backup og meta

น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด ทำอย่างไรจึงจะหาย

น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด ทำอย่างไรจึงจะหาย

น้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด เป็นอาการที่ร่างกายมีของเหลวเป็นน้ำใส ๆ ไหลออกมาทางจมูกตลอดเวลา เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคภูมิแพ้อากาศ ไข้หวัด รักษาให้หายได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือบางรายอาจต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการ หาก น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด เป็นระยะเวลานาน อาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะสุขภาพที่ต้องระวัง เช่น โรคริดสีดวงจมูก โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษา

[embed-health-tool-bmi]

น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด เกิดจากอะไร

อาการน้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

สาเหตุจากโรคภูมิแพ้ (Allergy)

เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดอาการร่วมอื่น ๆ เช่น จาม ไอเรื้อรัง คันและระคายเคืองบริเวณตาหรือคอ

สาเหตุจากโรคอื่น ๆ ยกตัวอย่าง เช่น

  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือมีอาการแพ้อย่างรุนแรง จนทำให้มีอาการปวด คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจติดขัด มีเสมหะข้นเหนียว ปวดใบหน้าบริเวณหน้าผาก หัวตา หู แก้ม กราม ฟัน เป็นต้น ติดต่อกันนานกว่า 12 สัปดาห์
  • โรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เกิดจากเยื่อบุจมูกอักเสบหรือระคายเคือง ซึ่งไม่ได้เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ แต่อาจเกิดจากปัจจัยอื่นอย่างการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การใช้ยาบางชนิด การสูดดมกลิ่น มลพิษ ควันที่ทำให้ระคายเคือง การรับประทานอาหารเผ็ด การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความเครียด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น จาม คัดจมูก คันจมูก ประสาทรับกลิ่นลดลง
  • โรคริดสีดวงจมูก เป็นโรคที่เยื่อบุจมูกอักเสบและบวมจนขยายตัวเป็นก้อนภายในโพรงจมูกและไซนัส ซึ่งอาจทำให้มีการผลิตน้ำมูกมากขึ้น ส่งผลให้น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด คัดจมูก ไม่ได้กลิ่น และหากมีไซนัสอักเสบร่วมด้วย อาจทำให้เจ็บคอเรื้อรัง ปวดศีรษะ ปวดใบหน้า เป็นต้น
  • ภาวะต่อมอะดีนอยด์โต (Enlarged Adenoids) ต่อมอะดีนอยด์เป็นต่อมขนาดเล็กในลำคอบริเวณด้านหลังจมูก ภาวะต่อมอะดีนอยด์โตมักเกิดในเด็กเล็กเพราะต่อมจะหดตัวลงหลังจากอายุ 5 ปีขึ้นไป และทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหลหรือคัดจมูกเรื้อรัง หูอื้อ เจ็บคอ นอนกรนหรือมีปัญหาในการนอนหลับ
  • วัตถุแปลกปลอมในจมูก เด็กเล็กอาจนำสิ่งของนำปากหรือจมูกตัวเองในช่วงที่ผู้ปกครองไม่ทันระวังและส่งผลให้มีอาการน้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุดได้ มักไหลออกจากจมูกเพียงข้างเดียว หากสังเกตเห็นว่าเด็กมีน้ำมูกไหลในลักษณะดังกล่า ควรพาไปพบคุณหมอ
  • การรั่วซึมของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือการผ่าตัดไซนัสอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวเสียหายจนส่งผลให้ของเหลวที่หล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วซึม ทำให้น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุดจากจมูกข้างเดียวได้ หากพบว่ามีอาการดังกล่าวหลังการบาดเจ็บหรือหลังการผ่าตัด ควรไปพบคุณหมอเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อที่สมองและไขสันหลัง
  • โรคมะเร็งบริเวณโพรงจมูกและไซนัส เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนักของอาการน้ำมูกไหลเรื้อรังจากจมูกเพียงข้างเดียว ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดบริเวณจมูก ปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหลจากจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมน้ำเหลือที่คอโต พบก้อนเนื้อในโพรงจมูกหรือไซนัส

วิธีรักษา น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด

การรักษาน้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด อาจทำได้ดังนี้

  • ใช้สเปรย์น้ำเกลือหรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ วิธีนี้จะช่วยทำความสะอาดและชำระล้างเชื้อโรคหรือสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองภายในโพรงจมูกหรือไซนัส
  • ใช้ยาพ่นจมูก เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหล แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 3-5 วัน หรือตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์
  • ใช้ยาลดน้ำมูกและยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหลและอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ไอ จาม คัน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ควันบุหรี่ น้ำหอม ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น ควัน มลพิษรวมไปถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้อาการแย่ลง เช่น เครียดจัด วิตกกังวล
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ บางรายอาจแพ้ยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ซึ่งทำให้มีน้ำมูกไหลไม่หยุด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แอสไพริน (Aspirin) ยาคุมกำเนิด ยาปิดกั้นเบต้า (Beta-blocker) ที่ใช้ลดความดันโลหิต ยาพ่นจมูกเมื่อใช้เกินขนาด
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิดที่ทำให้มีอาการน้ำมูกไหล เช่น อาหารเผ็ดจัด อาหารร้อน แอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายมีความชุ่มชื้น ช่วยให้เยื่อบุที่โพรงจมูกทำงานได้ดีขึ้น ลดการเกิดน้ำมูกเหลวและช่วยให้น้ำมูกที่สะสมอยู่ในโพรงจมูกลดลง
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน
  • ใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศในพื้นที่ที่อยู่อาศัยเป็นประจำ เช่น โต๊ะทำงาน ห้องนอน อาจช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหลที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ได้

วิธีป้องกัน น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด

การดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อป้องกัน น้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด อาจทำได้ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนกินอาหาร เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
  • กำจัดกระดาษทิชชู่ที่ใช้ซับน้ำมูกหรือน้ำลายลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยหรือมีอาการน้ำมูกไหล
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและออกกำลังกายอยู่เสมอเพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
  • หากไม่มีกระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้า ควรไอหรือจามใส่ด้านในศอก แทนการไอหรือจามใส่มือ
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวของพื้นที่อยู่อาศัยเป็นประจำเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

  • มีอาการน้ำมูกไหลเป็นน้ำใสๆ ไม่หยุด นานกว่า 10 วัน
  • มีไข้สูงร่วมด้วย
  • น้ำมูกไหลออกมาเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ร่วมกับปวดบริเวณใบหน้า มีไข้ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • น้ำมูกไหลและมีเลือดปน เลือดกำเดาไหล
  • น้ำมูกไหลไม่หยุดหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • ในเด็กเล็กกว่า 2 เดือน มีไข้และน้ำมูกไหล
  • เด็กมีอาการน้ำมูกไหลหรือคัดจมูกจนไม่ยอมรับประทานนมหรือหายใจลำบาก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Runny Nose. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/17660-runny-nose. Accessed May 22, 2023

Chronic Rhinorrhea: 7 Surprising Causes of Constant Runny Nose. https://health.clevelandclinic.org/chronic-rhinorrhea-surprising-causes-constant-runny-nose/. Accessed May 22, 2023

Runny nose. https://www.mayoclinic.org/symptoms/runny-nose/basics/when-to-see-doctor/sym-20050640. Accessed May 22, 2023

Nonallergic Rhinitis. https://www.webmd.com/allergies/nonallergic-rhinitis. Accessed May 22, 2023

Runny Nose. https://my.clevelandclinic.org/health/symptoms/17660-runny-nose. Accessed May 22, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ช่วยอะไร และเหมาะสำหรับใครบ้าง

เสมหะมีเลือดปน เกิดจากอะไร อันตรายไหม


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา