หัวหอม เป็นพืชตระกูลเดียวกับกระเทียม หอมแดง ได้รับความนิยมและปลูกกันทั่วโลกเพราะสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายทั้งต้ม ผัด ทอด หรือบริโภคสดในเมนูสลัดผัก หัวหอมอุดมไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น คาร์โบไฮเดรต โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินซี วิตามินบี และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคหัวใจและอาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของ หัวหอม
หัวหอมสด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 38 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 8.61 กรัม
- โปรตีน 0.83 กรัม
- ไขมัน 0.05 กรัม
- โพแทสเซียม 182 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 34 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 15 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 9 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 8.2 มิลลิกรัม
- โซเดียม 1 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ หัวหอม ยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ เป็นสารประกอบ เช่น สังกะสี ทองแดง แมงกานีส เหล็ก ไอโอดีน และซีลีเนียม (Selenium) ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อการบำรุงสุขภาพ
ประโยชน์ของหัวหอมต่อสุขภาพ
หัวหอมมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติบำรุงสุขภาพของหัวหอม ดังนี้
1.อาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
การบริโภคหัวหอม อาจช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เนื่องจากหัวหอมมีสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidation) และช่วยกระตุ้นการเพิ่มของเซลล์สร้างเนื้อกระดูก
นอกจากนั้น หัวหอมยังอุดมไปด้วยซัลเฟอร์ (Sulfur) ซึ่งมีคุณสมบัติในการยึดติดเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้เส้นเอ็นต่าง ๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อกระดูกเพราะช่วยยึดกระดูกและกล้ามเนื้อ ลดการสูญเสียมวลกระดูกซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและเสริมสร้างความหนาแน่นของมวลกระดูก
งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคหัวหอม และความหนาแน่นของกระดูก ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอายุ 50 ปีหรือมากกว่า ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Menopause ปี พ.ศ. 2552
นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครเป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มบริโภคหัวหอมในความถี่แตกต่างกัน เช่น เดือนละครั้ง 1 ครั้ง เดือนละ 2 ครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง สัปดาห์ละ 3-6 ครั้ง หรือวันละ 1 ครั้ง
จากการทดลองและทำแบบสอบถาม นักวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานหัวหอมวันละ 1 ครั้งหรือมากกว่านั้น มีความหนาแน่นของกระดูกโดยรวม มากกว่ากลุ่มที่บริโภคเดือนละ 1 ครั้งหรือน้อยกว่า ราว 5 เปอร์เซ็นต์ สรุปได้ว่า การบริโภคหัวหอมส่งผลดีต่อความหนาแน่นของมวลกระดูกในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนและวัยหลังหมดประจำเดือน นอกจากนั้น ผู้หญิงที่บริโภคหัวหอมบ่อยที่สุดมีความเสี่ยงต่อการปวดสะโพกลดลงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบกับผู้ที่ไม่บริโภคหัวหอมเลย
2.อาจช่วยต้านมะเร็งได้
หัวหอม จัดอยู่ในพืชตระกูลกระเทียม ซึ่งพืชตระกูลนี้ มีสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur Compounds) มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์ ต้านอนุมูลอิสระและการเติบโตของเนื้องอก การบริโภคหัวหอม จึงอาจช่วยต้านมะเร็งได้
ผลการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของผักตระกูลกระเทียม ในการป้องกันโรคมะเร็ง เผยแพร่ในวารสาร Asian Pacific Journal of Cancer Prevention ปี พ.ศ. 2547 ระบุว่า การบริโภคพืชตระกูลกระเทียม เช่น หอมแดง หัวหอม กระเทียมต้น อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เนื่องจากคุณสมบัติของสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุว่า ควรมีการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานที่แสดงความเป็นเหตุผลเป็นผลของคุณสมบัติต้านมะเร็งของพืชตระกูลกระเทียมต่อไป
3.อาจช่วยลดระดับไขมันไม่ดี
หัวหอม มีสารเควอซิทิน (Quercetin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันในเลือด ต้านการอักเสบ ดังนั้น การบริโภคหัวหอม อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันความหนาแน่นต่ำ (Low-Density Lipoprotein) หรือไขมันเลว
ในบทความของงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการทดลองเกี่ยวกับคุณสมบัติของหัวหอมสีแดง ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Obstetrics and Gynaecology Research ปี พ.ศ. 2557
นักวิจัยให้กลุ่มอาสาสมัครเพศหญิงซึ่งป่วยด้วยโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ สุ่มรับประทานหัวหอมสีแดง ในปริมาณแตกต่างกันไปตามน้ำหนักตัว ระหว่าง 20-90 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ แล้วตรวจวัดผลค่าต่าง ๆ ในร่างกาย พบว่า กลุ่มอาสาสมัครมีค่าดัชนีมวลกายลดลง รวมทั้งระดับการเผาผลาญพลังงานดีขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลลดลง โดยกลุ่มที่รับประทานหัวหอมปริมาณมาก จะเห็นผลชัดเจนกว่ากลุ่มที่บริโภคหัวหอมปริมาณน้อย จึงสรุปได้ว่า
การบริโภคหัวหอมแดง อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันความหนาแน่นต่ำในผู้หญิงซึ่งป่วยด้วยโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของหัวหอมในการลดระดับไขมันเลว
4.อาจช่วยรักษาโรคเบาหวาน
หัวหอม มีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด บำรุงสุขภาพ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง การบริโภคหัวหอมจึงอาจช่วยป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในผู้ป่วยเบาหวานได้
จากบทความวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของหัวหอมต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 เผยแพร่ในวารสาร Environmental Health Insights ปี พ.ศ. 2553 โดยนักวิจัยให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 บริโภคหัวหอม 100 กรัม แล้วหลังจากนั้น 4 ชั่วโมงจึงวัดผลระดับน้ำตาลในเลือด พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง89 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในขณะที่ การบริโภคฮอร์โมนอินซูลินทดแทน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ราว 145 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในขณะที่การใช้ยาต้านเบาหวานไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ราว 81 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
จึงสรุปได้ว่า หัวหอมอาจมีประสิทธิภาพในการต้านเบาหวาน และอาจเหมาะสมที่จะใช้เป็นอาหารในการบริโภคสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ข้อควรระวังในการบริโภคหัวหอม
แม้ว่าหัวหอมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการบริโภคหัวหอมในปริมาณมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้
- ลมหายใจเหม็น
- กลิ่นตัวแรงขึ้น
- แสบร้อนกลางอก
- ท้องอืด
- คลื่นไส้
- อาเจียน
ในของกรณีของผู้แพ้หัวหอม การบริโภคหรือสัมผัสหัวหอม อาจเป็นสาเหตุของอาการคัน น้ำตาไหล หรือผื่นขึ้นตามลำตัว
ทั้งนี้ หัวหอมสามารถบริโภคขณะตั้งครรภ์ได้ แต่ควรบริโภคในปริมาณจำกัด และบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลาย เพราะปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่ระบุว่าการบริโภคหัวหอมเพื่อใช้บำรุงร่างกายในสตรีมีครรภ์นั้นปลอดภัย
นอกจากนี้ การบริโภคหัวหอม อาจมีผลข้างเคียง เมื่อบริโภคร่วมกับยาบางชนิด เช่น
- ยาต้านเบาหวาน เนื่องจากหัวหอมอาจช่วยลดน้ำตาลในเลือด และยาต้านเบาหวานมีสรรพคุณเดียวกัน ดังนั้น การบริโภคหัวหอมร่วมกับยาต้านเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลลดลงต่ำเกินไป
- ยาชะลอการแข็งตัวของเลือด หัวหอมอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง เมื่อรับประทานคู่กับยาชะลอการแข็งตัวของเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงมีภาวะเลือดออกผิดปกติได้
- ยาอื่น ๆ หัวหอมอาจทำให้ตับย่อยสลายตัวยาช้าลง การบริโภคหัวหอมร่วมกับยาบางชนิด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ยาคลอร์ซอกซาโซน (Chlorzoxazone) ทีโอฟิลลีน (Theophylline) จึงอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากตัวยาหรือผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่าปกติ ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาโรค จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภคหัวหอม