backup og meta

เห็ดเข็มทอง ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เห็ดเข็มทอง ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เห็ดเข็มทอง มีสีขาวนวล รูปร่างเป็นหมวกทรงกลม ก้านเรียวยาว เกิดรวมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นเห็ดที่นิยมนำไปประกอบอาหารหลายชนิด เช่น สุกี้ เห็ดทอด เห็ดพันเบคอน ยำวุ้นเส้น เห็ดเข็มทองอุดมไปด้วยใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ต้านเนื้องอก ต้านมะเร็ง ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล ปรับปรุงการทำงานของสมองและช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดเข็มทอง

เห็ดเข็มทอง ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 36 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

นอกจากนี้ เห็ดเข็มทองยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินดี วิตามินบี 6 ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม สังกะสี ไทอะมิน (Thiamine) ไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ไนอะซิน (Niacin) โฟเลต (Folate)

[embed-health-tool-bmr]

ประโยชน์ของเห็ดเข็มทองที่มีต่อสุขภาพ

เห็ดเข็มทองมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเห็ดเข็มทองในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ

ใยอาหารในเห็ดเข็มทองอาจช่วยเผาผลาญและชะลอการดูดซึมคอเลสเตอรอล จึงอาจลดความดันโลหิตและลดคอเลสเตอรอล ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Pharmacology เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของเห็ดเข็มทองต่อสุขภาพ พบว่า เห็ดเข็มทองอุดมไปด้วยใยอาหารที่สามารถช่วยในการเผาผลาญและชะลอการดูดซึมคอเลสเตอรอล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังมีเส้นใยอาหารโพลีแซ็กคาไรด์ (Polysaccharide) และไมโคสเตอรอล (Mycosterol) ที่ช่วยในการลดคอเลสเตอรอลรวม ลดไขมันไม่ดี (LDL) และลดความดันโลหิต

  1. อาจปรับปรุงการทำงานของสมอง

เห็ดเข็มทองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย กระตุ้นการสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยปรับปรุงความจำ การเรียนรู้และความสามารถทางปัญญา โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Pharmacology เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของเห็ดเข็มทองต่อสุขภาพ พบว่า โพลีแซ็กคาไรด์จากเห็ดเข็มทองมีประสิทธิภาพในการช่วยปรับปรุงการทำงานของสมองด้านความทรงจำ โดยทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระจนก่อให้เกิดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยฟื้นฟูปริมาณของสารสื่อประสาท โดยปรับการทำงานของเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สังเคราะห์สารสื่อประสาท ซึ่งส่งผลดีต่อความจำ การเรียนรู้และความสามารถทางปัญญา ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเห็ดเข็มทองในการปรับปรุงการทำงานของสมอง

  1. อาจช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

เห็ดเข็มทองอุดมไปด้วยสารประกอบที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารโพลีแซ็กคาไรด์  โปรตีนภูมิคุ้มกันจากเห็ดรา ซึ่งอาจช่วยเพิ่มจำนวนและส่งเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในการปกป้องร่างกายจากการบุกรุกของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคและอาการภูมิแพ้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Pharmacology เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของเห็ดเข็มทองต่อสุขภาพ พบว่า เห็ดเข็มทองมีโปรตีนภูมิคุ้มกันจากเห็ดรา (Fungal Immunomodulatory Protein หรือ FIP) ที่มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ สารโพลีแซ็กคาไรด์จากเห็ดเข็มทองอาจช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เพื่อปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส ดังนั้น การรับประทานเห็ดเข็มทองจึงอาจช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ต้านอาการภูมิแพ้ ต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อราได้ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเห็ดเข็มทองในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

  1. อาจชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

เห็ดเข็มทองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจมีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอก และอาจช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร 3 Biotech เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเห็ดเป็นยารักษามะเร็ง พบว่า เห็ดเข็มทองอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น โพลีแซ็กคาไรด์ อัลคาลอยด์ (Alkaloid) โทโคฟีรอล (Tocopherol) ฟีนอลิก (Phenol) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ที่ช่วยปรับปรุงภูมิคุ้มกัน อาจช่วยต้านเนื้องอกและต้านมะเร็งได้ โดยอาจทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ ยังยั้งการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่ไปเลี้ยงเซลล์ที่ผิดปกติและกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็ง การรับประทานเห็ดเข็มทองจึงอาจช่วยหยุดหรือชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเห็ดเข็มทองในการชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ข้อควรระวังในการบริโภคเห็ดเข็มทอง

ก่อนรับประทานเห็ดเข็มทองควรล้างทำความสะอาดด้วยผลิตภัณฑ์สำหรับล้างผักและล้างน้ำสะอาดทุกครั้ง เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสารปนเปื้อนอย่างเชื้อลิสทีเรีย (Listeria) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในอาหาร เช่น อาหารดิบ ผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด โดยการติดเชื้อลิสทีเรียอาจทำให้มีไข้สูง คอแข็ง หรืออาจรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือบางรายเชื้ออาจขึ้นสมองจนเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบและเสียชีวิตได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Production of GABA-Enriched Powder by a Brown Variety of Flammulina velutipes (Enokitake) and Its Antihypertensive Effects in Spontaneously Hypertensive Rats. https://www.researchgate.net/publication/269521358_Production_of_GABA-Enriched_Powder_by_a_Brown_Variety_of_Flammulina_velutipes_Enokitake_and_Its_Antihypertensive_Effects_in_Spontaneously_Hypertensive_Rats. Accessed May 10, 2022

Golden Needle Mushroom: A Culinary Medicine with Evidenced-Based Biological Activities and Health Promoting Properties. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5141589/. Accessed May 10, 2022

Recent developments in mushrooms as anti-cancer therapeutics: a review. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3339609/. Accessed May 10, 2022

Alleviation of respiratory syncytial virus replication and inflammation by fungal immunomodulatory protein FIP-fve from Flammulina velutipes. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25131377/. Accessed May 10, 2022

Polysaccharides from Flammulina velutipes improve scopolamine-induced impairment of learning and memory of rats. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1756464615003862. Accessed May 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/05/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ใบมะกรูด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ถั่งเช่า คุณค่าทางโภชนาการและข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา