ตะคริวเกิดจากอะไร? คำถามนี้มีคำตอบ ตะคริวเกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน อันเนื่องจากการขาดน้ำ หรือการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก ซึ่งตะคริวนั้นเกิดขึ้นได้กับอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า น่อง ทั้งนี้ ตะคริวไม่ใช่อาการอันตราย แต่อาจทำให้รู้สึกปวดบริเวณที่เป็นตะคริวชั่วขณะเป็นครั้งคราว เมื่อปล่อยไว้อาการตะคริวจะหายไปเอง หรืออาจใช้วิธีเหยียดกล้ามเนื้อ หรือนวดบริเวณที่เป็นตะคริว เพื่อคลายอาการปวดเกร็ง ทั้งนี้ หากเป็นตะคริวบ่อยจนรบกวนการใช้ชีวิต ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ
ตะคริวเกิดจากอะไร
ตะคริว เป็นอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน โดยปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่าตะคริวเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าตะคริวอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น
- การออกกำลังกาย หรือกีฬาบางประเภทซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งอย่างหนัก
- การขาดน้ำ เพราะการมีน้ำอยู่ในร่างกายอย่างเพียงพอจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและไม่หดเกร็ง
- การนั่งหรือยืน อย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนล้าและเกิดการหดเกร็งได้
- การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์หลัง ๆ ซึ่งครรภ์มีขนาดใหญ่ ทำให้ขาของหญิงตั้งครรภ์ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- การมีอายุมาก หรือตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป โดยเมื่ออายุมากความยืดหยุ่นของร่างกายน้อยลง ทำให้เส้นเอ็นมีโอกาสหดเกร็งบ่อยขึ้น
- การรับประทานยาบางอย่าง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ยาป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกในหญิงวัยหมดประจำเดือน อาจมีผลข้างเคียงทำให้เป็นตะคริวได้
นอกจากนี้ ตะคริวยังเกิดจากภาวะสุขภาพบางอย่างได้ เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคพาร์กินสัน
- โรคบาดทะยัก
- ภาวะเท้าแบน
- ภาวะที่มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
อาการของตะคริว
อาการของตะคริวประกอบด้วย ความรู้สึกเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน และอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง บริเวณขา น่อง นิ้วมือหรือนิ้วเท้า โดยจะเป็นเพียงไม่กี่นาทีแล้วหายไป และมักเป็นตอนกลางคืนเนื่องจากขณะหลับกล้ามเนื้อบางส่วนอาจหดเกร็งโดยไม่รู้ตัว
ทั้งนี้ ตะคริว ไม่เป็นอันตราย แต่ควรไปพบคุณหมอ หากเป็นตะคริวในลักษณะดังต่อไปนี้
- เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นประจำ โดยที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือภาวะสุขภาพอื่น ๆ
- สร้างความเจ็บปวดมากกว่าปกติ หรือกินเวลานานหลายนาทีจึงจะหาย
- มีอาการปวดบวมหรือผื่นแดงร่วมด้วยในบริเวณที่เป็นตะคริว
- อาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเองด้วยการยืด เหยียด นวดผ่อนคลายหรือกลับมาเป็นซ้ำต่อเนื่องหลังจากหายแล้ว
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นตะคริว
โดยทั่วไป ตะคริว จะเกิดขึ้นไม่นานแล้วหายไปเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นตะคริว สามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่อไปนี้ เพื่อให้อาการเจ็บปวดหายเร็วขึ้น
- ยืดกล้ามเนื้อ บริเวณที่เป็นตะคริว เช่น หากเป็นที่ขาควรเหยียดขาข้างที่เป็นตะคริวให้ตรง
- ใช้มือบีบนวดเบา ๆ บริเวณซึ่งเป็นตะคริว จนกว่าอาการจะทุเลาลง โดยอาจทำร่วมกับการยืดกล้ามเนื้อ
- ลุกยืน หรือเดินไปรอบ ๆ เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หากเป็นที่ขาอาจสะบัดขาข้างที่เป็นตะคริวไปด้วย เพื่อคลายกล้ามเนื้อ
- ประคบร้อนหรือเย็น บริเวณที่เป็นตะคริว ในกรณีประคบร้อน ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวชุบน้ำร้อนหรือถุงร้อน แนบบริเวณที่เป็นตะคริว ส่วนการประคบเย็นให้ทำแบบเดียวกันโดยใช้น้ำแข็งหรือถุงเย็น
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน
วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการตะคริว
ตะคริวป้องกันได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน หรือมากกว่านั้นหากออกกำลังกายหนัก เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ อันเป็นปัจจัยหนึ่งของการเป็นตะคริว
- ยืดกล้ามเนื้อก่อนเข้านอน ด้วยการเดินบนลู่วิ่ง หรือปั่นจักรยานในร่มเป็นเวลา 2-3 นาที นอกจากนี้ ควรหาเวลายืดกล้ามเนื้อน่องหรือต้นขาระหว่างวัน ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ห่มผ้าห่มโดยเหลือพื้นที่นิ้วเท้าขยับได้ เพื่อป้องกันนิ้วเท้าเกร็งเกินไปหากขยับไม่ได้ ทำให้เสี่ยงเป็นตะคริว หากเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิเย็นจัด ควรสวมถุงเท้าขณะนอนด้วย
- เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสมกับขนาดและรูปร่างเท้า หรือรองเท้าที่ช่วยรองรับน้ำหนักหรือแรงกดของผู้สวมใส่ เพื่อลดการเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณขาหรือเท้า