backup og meta

ใบกะเพรา ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ใบกะเพรา ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ใบกะเพรา เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยา นิยมนำมาใช้เพื่อบำรุงสุขภาพและบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ มาช้านานในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งนิยมนำมาบริโภค ใช้เป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารไทย โดยเฉพาะเมนูผัด เนื่องจากมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ใบกะเพราประกอบไปด้วยสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุนานาชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ ใบกะเพรา

ใบกะเพรา ¼ ถ้วย ให้พลังงานประมาณ 1.38 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • โปรตีน 0.189 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 0.159 กรัม
  • ใยอาหาร 0.096 กรัม
  • ไขมัน 0.038 กรัม
  • น้ำตาล 0.018 กรัม

นอกจากนี้ ใบกะเพรายังมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินเค แมงกานีส แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี โพแทสเซียม

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ใบกะเพรา

ใบกะเพราอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของใบกะเพรา ดังนี้

  1. อาจช่วยป้องกันระดับไขมันในเลือดสูง

ใบกะเพราประกอบด้วยสารยูจีนอล (Eugenol) มีคุณสมบัติช่วยปรับอัตราการเผาผลาญไขมันในร่างกายซึ่งส่งผลให้ระดับไขมันในเลือดลดลง หรืออยู่ในระดับที่เหมาะสม

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติของสารสกัดใบกะเพราต่อการช่วยลดไขมันและต้านอนุมูลอิสระในหนูทดลองที่เลี้ยงด้วยอาหารคอเลสเตอรอลสูง ตีพิมพ์ในวารสาร Oxidative Medicine and Cellular Longevity ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยให้หนูทดลองบริโภคอาหารคอเลสเตอรอลสูงเป็นเวลา 7 สัปดาห์ โดยในช่วง 3 สัปดาห์สุดท้าย ให้หนูทดลองบางตัวบริโภคสารสกัดใบกะเพราทุกวัน เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับหนูทดลองตัวที่ไม่ได้บริโภคสารสกัดใบกะเพรา พบว่า หนูทดลองที่บริโภคสารสกัดใบกะเพรา มีระดับไขมันในเลือดและไขมันในตับต่ำกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้บริโภคสารสกัดใบกะเพรา

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรทำการทดลองเพิ่มเติมในมนุษย์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของใบกะเพราต่อการลดระดับไขมันในร่างกาย

  1. อาจช่วยต้านมะเร็งได้

ใบกะเพราอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งกลืนกินตัวเอง

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยประสิทธิภาพของสารสกัดใบกะเพราต่อการลดการเกิดเนื้องอกและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งตับอ่อนในหลอดทดลอง เผยแพร่ในวารสาร Cancer Lett ปี พ.ศ. 2556 นักวิจัยได้ทำการทดลองในห้องทดลองโดยฉีดสารสกัดจากใบกะเพราเข้าสู่เซลล์มะเร็งตับอ่อน พบว่า เซลล์มะเร็งที่มีแนวโน้มเติบโตกลับหยุดตอบสนองต่อการแพร่กระจายตัว จึงสรุปได้ว่า สารสกัดใบกะเพราอาจมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเพิ่มจำนวน การรุกราน และการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งตับอ่อน รวมทั้งเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งในหลอดทดลองทำลายตัวเองได้ นอกจากนี้ นักวิจัยยังเสริมว่าใบกะเพรา อาจนำมาใช้เป็นสารต้านมะเร็งในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองในสัตว์และมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันคุณสมบัติต้านมะเร็งของใบกะเพรา

  1. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ใบกะเพรามีสารยูจีนอล โพลีฟีนอล (Polyphenols) และกรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) ที่มีคุณสมบัติร่วมกันคือ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หนึ่งในสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องผลกระทบของผงกะเพราที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Plant Foods for Human Nutrition ปี พ.ศ. 2540 นักวิจัยให้หนูทดลองบริโภคอาหารเสริมซึ่งสกัดจากใบกะเพราในรูปแบบผงเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อทดสอบฤทธิ์ของกะเพราต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ผลปรากฏว่า ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดของหนูทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สารต่าง ๆ ในใบกะเพราอาจมีคุณสมบัติในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในเลือดได้จริง

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรทำการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของใบกะเพราในการลดระดับน้ำตาลในเลือดและภาวะไขมันในเลือดต่อไป

  1. อาจช่วยบรรเทาภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า

ใบกะเพรา จัดเป็นสมุนไพรกลุ่มอแดปโตเจน (Adaptogenic Herbs) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยปรับสมดุลภาวะจิตใจและอารมณ์ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงต้านอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล การบริโภคใบกะเพราจึงอาจช่วยบรรเทาอาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) โดยมีงานวิจัยสนับสนุนว่า ใบกะเพราอาจมีประสิทธิภาพคลายกังวลเทียบเท่ายานอนหลับหรือยาต้านเศร้า

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของใบกะเพราต่อโรควิตกกังวลทั่วไป เผยแพร่ในวารสาร Nepal Medical College Journal ปี พ.ศ. 2551 นักวิจัยให้อาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลจำนวน 35 ราย รับประทานแคปซูลซึ่งเป็นสารสกัดใบกะเพราปริมาณ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร เป็นเวลา 60 วัน ผลปรากฏว่า อาสาสมัครที่รับประทานสารสกัดใบกะเพราในรูปแบบแคปซูลมีอาการวิตกกังวลน้อยลง รวมถึงความเครียดและอาการซึมเศร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น อาสาสมัครยังมีความรู้สึกกระตือรือร้นที่ต้องการปรับเปลี่ยนตัวเอง และมีความสนใจในการเข้าสังคมและการอยู่ร่วมกันของเพื่อนมนุษย์เพิ่มมากขึ้นด้วย

ข้อควรระวังในการบริโภค ใบกะเพรา

การบริโภคใบกะเพรา มีข้อควรระวัง ดังต่อไปนี้

  • สารยูจีนอลในใบกะเพรา อาจเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงตับเสียหาย ดังนั้น จึงไม่ควรบริโภคใบกะเพราในปริมาณมากเกินไป
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสารสกัดจากใบกะเพรา หรืออาหารเสริมจากใบกะเพรา เพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • ผู้ชายควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสารสกัดจากใบกะเพรา หรืออาหารเสริมจากใบกะเพรา เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และทำให้เสี่ยงมีบุตรยาก
  • สารสกัดจากใบกะเพรา หรืออาหารเสริมจากใบกะเพรา อาจมีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือด จึงไม่ควรรับประทานคู่กับยาละลายลิ่มเลือด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Holy Basil Leaf Extract Decreases Tumorigenicity and Metastasis of Aggressive Human Pancreatic Cancer Cells in vitro and in vivo: Potential Role in Therapy. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3700662/. Accessed June 9, 2022

Holy Basil Tea: Are There Health Benefits?. https://www.webmd.com/diet/holy-basil-tea-health-benefits#:~:text=Holy%20basil%20is%20rich%20in,digestive%20support%20and%20brain%20function. Accessed June 9, 2022

Lipid-Lowering and Antioxidative Activities of Aqueous Extracts of Ocimum sanctum L. Leaves in Rats Fed with a High-Cholesterol Diet. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3178181/. Accessed June 9, 2022

Controlled programmed trial of Ocimum sanctum leaf on generalized anxiety disorders. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19253862/.

Effect of Tulasi (Ocimum sanctum) leaf powder supplementation on blood sugar levels, serum lipids and tissue lipids in diabetic rats. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9198110/. Accessed June 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

21/07/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กะเพรา (Holy Basil)

สูตรกะเพราหมูสับ เมนูยอดฮิตที่มาพร้อมประโยชน์สุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา