หน้าอ้วน มีไขมันสะสมรอบกรอบหน้าหรือที่เรียกว่าเหนียง อาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย หรือพันธุกรรมของคนในครอบครัว ซึ่งอาจทำให้บางคนขาดความมั่นใจ เพื่อช่วยลดไขมันบนใบหน้าที่ทำให้ใบหน้ากระชับและวีเชฟขึ้น ควรศึกษาวิธีลดไขมันบนใบหน้าหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอโดยตรง
[embed-health-tool-bmi]
หน้าอ้วน เกิดจากอะไร
หน้าอ้วน เกิดจากการสะสมของไขมันทั่วใบหน้าหรืออาจส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น คาง แก้ม ที่ทำให้ใบหน้าดูกลม มีเหนียง โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
- พันธุกรรมของครอบครัว หากคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วนหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเผาผลาญที่ส่งผลให้ใบหน้าอ้วน ก็อาจส่งผลให้บุตรหลานมีความเสี่ยงที่จะเป็นได้ด้วยเช่นกัน
- อาหาร การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่และไขมันสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน อาหารแปรรูป น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ ก็อาจส่งผลให้เกิดการสะสมไขมันได้ทั้งบริเวณใบหน้ารวมถึงลำตัว ที่เสี่ยงให้ใบหน้าอ้วนกลม มีเหนียง หรือเป็นโรคอ้วน
- ขาดการออกกำลังกาย อาจทำให้ร่างกายไม่ได้เผาผลาญไขมันส่วนเกิน ทำให้ไขมันสะสมอยู่บนใบหน้าและร่างกายในร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพมาก
- การนอนหลับไม่เพียงพอ อาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติและกระตุ้นความอยากอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง ซึ่งอาจทำให้รับประทานอาหารมากเกินไปนำไปสู่ไขมันสะสมบนใบหน้าทำให้หน้าอ้วน
- ความเครียด อาจกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ส่งผลให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น จึงทำให้รับประทานอาหารในปริมาณมากจนมีการสะสมของไขมันบนใบหน้าและทำให้หน้าอ้วน
- ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษาเบาหวาน ยากล่อมประสาท ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เพราะอาจส่งผลต่อระบบเผาผลาญไขมันและไขมันกระจายไปสะสมทั่วทั้งร่างกายโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า
วิธีป้องกันหน้าอ้วน
วิธีป้องกันหน้าอ้วน อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเลือกอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ ที่อาจทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ลดการรับประทานอาหารว่างระหว่างวัน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ คาร์โบไฮเดรต ไขมันไม่ดีสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว ของทอด ขนมหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำผลไม้ที่เพิ่มความหวานจากน้ำตาล เพราะอาจทำให้ไขมันสะสมบนบริเวณใบหน้ารวมถึงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น รอบเอว หน้าท้อง แขน ขา และอาจเสี่ยงเป็นโรคอ้วน
- อ่านข้อมูลโภชนาการ ก่อนเลือกซื้ออาหาร เครื่องปรุง ขนม และเครื่องดื่มมารับประทาน ควรอ่านข้อมูลโภชนาการข้างฉลากผลิตภัณฑ์ว่ามีคาร์โบไฮเดรต แคลอรี่ ไขมัน และน้ำตาลสูงหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับอาหารเหล่านั้น เพราะอาจส่งผลให้ไขมันสะสมบนใบหน้าที่ทำให้หน้าอ้วนรวม และอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรควบคุมน้ำหนักและลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปันจักรยาน เพราะอาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันและน้ำตาลจากอาหาร และควรออกกำลังกายที่ช่วยลดไขมันบนใบหน้าโดยเฉพาะด้วยการทำปากจู๋ที่ดูดแก้มทั้ง 2 ข้างเข้าด้านในและเงยศีรษะขึ้นค้างไว้ 5 วินาที ทำทั้งหมด 10-15 ครั้ง
- ไม่ควรอดอาหาร เพราะการอดอาหารอาจกระตุ้นให้ความหิว ที่ทำให้รับประทานอาหารในมื้ออื่น ๆ มากขึ้น เสี่ยงน้ำหนักเพิ่มและไขมันสะสมบนใบหน้า
- ลดความเครียด ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น เล่นเกม วาดรูป ฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย เพราะความเครียดอาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความเครียดที่กระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดไขมันบนใบหน้าได้ ควรเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอ โดยคุณหมออาจแนะนำให้ใช้วิธีการรักษาทางการแพทย์ เช่น การดูดไขมัน การฉีดเมโสแฟตลดไขมันบนใบหน้า การทำไฮฟู่ช่วยกระชับใบหน้าและลดเหนียง
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ควรระวัง
ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวังเนื่องจากปล่อยให้ใบหน้าและร่างกายมีการสะสมของไขมันมากเกินไป อาจมีดังต่อไปนี้
- โรคอ้วน ที่อาจสังเกตได้จากรูปร่างเปลี่ยนไป มีใบหน้าอ้วนกลม พุงป่อง รอบเอวและน้ำหนักเกินเกณฑ์
- ตาพร่ามัว ที่อาจเกิดจากไขมันสะสมในหลอดเลือดที่อาจขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังจอประสาทตา จึงอาจส่งผลให้ตาพร่ามัว มองเห็นเป็นภาพซ้อน
- ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากอาจทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเองเมื่อพบปะผู้คน และวิตกกังวลมากเกินไปที่อาจเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้า
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากไขมันสะสมในหลอดเลือดมากเกินไป จนอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้อย่างเต็มที่ จึงนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้
- โรคข้อเข่าเสื่อม หากไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป โดยเฉพาะบริเวณลำตัวอาจเสี่ยงให้ข้อต่อบริเวณเข่าต้องรองรับน้ำหนักตัวเกิดการอักเสบ มีอาการปวดและบวมแดงนำไปสู่โรคข้อเข่าเสื่อม
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เพราะน้ำหนักที่เพิ่มมากเกินไปอาจทำให้ผนังทรวงอกบีบอัดบริเวณปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับโยไม่รู้ตัวที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต