นอกจากพืชต้นจิ๋วอย่างถั่วงอกที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว คุณผู้อ่านมีผักต้นจิ๋วชนิดใดที่ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพอีกไหมคะ ถ้านึกไม่ออกล่ะก็ Hello คุณหมอ ขอนำเสนอ อัลฟัลฟา เลยค่ะ อัลฟัลฟาเป็นพืชตระกูลถั่วต้นเล็กจิ๋วที่หน้าตาและขนาดใกล้เคียงกับถั่วงอก แถมยังอร่อยและดีต่อสุขภาพไม่แพ้กันด้วย แต่อัลฟัลฟาดีต่อสุขภาพอย่างไรนั้น มาติดตามกันได้ที่บทความนี้เลยค่ะ
อัลฟัลฟา คืออะไร
ต้นอัลฟัลฟา (Alfalfa) เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีขนาดเล็ก จัดว่าเป็นพืชสมุนไพรที่มีทั้งคุณค่าทางโภชนาการและมีสรรคุณทางยา ถึงแม้อัลฟัลฟาจะเป็นพืชขนาดเล็ก แต่ก็อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายจนได้รับสมญานามว่าเป็น ราชาแห่งอาหารทั้งมวล
ในอดีตอัลฟัลฟาถูกใช้เป็นอาหารสำหรับการเเลี้ยงสัตว์และการทำปศุสัตว์ แต่ปัจจุบันอัลฟัลฟาได้กลายมาเป็นหนึ่งในสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพที่สามารถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดเหมือนกับถั่วงอกและใส่ในอาหารเมนูต่างๆ
คุณค่าสารอาหารจากอัลฟัลฟา
สารอาหารสำคัญจากอัลฟัลฟาคือวิตามินเค ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างลิ่มเลือด ป้องกันอาการเลือดไหลไม่หยุด เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง รวมถึงยังเป็นวิตามินที่ดีต่อผู้หญิงด้วย เนื่องจากวิตามินเคมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติในผู้หญิง
นอกจากนี้อัลฟัลฟายังเป็นพืชที่ให้แคลอรี่ต่ำ ซึ่งถือว่าดีต่อผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงลดน้ำหนักหรือต้องการควบคุมปริมาณแคลอรี่ในแต่ละวัน โดยถ้ารับประทานอัลฟัลฟาหนึ่งถ้วย (หรือประมาณ 33 กรัม) ร่างกายจะได้แคลอรี่เพียง 8 แคลอรี่ แต่จะได้สารอาหารที่ดีต่อร่างกายอื่นๆ ดังนี้
- วิตามินเค
- วิตามินซี
- ธาตุเหล็ก
- สารต้านอนุมูลอิสระ
- แร่ธาตุต่างๆ เช่น ทองแดง แมงกานีส แมกนีเซียม
- โฟเลต
- ไฟเบอร์
กินอัลฟัลฟากับอะไรดี
อัลฟัลฟาสามารถรับประทานได้ทั้งแบบกินสดเหมือนกับการกินถั่วงอก หรือจะกินเป็นผักเครื่องเคียงสำหรับกินกับน้ำพริก กินกับขนมจีน หรือก๊วยเตี๋ยวก็ได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังสามารถนำมากินเป็นผักสลัด เป็นผักเคียงในแซนด์วิช ใส่ในเมนูผัดชนิดต่างๆ หรือจะใส่เป็นเครื่องเคียงในอาหารประเภทเมี่ยงคำก็ได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดในการรับประทานอัลฟัลฟาเป็นอาหารที่ชัดเจนมากนัก ผู้บริโภคสามารถที่จะดัดแปลงหรือปรุงอัลฟัลฟาให้เข้ากับเมนูอาหารต่างๆ ได้ตามใจชอบ
ประโยชน์ของ อัลฟัลฟา
ช่วยลดคอเลอสเตอรอล
อัลฟัลฟามีสารซาโปนิน (Saponin) ซึ่งจะไปจับกับคอเลอสเตอรอลและเกลือในถุงน้ำดี จึงมีส่วนช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลได้ จากผลการวิจัยโดยการใช้หนูเป็นสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดจากอัลฟัลฟาที่อุดมไปด้วยสารซาโปนินช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลในหนูทดลองได้
อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นจะต้องทำการศึกษากับมนุษย์เพื่อใช้ในการยืนยันและรับรองได้อย่างเป็นทางการว่าอัลฟัลฟามีส่วนช่วยในการลดคอเลอสเตอรอลได้
เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ
ต้นอัลฟัลฟาแม้จะเล็กจิ๋ว แต่ก็เต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทั้งฟลาโวนอยด์ ไทอามีน ไฟโตอีสโตรเจน (Phytoestrogen)เป็นต้น ซึ่งจากผลการวิจัยหลายแห่งพบว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง ช่วยลดการอักเสบของเซลล์ ป้องกันเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย และยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคมะเร็งด้วย
ช่วยในเรื่องของระบบเผาผลาญ
จากผลการศึกษาที่พบว่าอัลฟัลฟามีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล โดยการปล่อยอินซูลินออกจากตับอ่อน ซึ่งกระบวนการนี้จะไปช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มขึ้น เพื่อผลลัพธ์อย่างเป็นทางการ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการรับประทานอัลฟัลฟา
แม้อัลฟัลฟาจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็ยังมีข้อควรระวังบางประการที่จำเป็นจะต้องระวัง ดังนี้
- หากกำลังตั้งครรภ์อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานอัลฟัลฟา หรือควรสอบถามกับคุณหมอให้แน่ใจก่อน ทั้งนี้เพราะสารในอัลฟัลฟาอาจไปกระตุ้นให้มดลูกเกิดการหดตัวในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ได้
- หากรับประทานยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดควรหลีกเลี่ยงการกินอัลฟัลฟา เนื่องจากอัลฟัลฟามีวิตามินเคสูงซึ่งอาจทำปฏิกิริยากับยาเพิ่มการไหลเวียนเลือด หรืออาจทำให้ไม่ได้รับประสิทธิภาพจากยาอย่างเต็มที่
- หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับภูมิต้านทานเช่น โรคลูปัส ควรงดรับประทานอัลฟัลฟา เพราะอาจทำให้อาการทางสุขภาพที่เป็นอยู่กำเริบได้
- หากมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การรับประทานอัลฟัลฟาอาจไปกระตุ้นให้ร่างกายได้รับแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเสี่ยงที่จะทำให้เซลล์ในร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียได้
- ก่อนรับประทานอัลฟัลฟา หรือนำอัลฟัลฟาไปปรุงอาหาร ควรล้างให้สะอาดก่อนเสมอ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและแบคทีเรียที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-bmr]