backup og meta

อาหารโรคหัวใจ อะไรที่ควรรับประทาน และอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง

อาหารโรคหัวใจ อะไรที่ควรรับประทาน และอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง

การรับประทานอาหาร มีความสำคัญอย่างมากกับสุขภาพหัวใจ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ หรือหากเป็นโรคหัวใจอยู่ ก็อาจส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับอาหารโรคหัวใจ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารที่ควรรับประทานและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อช่วยรักษาสุขภาพหัวใจ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย

[embed-health-tool-bmr]

อาหารโรคหัวใจที่ควรรับประทาน

อาหารโรคหัวใจที่ควรรับประทาน มีดังนี้

  • ผักและผลไม้

ผักและผลไม้เป็นแหล่งรวมวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ จึงอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ จากการศึกษาในวารสาร Annals of Internal Medicine ปี พ.ศ. 2544 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของผักและผลไม้ในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยติดตามผลสุขภาพในผู้หญิง 84,251 คน อายุระหว่าง 34-59 ปี เป็นเวลา 14 ปี และผู้ชาย 42,148 คน อายุระหว่าง 40-57 ปี เป็นเวลา 8 ปี พบว่า ผู้ที่รับประทานผักและผลไม้ 1 เสิร์ฟ/วัน อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลง 4 % โดยเฉพาะการรับประทานผักใบเขียวและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง กีวี่ กะหล่ำ คะน้า

  • ธัญพืชไม่ขัดสี

ธัญพืชไม่ขัดสีเป็นแหล่งของใยอาหารและสารอาหาร ที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เช่น แมกนีเซียม (Magnesium) ไนอาซิน (Niacin) ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ ที่อาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตที่มีผลต่อสุขภาพหัวใจ โดยควรเลือกรับประทานธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น แป้งโฮลวีต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต คีนัว พาสต้าโฮลเกรน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว โดนัท ขนมเค้ก ป๊อปคอร์น

จากการศึกษาในวารสาร The BMJ ปี พ.ศ. 2559 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานธัญพืชไม่ขัดสีและความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โดยทบทวนการศึกษาจำนวน 45 ชิ้นพบว่า การรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ขนมปังโฮลวีต ซีเรียล ในปริมาณ 90 กรัม/วัน อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย

  • อาหารที่มีไขมันต่ำและมีโปรตีนสูง

การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และมีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน สัตว์ปีก ปลาแซลมอน พืชตระกูลถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ อาจช่วยลดปริมาณของไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดได้

จากการศึกษาในวารสาร Current Developments in Nutrition (CDN) ปี พ.ศ. 2563 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในสตรีที่มีภาวะสุขภาพปกติ โดยให้ลดการรับประทานไขมัน และเพิ่มการรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน โดยเฉพาะโปรตีนที่มีไขมันต่ำจากพืช พบว่า อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • ไขมันดี

การรับประทานไขมันดีหรือไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า อะโวคาโด ถั่ว อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด ที่อาจนำไปสู่อาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้

จากการทบทวนการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Atherosclerosis ปี พ.ศ. 2545 เกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวเพื่อป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Arteriosclerosis) พบว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด

อาหารโรคหัวใจที่ควรหลีกเลี่ยง

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหัวใจ คืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และโซเดียมปริมาณมาก ที่อาจเพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือดชนิดไม่ดี (LDL) และอาจเพิ่มระดับความดันโลหิต ที่ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง

ตัวอย่างอาหารเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

  • เนื้อสัตว์ที่ติดมัน
  • อาหารแปรรูป
  • อาหารทอด
  • คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว แป้ง
  • ขนมหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ลูกอม ขนมขบเคี้ยว
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ มีดังต่อไปนี้

  • สังเกตอาการผิดปกติ เช่น แขนขาบวม เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก หายใจถี่ อาหารไม่ย่อย อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ และควรเข้าพบคุณหมอทันทีที่มีอาการ
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามที่คุณหมอแนะนำ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผัก และผลไม้ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป ของทอด รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ ไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์สูง
  • ออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่ง อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรืออาจมีการเคลื่อนไหวร่างกายเล็กน้อยในระหว่างวัน เช่น การทำความสะอาดบ้าน ขึ้นลงบันได พาสุนัขเดินเล่น ก็ถือเป็นการออกกำลังกายอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ประโยชน์โดยไม่จำเป็นต้องฝืนออกกำลังกายอย่างหนัก
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ โดยอาจวัดจากดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ควรเกิน 25 หรืออาจวัดจากรอบเอว สำหรับผู้ชายไม่ควรเกิน 40 นิ้ว และผู้หญิงไม่ควรเกิน 35 นิ้ว
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการนอนพักผ่อน ออกกำลงกาย หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ที่ชอบทำ ยกเว้นการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารปริมาณมาก เพราะอาจเพิ่มคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต ที่อาจทำลายหลอดเลือดหัวใจ
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคหัวใจ โดยคุณหมออาจตรวจระดับความดันโลหิต ระดับคอเลสเตอรอล และตรวจหาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพื่อดูความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

About Heart Disease. https://www.cdc.gov/heartdisease/about.htm. Accessed May 19, 2022  

Heart-healthy diet: 8 steps to prevent heart disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/in-depth/heart-healthy-diet/art-20047702. Accessed May 19, 2022  

Foods That Are Bad for Your Heart. https://www.webmd.com/heart-disease/ss/slideshow-foods-bad-heart. Accessed May 19, 2022  

Strategies to prevent heart disease. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/in-depth/heart-disease-prevention/art-20046502. Accessed May 19, 2022  

How to Prevent Heart Disease. https://medlineplus.gov/howtopreventheartdisease.html. Accessed May 19, 2022 

Preventing Heart Disease. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/disease-prevention/cardiovascular-disease/preventing-cvd/. Accessed May 19, 2022 

The effect of fruit and vegetable intake on risk for coronary heart disease. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11412050/. Accessed May 19, 2022  

Whole grain consumption and risk of cardiovascular disease, cancer, and all cause and cause specific mortality: systematic review and dose-response meta-analysis of prospective studies. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4908315/. Accessed May 19, 2022  

Eating Pattern Response to a Low-Fat Diet Intervention and Cardiovascular Outcomes in Normotensive Women: The Women’s Health Initiative. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7056819/. Accessed May 19, 2022  

Protective effect of dietary monounsaturated fat on arteriosclerosis: beyond cholesterol. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12052487/. Accessed May 19, 2022  

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/09/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงคนท้องอ่อนๆ ที่ดีต่อสุขภาพแม่และลูกน้อย

อาหารประเภทแป้ง ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา