พริกขี้หนู เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ตัวเม็ดมีลักษณะเป็นทรงกลมยาวขนาดเล็ก ปลายแหลมเรียว มีทั้งสีแดง เขียว เหลือง ส้ม ให้รสชาติเผ็ดร้อน คนไทยนิยมนำมาปรุงอาหารเพิ่มรสชาติให้จัดจ้านและมีสีสันให้ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบพริกขี้หนูสด หรือพริกขี้หนูป่น นอกจากนั้น พริกขี้หนูยังประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินที่หลากหลายมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินเค ทองแดง รวมทั้งสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก บรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร และลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้
[embed-health-tool-bmr]
คุณค่าทางโภชนาการของพริกขี้หนู
พริกขี้หนู 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 40 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 9 กรัม
- ไขมัน 400 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 322 มิลลิกรัม
- โซเดียม 9 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ พริกขี้หนู ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ อาทิ แมกนีเซียม เหล็ก แคลเซียม รวมถึงวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินดี และวิตามินบี 12 หรือโคบาลามิน (Cobalamin)
ประโยชน์ของพริกขี้หนูต่อสุขภาพ
พริกขี้หนู เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของพริกขี้หนู ดังนี้
-
อาจบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร
พริกขี้หนู มีสารแคปไซซิน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ชีวภาพที่พบได้บริเวณเยื่อแกนกลางของผลพริก ให้รสจัดจ้าน มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวดและยังอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ของโรคกระเพาะอาหาร เช่น ปวดบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด คลื่นไส้
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคกระเพาะอาหารแปรปรวนด้วยพริกขี้หนู เผยแพร่ในวารสาร Alimentary Pharmacology & Therapeutics ปี พ.ศ. 2545 โดยได้ทดลองให้ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารแปรปรวน (Functional Dyspepsia) จำนวน 30 คน กลุ่มแรก รับประทานพริกขี้หนูป่นจำนวน 2.5 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 5 สัปดาห์ กลุ่มสองรับประทานยาหลอก โดยทั้งสองกลุ่มต่างจดบันทึกเพื่อให้คะแนนระดับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น พบว่า กลุ่มที่รับประทานพริกขี้หนูป่นให้คะแนนระดับความรุนแรงของอาการต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงสรุปได้ว่า พริกขี้หนูอาจมีประสิทธิภาพในการลดระดับความรุนแรงของอาการโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากคุณสมบัติของสารแคปไซซิน
-
อาจลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้
แคปไซซินในพริกขี้หนู นับเป็นสารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) หลักที่ทำให้พริกขี้หนูมีสีแดง โดยมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง
การศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับสรรพคุณของสารแคปไซซินในการต่อสู้กับมะเร็งเผยแพร่ในวารสาร Anticancer Research ปี พ.ศ. 2559 โดยผู้วิจัยอธิบายว่า แคปไซซินอาจช่วยต้านมะเร็งได้ โดยการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อร้าย รวมทั้งยับยั้งการสร้างหลอดเลือดและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติต้านมะเร็งในพริกขี้หนู ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนเพราะงานวิชาการบางชิ้น เช่น งานวิจัยว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพริกขี้หนูและมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Epidemiology ปี พ.ศ. 2537 ระบุว่า การบริโภคพริกขี้หนู อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อสมมติฐานดังกล่าว
-
ช่วยควบคุมน้ำหนัก
การบริโภคพริกขี้หนู อาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เนื่องจากในพริกขี้หนูมีสารกลุ่มแคปไซซินอยด์ (Capsaicinoids) หรือสารที่อยู่ในกลุ่มให้กลิ่นและความเผ็ดร้อน ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดความอยากอาหาร ช่วยในการเผาผลาญพลังงาน
ผลการศึกษาว่าด้วยคุณสมบัติของแคปไซซินอยด์ในการคุมน้ำหนัก ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Appetite ปี พ.ศ. 2557 โดยผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากวารสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อต่าง ๆ ทั้ง สารแคปไซซินอยด์ใน พริกขี้หนู การบริโภคพริกขี้หนู ได้ข้อสรุปที่สนับสนุนว่าพริกอาจมีคุณสมบัติในการควบคุมน้ำหนักจริง โดยระบุว่า การรับประทานแคปไซซินอยด์ทุกวัน อาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เนื่องจากแคปไซซินอยด์ช่วยลดจำนวนพลังงานของสารอาหารที่บริโภคเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ผลการศึกษายังบอกอีกว่า แคปไซซินอยด์อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยลดน้ำหนักในระยะยาว
ขณะเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้น ว่าด้วยคุณสมบัติของแคปไซซินที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกอิ่มในมื้ออาหารและลดความอยากอาหาร ซึ่งเผยแพร่ใน Appetite ปีเดียวกัน มีผลการวิจัยที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการบริโภคพริกขี้หนูเพื่อควบคุมน้ำหนัก โดยระบุว่า การเพิ่มแคปไซซินเข้าไปในมื้ออาหาร ช่วยเพิ่มความรู้สึกอิ่ม ลดความอยากอาหาร รวมถึงป้องกันการรับประทานอาหารที่มากเกินพอดีได้
-
อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
การบริโภคพริกขี้หนู อาจช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ เนื่องจากพริกขี้หนูมีสารแคปไซซินและ ไดไฮโดรแคปไซซิน (Dihydrocapsaicin) ซึ่งเป็นสารต้านอนมุูลอิสระมีคุณสมบัติหลายประการ เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เช่น บรรเทาภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน กระตุ้นให้เนื้อเยื่อตอบสนองต่ออินซูลินมากขึ้น ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งทำการทดลองในสัตว์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของสารแคปไซซินและแคปซิเอต ต่อระดับน้ำตาลเลือด ช่วยเพิ่มระดับอินซูลิน เผยแพร่ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2560นักวิจัยพบว่า สารแคปไซซิน อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้ ด้วยการเพิ่มระดับอินซูลินและไกลโคเจนในร่างกายของสัตว์ทดลอง
อย่างไรก็ตาม เปรียบเทียบกับสารแคปไซซิน ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกัน พบว่า สารแคปไซซินมีประสิทธิภาพมากกว่า
ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของพริกขี้หนู ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
ข้อควรระวังในการบริโภคพริกขี้หนู
โดยทั่วไป เมื่อบริโภค พริกขี้หนู อาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน เหงื่อออกมาก และน้ำมูกไหล
ในกรณีของผู้เป็นโรคลำไส้แปรปรวน การบริโภคพริกขี้หนู อาจทำให้ปวดท้องหรือท้องร่วงได้ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานในปริมาณน้อย
นอกจากนี้ ผู้หญิงที่กำลังเป็นประจำเดือน ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคพริกขี้หนูในปริมาณมาก เพราะสารแคปไซซินในพริกขี้หนูอาจทำให้อาการปวดประจำเดือนรุนแรงกว่าเดิมได้