ความดันโลหิตสูงวิกฤต เป็นภาวะร้ายแรงที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ แต่ภาวะนี้จะมีอาการอย่างไร แล้วเราจะรับมือได้อย่างไรบ้าง วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต ให้มากขึ้นกันค่ะ
[embed-health-tool-heart-rate]
ความดันโลหิตสูงวิกฤต คืออะไร
ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต (Hypertension Crisis) คือ ภาวะที่ร่างกายมีความดันโลหิตสูงมากกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นระดับที่อันตรายต่อร่างกาย และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ตรงเวลา หรือหยุดการรับประทานยาเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง ทำให้ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เป็นภาวะร้ายแรงที่ต้องรีบทำการรักษา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลเสียต่ออวัยวะภายในร่างกาย หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ประเภทของ ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต
ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะเร่งด่วนจากความดันโลหิตสูง (Hypertensive Urgency) และ ภาวะฉุกเฉินจากความดันโลหิตสูง( Hypertensive Emergency) โดยมีความแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
- ภาวะเร่งด่วนจากความดันโลหิตสูง (Hypertensive Urgency) คือภาวะร่างกายมีค่าความดันโลหิตมากกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท แต่ยังไม่ส่งผลเสียต่ออวัยวะ
- ภาวะฉุกเฉินจากความดันโลหิตสูง (Hypertensive Emergency) คือการที่ระดับความดันโลหิต พุ่งขึ้นสูงจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในสมอง ปอดบวม หากไม่รีบทำการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตในที่สุด
สัญญาณและอาการที่ควรระวัง
อาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจเข้าสู่ ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต มีดังต่อไปนี้
- มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง
- อาการปวดศีรษะรุนแรง
- ชีพจรเต้นเร็ว
- อาการบวมหรือบวมน้ำ (การสะสมของเหลวในเนื้อเยื่อ)
- อาการสับสน มึนงง
- สายตาพร่ามัว
- อาการชัก
- คลื่นไส้และอาเจียน
การวินิจฉัยและการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต
สำหรับการวินิจฉัย ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติ และอาการของผู้ป่วยรวมถึงยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ ทั้งยาหลักที่ใช้ในการรักษาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับความดันโลหิต นอกจากนี้ แพทย์จะทำการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อตรวจระดับความดันโลหิตและประเมินความเสียหายของอวัยวะ เช่น ตรวจสอบระดับความดันโลหิต ตรวจหาอาการบวมและเลือดออกในอวัยวะ ตรวจสอบปัสสาวะ เป็นต้น
สำหรับวิธีการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต แพทย์จะต้องรีบทำการรักษาให้เร็วที่สุดเพื่อลดความดันโลหิต โดยให้ยาลดความดันโลหิตทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันความเสียหายของอวัยวะ