backup og meta

ไบโอติน คืออะไร มีประโยชน์และข้อควรระวังอะไรบ้าง

ไบโอติน คืออะไร มีประโยชน์และข้อควรระวังอะไรบ้าง

ไบโอติน (Biotin) คือ วิตามินบี 7 สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ ปลา พืชตระกูลถั่ว และผักบางชนิด นอกจากนี้ ยังมีในรูปแบบอาหารเสริมแบบเม็ดหรือแคปซูลที่สะดวกต่อการรับประทาน ไบโอตินมีบทบาทสำคัญที่อาจช่วยบำรุงเส้นผมและดวงตา และอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท

[embed-health-tool-bmi]

ไบโอติน คืออะไร

ไบโอติน คือ วิตามินบี 7 มีบทบาทสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน อีกทั้งยังอาจช่วยบำรุงผิวหนัง เล็บ เส้นประสาท ทางเดินอาหาร และเซลล์เนื้อเยื่อทั่วทั้งร่างกาย ช่วยป้องกันเล็บเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ไบโอตินเป็นวิตามินที่สามารถละลายน้ำได้ ร่างกายจึงไม่สามารถกักเก็บวิตามินชนิดนี้ไว้ได้นาน ทำให้จำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่รับประทาน เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว ธัญพืช เห็ด ชีส แครอท

หากร่างกายขาดไบโอติน อาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร ผมร่วง ผื่นผิวหนัง ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ระดับคอเลสเตอรอลสูง เหนื่อยล้า และกล้ามเนื้ออ่อนแอลง ที่อาจนำไปสู่ภาวะอัมพาตครึ่งซีกได้

ประโยชน์ของการรับประทานไบโอติน

ไบโอตินมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของไบโอติน ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยบำรุงเล็บ

การรับประทานไบโอตินอาจช่วยบำรุงเล็บ และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้เล็บได้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Dermatological Treatment ปี พ.ศ.2560 โดยภาควิชาโรคผิวหนัง ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างไบโอตินกับเล็บ จากการค้นหาในฐานข้อมูลของเว็บไซต์ที่รวบรวมงานวิจัยที่ชื่อว่า PubMed พบว่า การให้ผู้ที่มีเล็บเปราะบางรับประทานอาหารเสริมไบโอติน อาจช่วยให้เล็บมีความหนาแน่นและแข็งแรงขึ้น ช่วยลดปัญหาการปรากฏเส้นนูนบนเล็บ (Trachyonychia) และอาจช่วยลดความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเล็บจากพฤติกรรมการกัดเล็บ  อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลลัพธืที่แน่ชัดและปริมาณการรับประทานไบโอตินที่เหมาะสม

  • อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้เส้นผม

ไบโอตินอาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้เส้นผม และอาจกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมได้ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Skin Appendage Disord Karger Journals ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งได้วิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของไบโอตินในการลดภาวะผมขาดร่วง โดยทบทวนการทดลอง 18 ฉบับ พบว่า การรับประทานไบโอตินอาจช่วยลดผมขาดร่วงและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีปัญหาผมขาดหลุดร่วงอย่างรุนแรงเนื่องจากพันธุกรรม เช่น โรคผมฟูหรือโรคผมยุ่งถาวร (Uncombable hair syndrome) ที่ไม่สามารถหวีจัดทรงได้ อาจจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเนื่องจากยังไม่มีหลักฐานการรับรองที่เพียงพอ

  • อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ไบโอตินเป็นวิตามินที่อาจช่วยในการเผาผลาญอาหาร คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน และเปลี่ยนให้เป็นพลังงานได้ซึ่งอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน  การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Oman Medical Journal ปี พ.ศ. 2556 ที่ได้ประเมินผลของไบโอตินต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความเข้มข้นของไขมันในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ควบคุมได้ไม่ดี ซึ่งเข้าร่วมทดสอบจำนวน 70 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับไบโอติน 40 ไมโครกรัม/วัน พร้อมกับอินซูลิน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกร่วมกับอินซูลินทุกวัน เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อครบกำหนดนักวิจัยจะทำการวัดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารและวัดระดับไขมันในเลือด พบว่า กลุ่มที่ได้รับไบโอตินมีความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลรวมลดลง ไบโอตินอาจเป็นยาเสริมที่ใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเข้มข้นไขมันในเลือดได้

  • อาจช่วยรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ไบโอตินมีบทบาทสำคัญต่อการช่วยบำรุงเส้นประสาท และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทอย่างโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ที่ทำให้เกิดความผิดปกติด้านการมองเห็นและการเคลื่อนไหว จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Multiple Sclerosis and Related Disorders ปี พ.ศ. 2558 ที่ได้ทำการศึกษาการใช้ไบโอตินปริมาณสูงในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเพื่อประเมินประสิทธิภาพในการรักษา โดยให้ผู้ป่วยจำนวน 23 รายได้รับไบโอติน 100-300 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2-36 เดือน พบว่า ผู้ป่วยมีการมองเห็นที่ดีขึ้น และการอักเสบของไขสันหลังทุเลาลง

ปริมาณการรับประทานไบโอตินต่อวัน

ปริมาณไบโอตินที่ควรได้รับในแต่ละวัน แบ่งตามช่วงอายุ ดังต่อไปนี้

  • ทารกอายุ 0-6 เดือน ควรได้รับไบโอติน 5 ไมโครกรัม/วัน
  • ทารกอายุ 7-12 เดือน ควรได้รับไบโอติน 6 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับไบโอติน 8 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับไบโอติน 12 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับไบโอติน 20 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้ที่มีกอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับไบโอติน 30 ไมโครกรัม/วัน
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรได้รับไบโอติน 30-35 ไมโครกรัม/วัน

ข้อควรระวังในการบริโภคไบโอติน

ไบโอตินอาจลดประสิทธิภาพของยาที่รับประทานเพื่อรักษาโรค หรือยาบางชนิดก็อาจลดประสิทธิภาพในการดูดซึมไบโอตินจากอาหารได้เช่นกัน นอกจากนี้ ไบโอตินอาจส่งผลต่อการตรวจเลือด ทำให้ผลลัพธ์อาจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นจึงควรหยุดรับประทานไบโอตินก่อนถึงวันตรวจเลือด และควรแจ้งให้คุณหมอทราบถึงประวัติการรับประทานอาหารเสริม วิตามิน และยาที่ใช้อยู่ปัจจุบัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Biotin. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-biotin#1. Accessed May 09, 2022 

Biotin – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-313/biotin. Accessed May 09, 2022

Biotin. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/supplement-guide-biotin. Accessed May 09, 2022 

Biotin for the treatment of nail disease: what is the evidence?.https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29057689/. Accessed May 09, 2022 

A Review of the Use of Biotin for Hair Loss. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5582478/. Accessed May 09, 2022 

Survey of the Effect of Biotin on Glycemic Control and Plasma Lipid Concentrations in Type 1 Diabetic Patients in Kermanshah in Iran (2008-2009)https://www.omjournal.org/articleDetails.aspx?coType=1&aId=378. Accessed May 09, 2022 

High doses of biotin in chronic progressive multiple sclerosis: A pilot study. https://www.msard-journal.com/article/S2211-0348(15)00006-1/fulltext. Accessed May 09, 2022 

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/05/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเสริมถังเช่า สมุนไพรเพื่อสุขภาพ หรือผู้ร้ายทำลายไต

อาหารเสริมไบโอติน ดีอย่างไร เราจำเป็นต้องกินรึเปล่า


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 09/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา