ขึ้นฉ่าย เป็นผักใบมีลักษณะคล้ายผักชีแต่มีขนาดใหญ่กว่า สามารถรับประทานได้ทั้งต้น มีกลิ่นฉุน อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น วิตามินซี โฟเลต สารต้านอนุมูลอิสระซึ่งอาจช่วยป้องกันการอักเสบ ช่วยควบคุมความดันโลหิต ช่วยลดไขมันในเลือด ส่งเสริมการสร้างเซลล์ประสาท และอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้
คุณค่าทางโภชนาการของขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่ายปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 14 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม
- ไฟเบอร์ 1.6 กรัม
- โปรตีนน้อยกว่า 1 กรัม
- ไขมันน้อยกว่า 1 กรัม
- น้ำตาล 1 กรัม
นอกจากนี้ ขึ้นฉ่ายยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
ประโยชน์ของขึ้นฉ่ายที่มีต่อสุขภาพ
ขึ้นฉ่ายมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของขึ้นฉ่ายในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้
-
อาจช่วยป้องกันการอักเสบและมะเร็ง
ขึ้นฉ่าย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น วิตามินซี ฟลาโวนอยด์ ลูนูลาริน (Lunularin) เบอร์แกปเทน (Bergapten) ที่อาจช่วยป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อและเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร National Institutes of Health เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระ พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระเป็นสารที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เองและจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะผักและผลไม้ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันหรือชะลอความเสียหายของเซลล์ ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่ทำให้เซลล์และเนื้อเยื่ออักเสบเนื่องจากการทำลายของอนุมูลอิสระ เช่น ควันบุหรี่ มลพิษทางอากาศ แสงแดด ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถกระตุ้นความเสียหายของเซลล์ที่อาจก่อให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคตา
-
อาจช่วยควบคุมความดันโลหิต
ขึ้นฉ่ายอุดมไปด้วยสารอะพิจีนีน (Apigenin) ซึ่งเป็นสารฟลาโวนอยด์ชนิดหนึ่งที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ป้องกันการหดตัวของหลอดเลือดและช่วยลดความดันโลหิต โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Physics Conference Series เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของน้ำขึ้นฉ่ายที่อาจช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจำนวน 24 คน พบว่า น้ำขึ้นฉ่ายมีสารอะพิจีนีนที่เป็นสารฟลาโวนอยด์ซึ่งช่วยในการป้องกันการตีบตันของหลอดเลือดและช่วยลดความดันโลหิตสูงได้
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ใน Journal of Chiropractic Medicine เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเกี่ยวกับน้ำขึ้นฉ่ายที่อาจทำให้ความดันโลหิตในชายสูงอายุที่เป็นความดันโลหิตสูงเปลี่ยนแปลง พบว่า สารอะพิจีนีนเป็นสารฟลาโวนอยด์ที่พบในขึ้นฉ่าย ช่วยขัดขวางการหดตัวของหลอดเลือดที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของแคลเซียมสะสม ป้องกันการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อ และอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยลดความดันโลหิตสูง เมื่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงดื่มน้ำขึ้นฉ่ายทุกวันเป็นเวลา 6 เดือน
-
อาจช่วยลดไขมันในเลือด
ขึ้นฉ่ายมีสารพฤกษเคมีและสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น กรดฟีนอลิก (Phenolic Acids) ฟลาโวน (Flavones) ฟลาโวนอล (Flavonols) ที่อาจช่วยลดไขมันในเลือด และป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาลาญในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของขึ้นฉ่ายต่อกลุ่มอาการเมตาบอลิซึม พบว่า ขึ้นฉ่ายอุดมไปด้วยสารพฤกษเคมีและสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น กรดฟีนอลิก ฟลาโวน ฟลาโวนอล วิตามินซี เบต้าแคโรทีน แมงกานีส ที่มีบทบาทในการลดความเสียหายจากการเกิดออกซิเดชันเนื่องจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิซึม เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงผิดปกติ โรคอ้วน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ
-
อาจช่วยส่งเสริมการสร้างเซลล์ประสาท
เมล็ดขึ้นฉ่ายมีสารประกอบน้ำมันอย่าง 3 เอ็น-บิวทิลฟทาไลด์ (3-N-Butylphthalide) ที่อาจมีส่วนช่วยส่งเสริมการสร้างเซลล์ประสาทและป้องกันการเกิดโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองตีบ ภาวะสมองเสื่อม โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Research International เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับศักยภาพในการป้องกันระบบประสาทของสารประกอบจากเมล็ดขึ้นฉ่าย พบว่า สารประกอบในเมล็ดขึ้นฉ่ายอย่าง 3 เอ็น-บิวทิลฟทาไลด์ สามารถช่วยป้องกันปัญหาระบบประสาท โดยการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ป้องกันความผิดปกติของแหล่งสร้างพลังงานเซลล์ (Mitochondrion) ควบคุมการตายของเซลล์และป้องกันการอักเสบ จึงอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคระบบประสาท โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดสมองตีบ ภาวะสมองเสื่อม รวมทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างเซลล์ประสาทและป้องกันการทำงานของแหล่งสร้างพลังงานเซลล์ด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภคขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่ายมีประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพมากมาย แต่ในบางกรณีอาจส่งผลเสียได้เช่นกัน ดังนี้
- ในบางคน การรับประทานขึ้นฉ่ายมากเกินไปอาจทำให้มีอาการท้องอืดหรือแก๊สในกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากในขึ้นฉ่ายมีสารแมนนิทอล (Mannitol) ในปริมาณมาก ซึ่งอาจขัดขวางการดูดซึมสารอาหารของลำไส้และทำให้เกิดความผิดปกติในทางเดินอาหาร
- ขึ้นฉ่ายอาจทำให้เกิดอาการแพ้ในบางคน ซึ่งทำให้เกิดอาการลมพิษ บวม หายใจลำบาก เนื่องจากขึ้นฉ่ายมีสารก่อภูมิแพ้ เช่น โพรฟิลิน (Profilin) ฟลาโปรตีน (Flavoprotein) นอกจากนี้ ยังอาจมีเชื้อราสเคอโรติเนีย สเคอทิออรัม (Sclerotinia Sclerotiorum) ที่อาจก่อให้เกิดโรคผิวหนังในผู้ที่มีผิวบอบบาง
[embed-health-tool-bmr]