backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ภาวะหัวใจวาย กับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แม้คล้ายคลึง... แต่แตกต่าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/06/2021

ภาวะหัวใจวาย กับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แม้คล้ายคลึง... แต่แตกต่าง

ภาวะหัวใจวาย กับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นภาวะเกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ และบางคนอาจยังเข้าใจผิดว่าทั้งสองภาวะนี้มีคล้ายคลึงกัน แต่ความจริงแล้ว ทั้งสองภาวะนี้กลับมีสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน วันนี้ Hello คุณหมอ เลยอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจทั้งสองภาวะนี้ให้กระจ่างขึ้น ว่าแต่ความแตกต่างของภาวะนี้จะมีอะไรบ้าง

ภาวะหัวใจวาย คืออะไร

ภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงถูกอุดกั้น จนทำให้เลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจบางส่วนได้ และหากหลอดเลือดที่ถูกอุดกั้นอยู่ไม่สามารถกลับมาทำงานตามปกติภายในเวลาอันรวดเร็ว หัวใจส่วนที่ควรได้รับสารอาหารจากหลอดเลือดนั้น ๆ ก็จะเริ่มตาย ยิ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้าเท่าไหร่ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น

อาการที่พบได้บ่อยของภาวะหัวใจวาย ได้แก่

ส่วนใหญ่แล้ว อาการของภาวะ หัวใจวาย จะค่อย ๆ เกิดขึ้นและคงอยู่เป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ ก่อนที่หัวใจจะวาย แต่บางครั้ง อาการก็อาจเกิดขึ้นแบบฉับพลันและรุนแรงได้เช่นกัน และขณะที่หัวใจวาย หัวใจก็จะยังคงทำงานอยู่ ไม่ได้หยุดเต้นแต่อย่างใด

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คืออะไร

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อคลื่นกระแสไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ จนทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ระบบสูบฉีดเลือดของหัวใจจึงขัดข้อง จนหัวใจไม่สามารถบีบตัวหรือสูบฉีดเลือดเลี้ยงสมอง ปอด หรืออวัยวะอื่น ๆ ได้ตามปกติ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติและไม่มีชีพจรภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และมักไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ ทั้งสิ้น และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

อาการที่พบได้ทั่วไปของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ได้แก่

  • เป็นลมหมดสติ
  • ไม่มีชีพจร
  • ไม่หายใจ

โดยอาการข้างต้นจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการต่อไปนี้ได้ด้วย

  • หน้าเขียว
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • เวียนศีรษะเพราะใจสั่น
  • รู้สึกไม่ค่อยสบาย

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักพบในผู้สูงอายุ แต่คนวัยหนุ่มสาวที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจจากพันธุกรรม ก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ฉะนั้น หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันที่เหมาะสมที่สุด

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนของสองภาวะนี้

ความแตกต่างระหว่าง ภาวะหัวใจวาย กับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน นอกจากเรื่องอาการที่พบได้บ่อย และสาเหตุของการเกิดโรคแล้ว อีกเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนมากก็คือ ระยะเวลาในการเกิดโรค เพราะอาการที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ของภาวะ หัวใจวาย มักเกิดขึ้นก่อนหัวใจวายจริง นานเป็นชั่วโมง เป็นวัน ไปจนถึงเป็นสัปดาห์ ในขณะที่อาการของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากหัวใจมีปัญหาแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น

ภาวะหัวใจวาย กับ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกี่ยวข้องกันหรือไม่

แม้ภาวะหัวใจวายกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะแตกต่างกัน แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกัน คือ ผู้ป่วยที่หัวใจวายอาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ทั้งในขณะที่หัวใจวาย ขณะรักษา และขณะกำลังพักฟื้น แม้ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเนื่องจากหัวใจวายจะไม่ใช่ภาวะที่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ภาวะหัวใจวายก็จัดเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพหัวใจอื่น ๆ เช่น

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ
  • กลุ่มอาการระยะคิวทียาว (Long QT Syndrome)

ก็อาจส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ และนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เช่นกัน

เจอผู้ป่วยภาวะ หัวใจวาย ควรทำอย่างไร

หากคุณพบผู้ป่วยหัวใจวาย ควรรีบโทรแจ้งสายด่วนผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกสถานพยาบาลที่เบอร์ 1669 ทันที เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ก็จะรีบส่งทีมเจ้าหน้าที่มารับผู้ป่วย และส่งต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยทีมแพทย์ฉุกเฉินจะปฐมพยาบาลผู้ป่วยตั้งแต่อยู่บนรถพยาบาล เช่น การปั๊มหัวใจ ในกรณีที่หัวใจของผู้ป่วยหยุดเต้น และเมื่อถึงโรงพยาบาลก็จะส่งต่อผู้ป่วยให้ทางโรงพยาบาลดูแลต่อไป

เจอผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ควรทำอย่างไร

หากคุณพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ก็ควรรีบโทรแจ้งสายด่วนผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตินอกสถานพยาบาลที่เบอร์ 1669 เช่นกัน จากนั้นควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ทันทีที่หาอุปกรณ์ได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ระบบคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานอีกครั้ง และเริ่มทำซีพีอาร์ (CPR) เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจน ไปจนกว่าทีมแพทย์ฉุกเฉินจะมาถึง หากในบริเวณที่เกิดเหตุมีคนอยู่มากกว่าหนึ่งคน แนะนำให้คนหนึ่งทำซีพีอาร์ ส่วนคนอื่น ๆ โทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน และหาเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ

ถึงแม้ภาวะ หัวใจวาย กับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะแตกต่างกัน แต่ก็มีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ ทั้งผู้ป่วยที่หัวใจวายและผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งรักษาเร็ว โอกาสในการรอดชีวิตก็จะยิ่งมากขึ้น ยิ่งหากผู้ป่วยเคยมีประวัติหัวใจวายมาก่อน หรือป่วยเป็นโรคหัวใจ ก็ยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในคนกลุ่มนี้จะสูงกว่าคนกลุ่มอื่น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 16/06/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา