อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน หมายถึง อาหารที่เมื่อรับประทานแล้วอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้และกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายแล้วอาจทำให้เจ็บป่วยได้ ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันมักอ่อนแอลงเมื่ออายุมากขึ้น สูบบุหรี่ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องดูแลร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 7-9 ชั่วโมง
[embed-health-tool-bmi]
ภูมิคุ้มกัน คืออะไร
ภูมิคุ้มกัน หมายถึง ระบบของร่างกายในการป้องกันจุลชีพหรือเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้
ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันมักอ่อนแอลงหรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จากสาเหตุต่อไปนี้
- อายุมากขึ้น
- สูบบุหรี่ หรือได้รับมลพิษทางอากาศ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน
- ขาดสารอาหารที่ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง
- มีภาวะเครียดอย่างต่อเนื่อง
- นอนหลับหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
อาหารเสริมภูมิคุ้มกัน มีอะไรบ้าง
การรับประทานอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การจัดการความเครียด การพักผ่อนให้เพียงพอหรือนอนหลับวันละ 7-9 ชั่วโมง และการเลิกสูบบุหรี่
ทั้งนี้ อาหารเสริมภูมิคุ้มกันที่สามารถหารับประทานได้ง่าย ๆ มีดังนี้
-
ส้ม
วิตามินซีในส้มและผลไม้หลาย ๆ ชนิด มีประโยชน์ต่อการบำรุงและพัฒนาการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของระบบภูมิคุ้มกัน
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของวิตามินซีต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวกลุ่มลิมโฟไซท์ (Lymphocyte) เผยแพร่ทางวารสาร Antioxidants ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยได้ทำการวิจัยในหลอดทดลอง ถึงประโยชน์ของวิตามินซีที่จำเป็นต่อพัฒนาการของทีเซลล์ (T Cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในกลุ่มลิมโฟไซท์ โดยพบว่า วิตามินซีช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเอ็นเคเซลล์ (NK Cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวในกลุ่มลิมโฟไซต์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย ทั้งนี้ เอ็นเคเซลล์มีหน้าที่กำจัดเซลล์แปลกปลอม เซลล์เนื้อร้าย หรือเซลล์ที่ติดไวรัสหรือเซลล์มะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ควรมีการทดลองในสัตว์หรือมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงประโยชน์ของวิตามินซีต่อการช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงได้จริง
-
ขมิ้น
ขมิ้นมีสารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ดังนั้น หากรับประทานขมิ้นอาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และลดโอกาสเจ็บป่วยลงได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเคอร์คิวมิน ต่อการภูมิคุ้มกันและการอักเสบ เผยแพร่ในวารสาร Journal of Cellular Physiology ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยระบุว่า จากการผลศึกษาในมนุษย์และสัตว์หลาย ๆ ชิ้น เคอร์คิวมินสัมพันธ์กับการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน เช่น บีเซลล์ (B Lymphocyte หรือ B Cell) เซลล์เดนไดรต์ (Dendritic Cell) แมคโครฟาจ (Macrophage) และยังอาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
-
กระเทียม
กระเทียมมีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งแมคโครฟาจ ลิมโฟไซท์ เอ็นเคเซลล์ และอิโอซิโนฟิลด์ (Eosinophil) การบริโภคกระเทียมจึงอาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติของสารประกอบในกระเทียมต่อการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ เผยแพร่ในวารสาร Journal of Immunology Research ปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า กระเทียมมีฤทธิ์ปรับระดับสารไซโตไคน์ (Cytokine) ภายในร่างกาย จึงช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันได้
ทั้งนี้ ไซโตไคน์เป็นองค์ประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน มีหน้าที่ส่งสัญญาณให้เซลล์ต่าง ๆ เคลื่อนไหวเป็นปกติและทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง
-
ชาเขียว
การบริโภคชาเขียวอาจส่งผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน เพราะในชาเขียวมีสารเอพิกัลโลคาเทชิน กัลเลต (Epigallocatechin Gallate หรือ EGCG) ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบภายในร่างกาย และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเอพิกัลโลคาเทชิน กัลป์เลต ต่อภูมิคุ้มกันโดยกําเนิด ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Allergy and Clinical Immunology ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของเอพิกัลโลคาเทชิน กัลป์เลตในห้องปฏิบัติการ และพบข้อสรุปว่า เอพิกัลโลคาเทชิน กัลป์เลตมีคุณสมบัติส่งเสริมการทำงานของโปรตีนทีแอลอาร์ (Toll-like Receptor หรือ TLR) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภูมิคุ้มกันโดยกําเนิดในการตอบสนองต่อเชื้อไวรัส
นอกจากตัวอย่างข้างต้น อาหารเสริมภูมิคุ้มกันยังมีอีกหลายชนิด ดังนี้
- มะนาว
- พริกหยวก
- บร็อคโคลี่
- กระเทียม
- โยเกิร์ต
- อัลมอนด์
- เมล็ดทานตะวัน
- มะละกอ
- ไก่
- อาหารทะเล