backup og meta

Zinc ช่วยอะไร และมีผลข้างเคียงอย่างไร

Zinc ช่วยอะไร และมีผลข้างเคียงอย่างไร

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า Zinc ช่วยอะไร Zinc (ซิงค์) หรือสังกะสี เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เพราะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเซลล์ที่เสียหาย พัฒนาระบบประสาทสัมผัสในการรับรสและกลิ่น โดยสามารถพบแร่สังกะสีได้ในอาหารจำพวกอาหารทะเล เนื้อวัว เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และผักบางชนิด รวมถึงแร่สังกะสีในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างไรก็ตาม การบริโภคแร่สังกะสีมากเกินไปอาจส่งผลข้างเคียง เช่น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย

[embed-health-tool-bmi]

Zinc คืออะไร

Zinc หรือสังกะสี คือ แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ในการช่วยเสริมความแข็งแรงให้เซลล์เนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบภูมิคุ้มกัน โดยปกติร่างกายไม่สามารถกักเก็บแร่สังกะสีไว้ได้ และจำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น หากร่างกายขาดแร่สังกะสี อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย และอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยบ่อย บางคนอาจมีอาการผมร่วง รู้สึกเบื่ออาหาร และมีปัญหาด้านการมองเห็น

อาหารที่เป็นแหล่งของสังกะสีที่แนะนำให้รับประทาน มีดังต่อไปนี้

  • หอยนางรม เป็นอาหารที่มีสังกะสีในปริมาณสูง สำหรับหอยนางรมขนาดกลาง 6 ตัว อาจมีสังกะสีประมาณ 32 มิลลิกรัม
  • เนื้อวัว มีสังกะสีสูงรองจากหอยนางรม โดยเนื้อวัว 100 กรัม อาจมีแร่สังกะสีประมาณ44 มิลลิกรัม
  • ปู แบบปรุงสุก 1 ตัว อาจมีสังกะสีประมาณ 48 มิลลิกรัม
  • กุ้งก้ามกราม ที่มีขนาดเล็ก 1 ตัว อาจมีสังกะสีประมาณ74 มิลลิกรัม
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปริมาณ 56 กรัม อาจมีสังกะสีประมาณ 3 มิลลิกรัม
  • เนื้อหมู ปริมาณ 113 กรัม อาจมีสังกะสีประมาณ 2 มิลลิกรัม
  • ถั่วลูกไก่ ปริมาณ 100 กรัม อาจมีสังกะสีประมาณ5 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ แร่สังกะสีอาจสามารถพบได้ในอาหารจำพวก ถั่วลิสง ฟักทอง เนื้อแกะ ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ มันฝรั่ง คะน้า รวมถึงผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

Zinc ช่วยอะไรบ้าง

สังกะสีอาจมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย ที่อาจให้ประโยชน์ ดังนี้

  • อาจช่วยรักษาบาดแผล

แร่สังกะสีมีบทบาทสำคัญที่อาจช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายที่อาจส่งผลให้แผลสมานตัวเร็วขึ้น จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของสังกะสีต่อการฟื้นตัวของบาดแผล พบว่า สังกะสีอาจช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์และกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทนเซลล์และเนื้อเยื่อที่เสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้แผลสมานตัวอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

  • อาจช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด

แร่สังกะสีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ที่อาจช่วยบรรเทาอาการของไข้หวัด อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเกิดโรคได้ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Cochrane Database of Systematic Reviews เมื่อปี พ.ศ. 2558 ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้แร่สังกะสีกับไข้หวัดโดยการศึกษาจากการทดลองที่มีการใช้สังกะสีเพื่อป้องกันโรคหวัดจำนวนทั้งหมด 18 ฉบับ พบว่า การรับประทานแร่สังกะสีอาจช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการไข้หวัดได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของการใช้สังกะสีในการป้องกันโรคหวัด เนื่องจากข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่มากพอ

  • อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องร่วง

สังกะสีอาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม จากการศึกษาในวารสาร Journal of Global Health เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารเสริมสังกะสีเพื่อรักษาโรคท้องร่วงในเด็ก โดยให้เด็ก 3,407 คน อายุ 6-23 เดือน รับประทานอาหารเสริมสังกะสีในปริมาณ 20 มิลลิกรัม เป็นเวลา 10 วัน พบว่า สังกะสีอาจช่วยลดระยะเวลาของอาการท้องเสียได้กับเด็กที่มีอายุ 18 เดือนขึ้นไป สำหรับการรักษาท้องร่วงในเด็กเล็กอาจจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบผลที่ชัดเจน

  • อาจช่วยชะลอการเสื่อมของจอประสาทตา

แร่สังกะสีอาจช่วยชะลอความเสื่อมสภาพในจุดภาพชัดของจอประสาทตา ที่มีบทบาทสำคัญทำให้มองเห็นสิ่งรอบตัวได้อย่างชัดเจน และอาจช่วยป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อม จากการศึกษาในวารสาร International Journal of Molecular Sciences เมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแร่สังกะสีและภาวะจอประสาทเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอายุพบว่า การรับประทานสังกะสีอาจช่วยชะลอภาวะจุดภาพชัดที่จอประสาทตาเสื่อมและลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากอนุมูลอิสระที่ส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพ นำไปสู่ภาวะจอประสาทตาเสื่อม อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคตเพื่อให้ทราบผลที่แน่ชัด

Zinc มีผลข้างเคียงอย่างไร

โดยปกติแล้ว ควรรับประทานแร่สังกะสี ประมาณ 8-12 มิลลิกรัม/วัน สูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน หากรับประทานแร่สังกะสีมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ
  • อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ความอยากอาหารลดลง หรืออาจไม่อยากรับประทานอาหาร
  • อาจทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุทองแดงได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Zinc. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-zinc/art-20366112. Accessed June 13, 2022

Zinc – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-982/zinc. Accessed June 13, 2022

Zinc. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/zinc/. Accessed June 13, 2022

The Benefits of Zinc: What You Need to Know. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/what-to-know-about-benefits-of-zinc. Accessed June 13, 2022

Foods High in Zinc. https://www.webmd.com/diet/foods-high-in-zinc#1. Accessed June 13, 2022

Zinc in Wound Healing Modulation.  https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5793244/.Accessed June 13, 2022

Zinc for the common cold. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6457799/.Accessed June 13, 2022

Effects of therapeutic zinc supplementation for diarrhea and two preventive zinc supplementation regimens on the incidence and duration of diarrhea and acute respiratory tract infections in rural Laotian children: A randomized controlled trial. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7321011/. Accessed June 13, 2022

Zinc and Autophagy in Age-Related Macular Degeneration. https://www.mdpi.com/1422-0067/21/14/4994/htm. Accessed June 13, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/07/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้ มีอะไรบ้าง

แมกนีเซียม ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา