้น้อยกว่าปกติ อุจจาระมักมีลักษณะแห้ง แข็ง อาจทำให้อุจจาระยากและเจ็บปวด
  • ท้องเสีย อุจจาระเหลวและมีน้ำมาก อาจเกิดจากแบคทีเรียในร่างกาย อาหาร หรือบางกรณีอาจไม่ทราบสาเหตุของอาการท้องเสีย
  • นิ่วถุงน้ำดี เกิดจากการตกตะกอนของหินปูนหรือคอเลสเตอรอลในน้ำดี อาจมีอาการท้องอืด แน่นท้อง หนาวสั่น ปวดลิ้นปี่ เป็นต้น
  • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome : IBS) กล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่หดตัวบ่อยกว่าปกติ อาจมีอาการปวดท้องและตะคริว
  • แพ้แลคโตส เป็นภาวะที่ไม่สามารถถย่อยสลายแลคโตสได้
  • โรคซิลิแอค (Celiac) โรคภูมิต้านทานตนเองทำลายลำไส้เล็กเมื่อผู้ป่วยรับประทานกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่พบในข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์

การดูแลระบบย่อยอาหาร

การดูแลเพื่อให้ระบบย่อยอาหารสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เนื่องจากไฟเบอร์มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ช่วยส่งเสริมให้ลำไส้เคลื่อนไหว และกระตุ้นการขับถ่าย
  • รับประทานอาหารให้หลากหลาย รับประทานอาหารที่มีทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่อาจมีสารอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร
  • รับประทานอาหารที่มีโปรไบโอติก โปรไบโอติกเป็นแบคทีเรียที่ดีที่ช่วยต่อสู้กับแบคทีเรียไม่ดีในลำไส้ และยังช่วยบำรุงลำไส้ให้สุขภาพดีอีกด้วย
  • เคี้ยวอาหารช้า ๆ จะช่วยให้ร่างกายสามารถย่อยอาหารได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากระบบย่อยอาหารจะเริ่มต้นตั้งแต่ในปาก การบดเคี้ยวและน้ำลายจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารได้ง่ายขึ้น
  • ดื่มน้ำมาก ๆ น้ำมีส่วนช่วยให้อาหารไหลผ่านระบบย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาท้องผูกได้
  • ขยับร่างกาย จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น เช่น การเดินหลังรับประทานอาหารจะช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น
  • จัดการความเครียด ความเครียดส่งผลต่อปัญหาทางเดินอาหารได้ เช่น อาการท้องผูก หรือท้องเสีย
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์อาจเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อน อาการเสียดท้อง และแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงกรดไหลย้อนมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Your Digestive System & How it Works. https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/digestive-system-how-it-works. Accessed November 2, 2021

Your Digestive System. https://kidshealth.org/en/kids/digestive-system.html. Accessed November 2, 2021

Your Digestive System. https://www.webmd.com/heartburn-gerd/your-digestive-system. Accessed November 2, 2021

Digestive system. https://www.healthdirect.gov.au/digestive-system. Accessed November 2, 2021

digestive system. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/digestive-system. Accessed November 2, 2021

Slide show: See how your digestive system works. https://www.mayoclinic.org/digestive-system/sls-20076373?s=2. Accessed November 2, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/02/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการไส้ติ่ง เริ่มต้นจะเป็นอย่างไร อาการไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากอะไร

สุดยอด อาหารช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี กินแล้วดีต่อลำไส้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา