backup og meta

มะเขือเทศ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

มะเขือเทศ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

มะเขือเทศ เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะเขือ มีสี ขนาด และลักษณะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่นิยมรับประทานมากที่สุดคือมะเขือเทศสีดา และมะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเทศอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะวิตามินซีและไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของอนุมูลอิสระ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคมะเร็งได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเทศ

มะเขือเทศ 100 กรัม อาจมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

นอกจากนี้ มะเขือเทศยังอุดมไปด้วยสารไลโคปีน ซึ่งเป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้เสื่อมสภาพเนื่องจากสารอนุมูลอิสระ และยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคมะเร็งได้

ประโยชน์ของมะเขือเทศ

ดีต่อสุขภาพผิว

มะเขือเทศอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพผิวให้ดียิ่งขึ้น จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อปี พ.ศ. 2560 เรื่องบทบาทวิตามินซีต่อสุขภาพผิว พบว่า วิตามินซีมีส่วนสำคัญในการสร้างคอลลาเจน โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพผิว ช่วยให้ผิวคงความยืดหยุ่น และอาจช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร 

นอกจากนี้ มะเขือเทศยังมีสารไลโคปีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจสามารถช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวีในแสงแดด จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Nutrition พ.ศ. 2544 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรับประทานมะเขือเทศเพื่อป้องกันผื่นแดงที่เกิดจากแสงแดด โดยทำการทดลองให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบรับประทานซอสมะเขือเทศเข้มข้น 40 กรัม/วัน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ พบว่า อาการผื่นแดงลดลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานซอสมะเขือเทศเข้มข้น

ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ

สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ เช่น ไลโคปีน วิตามินซี อาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ จากรายงานทบทวนงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมะเขือเทศและสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Critical Reviews in Food Science and Nutrition เมื่อปี พ.ศ. 2546 พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้อาจสามารถช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) ที่ส่งผลทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ 

นอกจากนี้ มะเขือเทศยังมีโพแทสเซียมที่อาจช่วยลดปริมาณของไขมันไม่ดี (LDL) ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และอาจช่วยลดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย 

อาจช่วยป้องกันมะเร็ง 

ไลโคปีนที่พบได้ในมะเขือเทศ อาจสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ จากการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของไลโคปีนในการยับยั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biomedicine & Pharmacotherapy เมื่อปี พ.ศ. 2563 พบว่า ไลโคปีนอาจสามารถช่วยยับยั้งการลุกลามและการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก และอาจช่วยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากตายไวขึ้น จึงอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาหรือป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่แน่ชัดในการรับประทานมะเขือเทศเพื่อป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือโรคมะเร็งชนิดอื่น

ข้อควรระวังในการรับประทานมะเขือเทศ

มะเขือเทศ โดยเฉพาะมะเขือเทศสด อาจมีการปนเปื้อนของสารเคมีและยาฆ่าแมลง ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อมะเขือเทศจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และควรล้างทำความสะอาดมะเขือเทศให้ดีทุกครั้งก่อนรับประทาน นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานส่วนใบของมะเขือเทศ เนื่องจากอาจเป็นพิษต่อร่างกาย และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ระคายเคืองปากและคอ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้หากรับประทานในปริมาณมาก

ผู้ป่วยโรคไต ควรระมัดระวังการรับประทานมะเขือเทศ เนื่องจากมะเขือเทศมีโพแทสเซียมสูง การรับประทานมะเขือเทศมากเกินไปอาจทำให้ไตไม่สามารถกำจัดโพแทสเซียมส่วนเกินออกไปได้ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจทำให้หัวใจวายได้

หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการรับประทานมะเขือเทศในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานมะเขือเทศในปริมาณเหมาะสม และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tomato – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-900/tomato. Accessed December 31, 2022.

Tomatoes, red, ripe, raw, year round average. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170457/nutrients. Accessed December 31, 2022.

The Roles of Vitamin C in Skin Health. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5579659/. Accessed December 31, 2022.

Dietary Tomato Paste Protects against Ultraviolet Light–Induced Erythema in Humans. https://academic.oup.com/jn/article/131/5/1449/4686953. Accessed December 31, 2022.

Tomatoes and cardiovascular health. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12587984/. Accessed December 31, 2022.

Potential inhibitory effect of lycopene on prostate cancer. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0753332220306521. Accessed December 31, 2022.

What is high potassium, or hyperkalemia? https://www.kidneyfund.org/kidney-disease/chronic-kidney-disease-ckd/complications/high-potassium-hyperkalemia.html. Accessed December 31, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิตามินบำรุงผิว มีอะไรบ้าง

ไลโคปีน (Lycopene)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา