backup og meta

ขนุน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ขนุน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ขนุน เป็นพืชเขตร้อน ผลทรงรียาวและค่อนข้างใหญ่ มีหนามสั้นเล็ก ๆ อยู่บนเปลือกโดยรอบ เมื่อโตเต็มที่จะกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร ภายในผลจะมีเนื้อสีเหลืองสดหุ้มเมล็ดอยู่ รสหวานอร่อย และมีกลิ่นหอม ปลูกกันมากในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ โดยนิยมนำเนื้อมารับประทานทั้งแบบสดและนำไปปรุงเป็นอาหาร เช่น ขนุนเชื่อม แกงขนุน ขนุนมีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ หลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยในปัจจุบันสนับสนุนว่า การบริโภคขนุนอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และป้องกันท้องผูกได้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ ขนุน

ขนุน 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 95 กิโลแคลอรี่ รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 23.2 กรัม
  • โปรตีน 1.72 กรัม
  • ไขมัน 0.64 กรัม
  • โพแทสเซียม 448 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 29 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 24 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 13.7 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 2 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ขนุนยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แมงกานีส ทองแดง สังกะสี กับวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินอี

ประโยชน์ของ ขนุน ต่อสุขภาพ

ขนุน อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของขนุน ดังนี้

อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ขนุนมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง หรือระหว่าง 50-60 ดังนั้น เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายจึงไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากนัก นอกจากนี้ ขนุนยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งมีคุณสมบัติส่งเสริมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต การหลั่งอินซูลิน และการดูดซึมน้ำตาล ดังนั้น การบริโภคขนุนจึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดใบขนุนต่อการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ตีพิมพ์ในวารสาร The Scientific World Journal ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดที่ได้จากใบขนุนต่างชนิดกัน ผลปรากฏว่าสารสกัดเอทานอลและสารสกัดบิวทัล แอลกอฮอล์ (Butyl Alcohol) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ รวมทั้งมีคุณสมบัติเพิ่มระดับฮอร์โมนอินซูลินที่หลั่งออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าการบริโภคสารสกัดใบขนุนในมนุษย์อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปได้

อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

ขนุนอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่มีคุณสมบัติช่วยในการควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และช่วยควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป การบริโภคขนุนจึงอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องสารอาหารของขนุนและประโยชน์ต่อสุขภาพ เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Food Science ปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า คุณสมบัติของโพแทสเซียมในขนุนอาจมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และการสูญเสียมวลกระดูก ในขณะเดียวกัน วิตามินบี 6 ในขนุนยังมีคุณสมบัติทำให้สารโฮโมซิสทีน (Homocysteine) ในเลือดลดลง จึงอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจได้

เนื่องจากหากร่างกายมีระดับของโฮโมซิสทีนสูงจะทำให้โครงสร้างหลอดเลือดแดงเสียหายและหลอดเลือดแดงทำงานผิดปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้

อาจช่วยป้องกันท้องผูก

ขนุนมีใยอาหารในปริมาณค่อนข้างสูง ซึ่งใยอาหารมีคุณสมบัติส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารและการเคลื่อนไหวของลำไส้ ทำให้ลำไส้แข็งแรงมากขึ้น เพิ่มปริมาณอุจจาระ และป้องกันอาการท้องผูก ดังนั้น การบริโภคขนุนจึงอาจช่วยป้องกันท้องผูกได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารประกอบในขนุนต่อสุขภาพมนุษย์ ตีพิมพ์ในวารสาร The Pharma Innovation ปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า ขนุนอุดมไปด้วยใยอาหาร โดยพบในปริมาณ 3.6 กรัม ต่อขนุน 100 กรัม ซึ่งใยอาหารมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันท้องผูกและช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ตามปกติ การบริโภคขนุนจึงอาจช่วยป้องกันอาการท้องผูกและมะเร็งได้

อาจช่วยต้านมะเร็ง

ขนุนมีสารพฤกษเคมีหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพต้านมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นลิกแนน (Lignan) ไอโซฟลาโวน (Isoflavone) และซาโปนิน (Saponin) ดังนั้น การบริโภคขนุนจึงอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของสารสกัดจากผลขนุน ในการยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์ และป้องกันการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง เผยแพร่ในวารสาร Food Chemistry ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดจากผลขนุนในห้องปฏิบัติการ และพบว่า สารสกัดจากขนุนมีประสิทธิภาพลดการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วยสารก่อมะเร็งอะฟลาทอกซินบี 1 (AFB1) นอกจากนั้น สารสกัดจากผลขนุนยังมีคุณสมบัติลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วย จึงสรุปได้ว่า การบริโภคขนุนอาจมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็ง

ข้อควรระวังในการบริโภค ขนุน

ขนุน มีข้อควรระวังในการบริโภคดังต่อไปนี้

  • ขนุนมีคุณสมบัติลดระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรบริโภคขนุนด้วยความระมัดระวัง และควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการปรับลดขนาดยาต้านเบาหวาน เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดลดลงมากเกินไป
  • ขนุนอาจเป็นสาเหตุของการแพ้ได้ เช่น เกิดผื่นลมพิษ มีน้ำมูกไหล หายใจลำบาก แม้จะพบได้น้อยมากแต่ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ยางธรรมชาติ เพราะในขนุนมียางอยู่เช่นเดียวกับพืชยางชนิดอื่น ๆ
  • หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคขนุนได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายให้ได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Jackfruit, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/174687/nutrients. Accessed September 19, 2022

Antioxidant activity of Artocarpus heterophyllus Lam. (Jack Fruit) leaf extracts: remarkable attenuations of hyperglycemia and hyperlipidemia in streptozotocin-diabetic rats. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21479350/. Accessed September 19, 2022

Nutritional and Health Benefits of Jackfruit (Artocarpus heterophyllus Lam.): A Review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6339770/. Accessed September 19, 2022

Jackfruit: Functional component related with human

health and its application in food industry. https://www.thepharmajournal.com/archives/2022/vol11issue6S/PartK/S-11-5-276-307.pdf. Accessed September 19, 2022

Screening antimutagenic and antiproliferative properties of extracts isolated from Jackfruit pulp (Artocarpus heterophyllus Lam). https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25577099/. Accessed September 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้ลดความอ้วน มีอะไรบ้าง มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร

ผักผลไม้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา