backup og meta

Zinc (สังกะสี) คุณประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

Zinc (สังกะสี) คุณประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

Zinc หรือ สังกะสี จัดเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ช่วยลดการอักเสบของเซลล์ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม สมานบาดแผลให้หายเร็วขึ้น ควบคุมการทำงานของต่อมไขมันบนหนังศีรษะ โดยทั่วไป สังกะสีพบได้ในเนื้อสัตว์ ผักและอาหารทะเลบางชนิด ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงธัญพืชและถั่วต่าง ๆ ทั้งนี้ หากร่างกายขาดธาตุสังกะสี อาจเกิดความผิดปกติของภาวะสุขภาพ อาทิ ผมร่วง สมรรถภาพทางเพศหย่อนยาน เบื่ออาหาร เจ็บป่วยง่าย อย่างไรก็ตาม ร่างกายควรได้รับสังกะสีในปริมาณที่พอดี เพราะหากร่างกายได้รับมากเกินไป อาจเกิดเป็นพิษและก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้

[embed-health-tool-bmi]

Zinc คืออะไร

Zinc หรือแร่สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่อยู่ในอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย มีประโยชน์ต่อระบบเผาผลาญพลังงานของเซลล์ การสังเคราะห์โปรตีนและสารพันธุกรรมในร่างกาย การรักษาบาดแผล รวมถึงเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบภูมิคุ้มกัน

สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ ควรบริโภคสังกะสีอย่างน้อย 11 มิลลิกรัม/วัน ในขณะที่ผู้หญิงอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรบริโภคอย่างน้อย 8 มิลลิกรัม/วัน

ทั้งนี้ สังกะสีสามารถพบได้ในอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น

  • เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อแดง
  • อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยนางรม ปู กุ้งมังกร
  • ผักบางชนิด เช่น เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพด บรอกโคลี กระเทียม
  • ถั่ว เมล็ดพืช และธัญพืชเต็มเมล็ด
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • ดาร์กช็อกโกแลต

ผลกระทบต่อสุขภาพหากร่างกายขาด Zinc

หากร่างกายได้รับสังกะสีไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดความผิดปกติ ดังต่อไปนี้

  • พัฒนาการของร่างกายเจริญเติบโตช้า ไม่เป็นไปตามวัย
  • ผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรือบริเวณดวงตา
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • แผลหายช้า ติดเชื้อง่าย
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผมร่วง ผมบาง ผมขาดง่าย
  • ความอยากอาหารลดลง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ฮอร์โมนเพศชายต่ำ เกิดอาการอ่อนล้า
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

ประโยชน์ของ Zinc ต่อสุขภาพ

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของสังกะสีในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องร่วง

สังกะสีมีคุณสมบัติส่งเสริมการต่อสู้กับเชื้อโรคในช่องท้อง โดยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมไฟไซท์ (Lymphocyte) ในระบบภูมิคุ้มกันเพิ่มจำนวนขึ้น การบริโภคสังกะสี จึงอาจช่วยลดความรุนแรงของโรคท้องร่วงได้

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการรับประทานสังกะสีทดแทน ในผู้ป่วยอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Pediatric ปี พ.ศ. 2558 โดยศึกษาและวิเคราะห์จากบทความที่เกี่ยวข้องจำนวน 860 ชิ้น และข้อมูลจากผลการทดลองจำนวน 8 ชิ้น สรุปได้ว่า การบริโภคสังกะสีทดแทน อาจช่วยลดระยะเวลาของอาการอุจจาระงร่วงเฉียบพลันในเด็กได้

นอกจากนั้น บทความชิ้นหนึ่ง ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition พ.ศ. 2557 ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) และยูนิเซฟ (UNICEF) ได้มีข้อตกลงร่วมกันในการแนะนำให้เด็กที่มีอาการอุจจาระร่วงเฉียบพลันรับประทานแร่สังกะสีปริมาณ 20 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 10-14 วัน ขึ้นอยู่กับอายุ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการท้องร่วงและป้องกันการเกิดซ้ำ

  1. อาจช่วยรักษาบาดแผลและสมานแผลให้หายเร็วขึ้น

สังกะสี เป็นแร่ธาตุสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซ่อมแซมบาดแผล ทั้งการซ่อมแซมเยื่อหุ้มเซลล์ การฟื้นฟูเยื่อบุผิวบริเวณรอบ ๆ แผล การสร้างเส้นเลือดใหม่ การขึ้นรูปของแผลเป็น การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี จึงอาจช่วยให้แผลสมานตัวหรือหายเร็วขึ้นได้

การศึกษาชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยคุณสมบัติของสังกะสีต่อการฟื้นฟูของแผลผ่าตัดทางประสาทศัลยศาสตร์ เผยแพร่ในวารสาร Cureus ปี พ.ศ. 2564 โดยนักวิจัยได้ศึกษาและวิเคราะห์บทความงานวิจัยใหม่ ๆ ที่ทำการทดลองในช่วงเวลาปัจจุบันจำนวนหลายชิ้น จนได้ข้อสรุปว่า การบริโภคสังกะสีในรูปแบบอาหารเสริมนับเป็นวิธีการที่ค่อนข้างได้ผลในการรับมือกับภาวะแผลฟื้นฟูช้าหลังการผ่าตัดทางประสาทศัลยศาสตร์ที่เกิดจากการขาดสังกะสีในร่างกายของผู้เข้ารับการผ่าตัด ทั้งนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า แร่ธาตุสังกะสีอาจมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูบาดแผลให้สมานตัวให้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนี้ อีกหนึ่งผลการศึกษาว่าด้วยการใช้แร่สังกะสีเพื่อช่วยในการรักษาบาดแผล ทั้งเชิงทฤษฎี การทดลอง และการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ตีพิมพ์ในวารสาร Wound Repair And Regeneration ปี พ.ศ. 2550 สรุปว่า สังกะสีอาจมีคุณสมบัติช่วยลดการติดเชื้อซ้ำซ้อนและการเน่าของบาดแผล เนื่องจากมีคุณสมบัติเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้และป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

  1. บรรเทาอาการไข้หวัด

สังกะสีมีคุณสมบัติยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดนอกจากนี้ สังกะสียังอาจป้องกันไม่ให้ไรโนไวรัสอาศัยอยู่ในเยื่อเมือกภายในโพรงจมูกและลำคอ จนทำให้เกิดการติดเชื้อหรือมีอาการป่วยได้ การบริโภคสังกะสี จึงอาจช่วยป้องกันหวัดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการบริโภคสังกะสีและไข้หวัด เผยแพร่ในวารสาร The Cochrane Database of Systematic Reviews ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาหวัดด้วยสังกะสีในวารสารทางการแพทย์จำนวนหลายชิ้น พบข้อสรุปว่า การบริโภคสังกะสีภายใน 24 ชั่วโมง หลังโรคหวัดแสดงอาการ อาจช่วยลดระยะเวลาเป็นหวัดในผู้ที่มีสุขภาพดีได้ ทั้งนี้ สำหรับการบริโภคสังกะสีแบบยาอม เพื่อบรรเทาอาการหวัด ควรบริโภคในปริมาณ 75 มิลลิกรัม/วัน หรือมากกว่า จึงจะเห็นผล

อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของสังกะสีในการรักษาโรคหวัด

ข้อควรระวังในการบริโภค Zinc

การบริโภคสังกะสี มีข้อควรระวังดังนี้

  • ไม่ควรบริโภคธาตุสังกะสีเกิน 40 มิลลิกรัม/วัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงในระยะให้นมบุตร สามารถบริโภคธาตุสังกะสีได้ ในปริมาณไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน หากอายุระหว่าง 14-18 ปี ควรบริโภคไม่เกิน 34 มิลลิกรัม/วัน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้ร่างกายดูดซึมสังกะสีได้แย่ลง และนำไปสู่ภาวะขาดสังกะสีได้
  • การสูดดมสังกะสีทางจมูก อาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่น หากจำเป็นต้องใช้สเปรย์หรือสารเคมีที่มีสังกะสีเป็นส่วนผสมระหว่างการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ควรป้องกันด้วยการสวมผ้าปิดจมูกและปากเพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมเข้าสู่ร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Zinc. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Zinc-HealthProfessional/#:~:text=Whole%20grains%20and%20milk%20products,and%20almonds)%20also%20contain%20zinc. Accessed May 27, 2022

Zinc in Wound Healing Modulation. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5793244/#:~:text=Zinc%20plays%20a%20major%20role,%2C%20to%20fibrosis%2Fscar%20formation. Accessed May 27, 2022

Zinc supplementation in acute diarrhea. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24954892/.

The Effect of Zinc on Post-neurosurgical Wound Healing: A Review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7039353/. Accessed May 27, 2022

Zinc in wound healing: theoretical, experimental, and clinical aspects. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17244314/. Accessed May 27, 2022

Zinc for the common cold. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6457799/. Accessed May 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

07/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้ มีอะไรบ้าง

สารอาหารที่ให้พลังงานได้แก่อะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา