โรคความดันโลหิตสูงในเด็ก ส่วนใหญ่จะพบได้ในเด็กที่ชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารที่มีไขมันสูง มักเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น โรคอ้วน คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็อาจส่งผลระยะยาว ทำให้มีปัญหาสุขภาพในอนาคตได้
[embed-health-tool-heart-rate]
โรคความดันโลหิตสูงในเด็ก (Hypertension in children) คืออะไร
โรคความดันโลหิตสูงในเด็ก (Hypertension in children) เกิดขึ้นในเด็กที่มีระดับความดันโลหิตมากกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท โดยส่วนใหญ่มักพบในเด็กที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักสำหรับโรคความดันโลหิตสูงในวัยเด็ก รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- สมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- ระบบฮอร์โมนผิดปกติ
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โรคความดันโลหิตสูงในวัยเด็ก ถือเป็นภาวะที่น่ากังวอย่างมาก หากปล่อยทิ้งไว้ระยะเวลานาน ๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำหรือรับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูงต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นต้น
สัญญาณเตือนโรคความดันโลหิตสูงในเด็ก
อาการที่พบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในภาวะ ความดันโลหิตสูง มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ
- อาการชัก
- อาเจียน
- เจ็บหน้าอก
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจถี่
เคล็ดลับลดความดันโลหิตสูงง่าย ๆ
วิธีการลด ความดันโลหิตสูง ในวัยเด็กจะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีเคล็ดลับง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายแบบแอโรบิกทุกวัน โดยการตั้งเป้าหมายให้กับตนเอง อย่างน้อยวันละ 60 นาทีขึ้นไปต่อวัน
- ลดกิจกรรมบางประเภทลง เช่น เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์ให้น้อยลง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ จำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลให้น้อยกว่า 300 มิลลิกรัม ต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำผลไม้ น้ำประเภทหวานเย็น เช่น ชาเย็น ชานม
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง หรือรับประทานอาหารที่มีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพาเด็ก ๆ เข้ารับการตรวจสุขภาพ หรือวัดความดันด้วยอุปกรณ์วัดความดันพกพาอย่างเป็นประจำ เพื่อเช็กอาการ และพัฒนาการของระดับความดันว่าอยู่ในเกณฑ์ดีหรือไม่ หากมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้น และอาการผิดปกติขึ้น อาจต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์อีกครั้งในการรักษา หรือรับยาลดความดันโลหิตที่เหมาะสมตามแพทย์กำหนด