กะเพรา เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมใช้นำมาเป็นเครื่องปรุงและส่วนประกอบของอาหารในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มาตั้งแต่โบราณ และยังเป็นแหล่งแร่ธาตุหลายชนิด ทั้งแคลเซียม วิตามิน เหล็ก แมกนีเซียม โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นรองรับว่า กะเพราอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บรรเทาอาการวิตกกังวล ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
คุณค่าทางโภชนาการของ กะเพรา
ใบกะเพราประมาณ ¼ ถ้วย ให้พลังงานประมาณ 1.38 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- โปรตีน 0.189 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 0.159 กรัม
- ใยอาหาร 0.096 กรัม
- ไขมัน 0.038 กรัม
- น้ำตาล 0.018 กรัม
นอกจากนี้ กะเพรายังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินเค แมงกานีส แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม
ประโยชน์ของกะเพราต่อสุขภาพ
กะเพรา อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของกะเพรา ดังนี้
-
อาจช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียด
กะเพราอาจช่วยบรรเทาอาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โดยมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่ากะเพราอาจมีฤทธิ์ในการคลายกังวลเทียบเท่ากับยานอนหลับและยาต้านเศร้า
งานวิจัยหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Nepal Medical College Journal ปี พ.ศ. 2551 ทำการทดลองเกี่ยวกับประโยชน์ของกะเพราในการลดความวิตกกังวล โดยให้อาสาสมัคร 35 คน (ชาย 21 คน และหญิง 14 คน) รับประทานสารสกัดจากกะเพราขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร เป็นเวลา 60 วัน พบว่า กะเพราช่วยบรรเทาโรควิตกกังวลทั่วไป รวมถึงความเครียดและอาการซึมเศร้าซึ่งเกิดร่วมกันได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Contemporary Dental Practice ปี พ.ศ. 2555 ระบุว่า แม้กะเพราอาจช่วยคลายกังวลได้ แต่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าสารอื่น ๆ ที่ใช้คลายกังวล เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกะเพราในการลดความเครียดและความวิตกกังวลในมนุษย์
-
อาจป้องกันมะเร็งได้
กะเพรา อาจช่วยป้องกันมะเร็ง โดยการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า สารต่าง ๆ ในกะเพรา เช่น ยูจีนอล (Eugenol) กรดโรสมารินิก ( Rosmarinic acid) อะพิจีนีน (Apigenin) ลูทีโอลิน (Luteolin) เอธานอล (Ethanol) อาจป้องกันโรคมะเร็งปอด มะเร็งปาก และมะเร็งตับได้
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Cancer Lett ปี พ.ศ. 2556 เกี่ยวกับประโยชน์ของกะเพรากับมะเร็งตับอ่อน รายงานว่า สารสกัดต่าง ๆ จากใบกะเพราโดยเฉพาะในส่วนของสารสกัดเอธานอลและน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา อาจมีสรรพคุณยับยั้งการเพิ่มจำนวนและการก่อเนื้องอก ของเซลล์มะเร็งตับอ่อน ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ควรทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกะเพราในการป้องกันหรือรักษามะเร็ง
-
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
กะเพรา อาจช่วยระดับน้ำตาลในเลือด อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีสารประกอบมากมาย ที่มีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น โพลีฟีนอล (Polyphenols) กรดคาเฟอิก (Caffeic) และยูจีนอล ซึ่งเป็นสารสำคัญในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
ในงานวิจัยเรื่องผลกระทบของผงกะเพราที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Plant Foods for Human Nutrition ปี พ.ศ. 2540 นักวิจัยได้ให้หนูทดลองกินผงซึ่งทำจากใบกะเพรา เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อทดสอบฤทธิ์ของกะเพราต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ผลปรากฏว่า กะเพราช่วยลดระดับน้ำในเลือดได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกะเพราในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของมนุษย์
-
อาจช่วยรักษาแผลได้
กะเพรามีสารไซโตไคน์ (Cytokine) ที่เรียกว่า Tumor Necrosis Factor-alpha (TNF-alpha) ซึ่งเป็นสารโปรตีนขนาดเล็กช่วยต่อต้านมะเร็ง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ และช่วยในการกำจัดเซลล์ที่เสียหายหรือเซลล์ที่ร่างกายไม่ต้องการ นอกจากนี้ การทำงานของ TNF-alpha ยังเกี่ยวเนื่องกับการฟื้นฟูบาดแผล และการต้านทานต่อการติดเชื้อ
ในงานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของเอนไซม์ในกะเพราและการเยียวยาบาดแผล ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Physiology and Pharmacology ปี พ.ศ. 2549 ระบุว่า สารสกัดจากกะเพราทำให้การหดตัวของบาดแผล รวมถึงการสร้างเยื่อบุผิวบริเวณบาดแผล เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากสารสกัดจากกะเพราโดยเฉพาะเอนไซม์ในกะเพราที่สามารถช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ สารสกัดจากกะเพราดังกล่าว ยังอาจช่วยสมานให้แผลที่ถูกกดหรือกระแทกฉีกขาดยากขึ้นด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภค กะเพรา
ปัจจุบัน ยังไม่มีการวิจัยที่บ่งชี้เกี่ยวกับผลข้างเคียงของการบริโภคกะเพราในทารก เด็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตทางวิทยาศาสตร์ว่า การบริโภคกะเพราในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อ
- พัฒนาการของทารกในครรภ์
- การเป็นประจำเดือน
- การทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชาย และการมีบุตร
นอกจากนี้ สารยูจีนอลในกะเพรา อาจเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงตับเสียหาย หากบริโภคกะเพราในปริมาณมากเกินไป ดังนั้น จึงควรรับประทานกะเพราด้วยความระมัดระวัง
[embed-health-tool-bmr]