backup og meta

ใบมะกรูด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ใบมะกรูด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ใบมะกรูด เป็นสมุนไพรที่มักนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารไทยหลายชนิด เช่น ต้มยำ ปีกไก่ทอดใบมะกรูด แกงเผ็ด แกงคั่ว โดยใบมะกรูดจะให้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของใบมะกรูด

ใบมะกรูด ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 171 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

นอกจากนี้ ใบมะกรูดยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุเหล็ก

ประโยชน์ของใบมะกรูดที่มีต่อสุขภาพ

ใบมะกรูดมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของใบมะกรูดในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยต้านการอักเสบ

ใบมะกรูดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจใช้รักษาอาการอักเสบต่าง ๆ ได้ เช่น ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านมะเร็ง และอาจช่วยปกป้องสุขภาพหัวใจและตับอีกด้วย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Invention Today เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทและคุณค่าทางโภชนาการของใบมะกรูด พบว่า ใบมะกรูดอุดมไปด้วยสารประกอบหลายชนิด เช่น กลีเซอรอลไกลโคลิปิด (Glyceroglycolipids) แทนนิน (Tannin) โทโคฟีรอล (Tocopherols) ฟูราโนคูมาริน (Furanocoumarins) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) อัลคาลอยด์ (Alkaloid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยรักษาอาการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีสารต้านโคลีนเอสเตอเรส (Anticholinesterase) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยยับยั้งอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจและตับอีกด้วย

  1. อาจช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียและดีต่อสุขภาพช่องปาก

ใบมะกรูดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ซึ่งอาจช่วยป้องกันฟันผุ ลดคราบพลัค (Plaque) และลดกลิ่นปากได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดจากใบมะกรูดในการยับยั้งการสะสมของเชื้อแบคทีเรียบนฟัน พบว่า ใบมะกรูดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟีนอล (Phenol) ที่ช่วยยังยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) ที่สะสมบริเวณผิวฟัน จึงอาจช่วยป้องกันฟันผุ ลดคราบพลัคและอาจช่วยลดกลิ่นปากได้อีกด้วย

  1. อาจช่วยต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ใบมะกรูดมักใช้เป็นยารักษาพื้นบ้านที่อาจมีฤทธิ์ช่วยต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยการยับยั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติ และในอนาคตอาจพัฒนาเพื่อใช้เป็นยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบจากใบมะกรูดในการต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว พบว่า สารสกัดเอทิลอะซิเตท (Ethyl Acetate) และเฮกเซน (Hexane) ที่พบในใบมะกรูด อาจช่วยต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ ในอนาคตสารสกัดจากใบมะกรูดจึงอาจใช้เป็นยารักษาที่ช่วยหยุดหรือชะลอการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

  1. อาจช่วยรักษาระดับไขมันในเลือดและเซลล์ตับ

ใบมะกรูดเป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดไขมันในเลือด และอาจช่วยลดความรุนแรงของภาวะไขมันพอกตับที่อาจเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biomedicine & Pharmacotherapy เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดจากมะกรูด ข่า และตะไคร้ช่วยรักษาระดับไขมันในเลือด เซลล์ตับ และไมโทคอนเดรียในตับ (Mitochondrion) พบว่า ใบมะกรูดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความรุนแรงของภาวะไขมันพอกตับ ช่วยลดคอเรสเตอรอลในเลือดและปรับปรุงการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกาย นอกจากนี้ ยังปรับปรุงการทำงานของไมโทคอนเดรียในตับ ซึ่งเป็นแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์ที่ช่วยป้องกันการพัฒนาของภาวะไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease หรือ NAFLD) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบเผาผลาญในร่างกาย (Metabolic Syndrome) ที่อาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของใบมะกรูดในการช่วยรักษาระดับไขมันในเลือดและเซลล์ตับ

ข้อควรระวังในการบริโภคใบมะกรูด

แม้ใบมะกรูดจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การนำน้ำมันหอมระเหยจากใบมะกรูด ที่มีสารกลุ่มคูมาริน (Coumarin) ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พบในพืช มาทาลงบนผิวหนังในปริมาณมาก อาจทำให้ผิวหนังผลิตเม็ดสีเพิ่มขึ้นเมื่อสัมผัสกับแสงแดดและอาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น นอกจากนี้ การดื่มน้ำมะกรูดในขณะที่ท้องว่าง ยังอาจทำให้เกิดอาการเสียดท้อง แสบท้อง และปวดท้องได้ เนื่องจาก น้ำมะกรูดมีความเป็นกรดสูง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

A combination extract of kaffir lime, galangal, and lemongrass maintains blood lipid profiles, hepatocytes, and liver mitochondria in rats with nonalcoholic steatohepatitis. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0753332220300330. Accessed May 10, 2022

Antileukemic Cell Proliferation of Active Compounds from Kaffir Lime (Citrus hystrix) Leaves. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7144100/. Accessed May 10, 2022

Kaffir lime leaves extract inhibits biofilm formation by Streptococcus mutans. https://www.researchgate.net/publication/284069080_Kaffir_lime_leaves_extract_inhibits_biofilm_formation_by_Streptococcus_mutans. Accessed May 10, 2022

The medicinal and nutritional role of underutilized citrus fruit Citrus hystrix (Kaffir lime): a review. https://www.researchgate.net/publication/303227547_The_medicinal_and_nutritional_role_of_underutilized_citrus_fruit_Citrus_hystrix_Kaffir_lime_a_review. Accessed May 10, 2022

Changes in Phytochemicals and Antioxidant Properties of Kaffir Lime Leaves under Chilling Storage. https://www.researchgate.net/publication/330845256_Changes_in_Phytochemicals_and_Antioxidant_Properties_of_Kaffir_Lime_Leaves_under_Chilling_Storage. Accessed May 10, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/10/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อะโวคาโด สารอาหาร ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ใยอาหาร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา